fbpx

มาทำบัญชีธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์ ตอนที่ 8 : หน้าที่ธุรกิจ (3)


ห่างหายจากการเขียนบทความชุด “มาทำบัญชีธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์” ไปได้ประมาณสองอาทิตย์ กลับมาอีกทีเล่นเอา “มึน” จนจำไม่ได้ว่าเขียนถึงไหนแล้ว ในที่สุดผมเลยแอบย่องไปอ่านบทความย้อนหลังในตอน “หน้าที่ธุรกิจ (1)” และ “หน้าที่ธุรกิจ (2)” สักรอบก่อนถึงจะกลับมาเขียนได้ แหะๆๆๆ (คนเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนก็แบบนี้แหละฮะ หลงๆลืมๆ – -“)

สำหรับคนที่ได้อ่านตอนนี้เป็นตอนแรก ผมขออนุญาตสรุปให้ฟังสั้นๆ อีกทีละกันครับ …
เมื่อเรามีธุรกิจในรูปแบบของ “นิติบุคคล” เมื่อไรแล้วล่ะก็ เราจะต้องมี “หน้าที่” บางอย่างเพิ่มขึ้นโดยผลของกฎหมาย ซึ่งหน้าที่นั้น ก็จะมีในเรื่องของ “บัญชี” และ “ภาษี” นั่นเองครับ เหมือนที่ใครบางคน เคยพูดไว้ว่า…

หน้าที่ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่มันถูกเรียกอีกชื่อว่า “ความรับผิดชอบ”

ดังนั้น เมื่อเราตัดสินใจที่จะทำธุรกิจหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องคิดไว้ก่อนเลย ก็คือ “ธุรกิจ” ของเราต้องมี “ความรับผิดชอบ” ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อ ลูกค้า, เจ้าหนี้, พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึง “ความรับผิดชอบ” ที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตาม “กฎหมาย” ด้วยครับ

แหะๆ ก่อนที่จะออกทะเลไปไกลกว่านี้ เรามาเข้าเรื่องในตอนสุดท้ายของ “หน้าที่ธุรกิจ” กันต่อดีกว่าครับ โดยตอนนี้ผมจะแนะนำให้รู้จักกับแบบแสดงรายการที่เกี่ยวข้องกับ “การดำเนินงานของธุรกิจ” ว่าคืออะไร? และมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง

เอาล่ะ…ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยครับ ^^

– ภาษีกับการดำเนินงาน –

จริงๆแล้ว สิ่งแรกที่ผมอยากให้เจ้าของธุรกิจทุกคนนึกถึง ก่อนที่จะดำเนินรายการใดๆก็ตามของธุรกิจก็คือ

รายการนี้ …. ต้องเสียภาษีหรือเปล่า
รายการนี้ …. มีภาษีอะไรเกี่ยวข้องบ้างไหม
รายการนี้ …. สรรพากรจะรู้หรือเปล่าแว้… (เฮ้ยยยยย ไม่ใช่แล้วว – -‘)

ถ้าเจ้าของธุรกิจตอบคำถามพวกนี้ได้ ผมรับรองได้เลยครับว่า ธุรกิจของคุณจะไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะว่าการดำเนินงานของธุรกิจ ส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ทีนี้ถ้าหากเจ้าของธุรกิจไม่คิดถึงภาษีที่จะมากระทบ ดังนั้น ผลที่จะตามมาก็คือ นอกจากจะต้องเสียภาษีแล้ว ยังต้องเสียทั้ง “เบี้ยปรับ” และ “เงินเพิ่ม” อีกหลายต่อ เล่นเอาหมดตัวกันไปเลยทีเดียว

 – เบี้ยปรับ และ เงินเพิ่ม คืออะไร –

“เบี้ยปรับ” คือ บทลงโทษที่บังคับใช้กับผู้เสียภาษี เนื่องจากทำให้รัฐเสียประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งอัตรามากหรือนัอยของเบี้ยปรับนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดที่เกิดขึ้นครับ

ส่วน “เงินเพิ่ม” ก็คือ บทลงโทษที่ใช้เร่งรัดให้ผู้ที่กระทำความผิด ให้ชำระภาษีรวดเร็วขึ้นโดยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนเวลา (ลักษณะคล้ายๆกับดอกเบี้ย) โดยปกติแล้ว เงินเพิ่มจะคิดอยู่ที่อัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ยังไงก็ตาม “เงินเพิ่ม” จะมีจำนวนไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระครับ

– ภาษีที่เกี่ยวข้องกับ “การตำเนินงาน” ของธุรกิจ –

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจนั้น จะมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งภาษีทั้ง 3 ตัวนี้นั้น เป็นภาษีปกติที่ธุรกิจทุกๆธุรกิจจะต้องนำส่งเป็นประจำ (ห้ามขาด ห้ามสาย ไม่งั้นโดนปรับ)

โดยปกติแล้ว กิจการทั่วๆไป จะนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรสแห่งประมวลรัษฎากร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจจะมีหน้าที่นำส่งเมื่อจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม และท้ายที่สุด คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ต้องนำส่งเมื่อมีรายการเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น

1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย คือ วิธีการจัดเก็บภาษีของรัฐวิธีหนึ่งที่กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จะต้องเสียภาษี ก่อนที่จะถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้เมื่อมีการจ่าย ตามประเภทของเงินได้และอัตราภาษีที่กำหนด

สำหรับการหักภาษี ณ ทีจ่ายนั้น มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ข้อ ดังนี้

1. บรรเทาภาระภาษี
2. ให้รัฐมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ
3. สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้
4. ป้องกัน ปราบปราม การหลบเลี่ยงภาษี

ถ้าหากเพื่อนๆคนไหนสนใจอ่านเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายพร้อมกับตัวอย่างประกอบเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความเก่าๆในบล็อก เรื่อง ดาราไทยกับการเสียภาษี”  (คลิกที่ลิงค์ได้เลยครับ)

สำหรับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละกรณี จะใช้แบบแสดงรายการที่แตกต่างกันไปครับ เช่น กรณีที่จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน จะใช้แบบแสดงรายการที่เรียกว่า “ภ.ง.ด.1” แต่ถ้าหากเป็นกรณีจ่ายค่าจ้างหรือเงินได้ให้กับบุคคลธรรมดา จะใช้แบบแสดงรายการที่เรียกว่า “ภ.ง.ด. 3” และในกรณีที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของนิติบุคคล เราก็จะใช้แบบแสดงรายการที่เรียกว่า “ภ.ง.ด. 53” และทุกแบบแสดงรายการที่ว่ามานี้ ธุรกิจของเรามีหน้าต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปครับ

จริงๆแล้ว ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายครับ เพราะการจ่ายเงินในแต่ละประเภทนั้น มีทั้งรายการที่ต้องหักและไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงอัตราภาษีที่ต้องหักที่มีความแตกต่างกัน โดยผมจะนำมาเล่าเพิ่มเติมให้ฟังในโอกาสต่อๆไปครับ

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน โดยจัดเก็บเฉพาะจาก “มูลค่า” ส่วนที่ “เพิ่ม” ขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต ดังนั้นภาระภาษีนั้นจะตกไปยังผู้บริโภคซึ่งเป็นหน่วยสุดท้ายของวงจรนั่นเอง

สำหรับเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่มีรายได้ต่อปีในกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่า 1.8 ล้านบาท นั้น รู้ตัวไว้เลยนะครับ ว่าคุณมีหน้าที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ที่จะต้องนำส่งแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ในทุกๆวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ภ.พ.30(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง ซึ่งได้แก่กิจการดังต่อไปนี้ครับ ซึ่งมีอัตราการเสียภาษีที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทครับ เช่น การธนาคาร การขายอสังหาริมทรัพย์ โรงรับจำนำ เป็นต้น

แต่สำหรับธุรกิจส่วนตัวนั้น โดยทั่วไปแล้วจะต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อมีรายได้ “ดอกเบี้ย” ที่ได้รับจริงในระหว่างเดือน โดยจะต้องเสียในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งนำส่งแบบแสดงรายการ (ภ.ธ.40) และชำระภาษีด้วยครับ แต่เจ้าภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เราไม่จำเป็นต้องชำระทุกเดือนนะครับ แต่จะชำระเมื่อมีรายการที่เกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจเฉพาะเกิดขึ้นก็พอคร้าบบ

(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

และถ้าหากเพื่อนๆยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่ ผมแนะนำให้อ่านบทความเก่า เรื่อง “มาวางแผนธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์ ตอนที่ 8” เพิ่มเติมอีกสักนิดนึงครับ อาจจะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น แต่ถ้าหากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่อีกล่ะก็ แนะนำให้สอบถามหรือพูดคุยกันที่หน้าเพจ “บล็อกภาษีข้างถนน”  ได้เลยคร้าบบ

– ยื่นแบบแสดงรายการพวกนี้ เมื่อไร อย่างไร –

หลายๆคนคงจะแอบบ่นในใจว่า ทำไมภาษีและแบบแสดงรายการมันเยอะแบบนี้ แล้วจะให้ไปยื่นตอนไหนถึงจะเรียบร้อยล่ะ อันนี้ผมก็มีเคล็ดลับมาฝากครับ (แอบขโมยมาจากทางเว็บไซด์ของกรมสรรพากรเลยทีเดียว) โดยเคล็ดลับนี้มีชื่อเรียกว่า “ปฎิทินภาษี“ๆๆๆๆๆๆ…..  (โปรดทำเสียงโดราเอมอนประกอบจะได้อารมณ์มากๆ)

(คลิกที่ภาพเพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซด์กรมสรรพากร)

เจ้า “ปฎิทินภาษี” ที่ว่านี้ มีประโยชน์ในแง่ของการตรวจสอบว่า ในแต่ละเดือนธุรกิจของเรามีกำหนดยื่นแบบแสดงรายการอะไรบ้างที่ต้องนำส่ง และสามารถนำส่งได้วันสุดท้ายคือวันไหน  อย่างเช่นเดือนธันวาคม 2555 เราจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายในวันที่ 7 ธันวาคม (ไม่งั้นจะโดนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนะเธอว์) และภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะก็ต้องยื่นภายในวันที่ 17 ธันวาคม แทนวันที่ 15 ธันวาคม (เนื่องจากเป็นวันหยุด)

ท้ายที่สุดแล้วเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจก็คงจะต้องจบลงในตอนนี้ เช่นเดียวกับคำว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา” ดังนั้นก็ไม่มีบทความไหนที่ไม่มีวันที่จะเขียนไม่จบ เช่นเดียวกัน (นอกจากคนเขียนอู้งาน แหะๆๆ) บทความตอนนี้เราก็ได้รู้จักกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการไปแล้ว รวมถึงเรื่องราวของบัญชีและภาษีที่เกี่ยวข้องกับคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจ และผมก็หวังเล็กๆว่าบทความที่ผ่านมานี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่จะจบบทความชุด “มาทำบัญชีธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์” ได้สักที  (เขียนไป บ่นไป อู้ไป – -“) และในบทความต่อๆไปจะเป็นบทความที่ลงลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีแต่ละประเภท เพื่อให้เพื่อนๆหลายคนที่เข้าใจหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีและบัญชีไปบ้างแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงกันต่อไปครับ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างร่างเนื้อหาคร่าวๆอยู่ครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากให้เพื่อนๆทุกคนช่วย Like & Share บทความนี้ ถ้าหากเห็นว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่นๆบ้าง และก็ฝากให้ช่วยๆกันคอยติดตามบทความใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่าเพิ่งทิ้งกันไปไหนนะคร้าบบบบบบบ

:D

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy