fbpx

[บทความวารสาร] เจาะลึกเคล็ดลับ : จัดการรายจ่ายต้องห้าม [2]

โพสต์เมื่อ: 06 ส.ค. 2014

ป้ายกำกับ: , ,


ตีพิมพ์ครั้งแรก : วารสาร CPD Account : March : Vol.11 No.122
สำนักพิมพ์ : ธรรมนิติ

ขอกล่าวสวัสดีสมาชิกวารสาร CPD & Account ในเดือนมีนาคมกันอีกครั้งนะครับ ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 ของปี 2557 กันแล้วช่วงนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่ 3 เดือนอันตราย ที่หลายๆคนบ่นในใจว่ากำลังจะตายเพราะต้องปิดบัญชีให้เรียบร้อย (ฮา) อย่างไรก็ตามเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ สมาชิกทุกท่าน อย่ามัวแต่คร่ำเคร่งแต่เรื่องของการงาน จนลืมแบ่งเวลาให้กับตัวเองด้วยนะครับ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราก็คือ “สุขภาพร่างกาย” อย่างที่เค้าว่ากันว่า ถ้าหากกายพร้อม ใจก็พร้อม (ที่จะลุยยยยส์ เพื่อทำมาหากินกันต่อไป เอ้า ฮึบ!!!)

สำหรับเดือนนี้บทความของ @TAXBugnoms ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม นั่นคือเรื่องของการจัดการรายจ่ายต้องห้าม เมื่อตอนที่แล้ว เราได้พูดคุยกันแล้วว่า รายจ่ายต้องห้าม คือ รายการที่ทางประมวลรัษฏากร ไม่ยอมให้รับรู้เป็นรายจ่าย ถึงแม้ว่าทางบัญชีจะถือว่าเป็นรายจ่ายก็ตามที!!! พร้อมกับยกตัวอย่างรายจ่ายต้องห้ามที่มีปัญหาในทางปฎิบัติ เช่น รายจ่ายส่วนตัว รายจ่ายที่ไม่ได้จ่ายจริง และรายจ่ายค่ารับรอง

แต่ทว่า.. รายจ่ายต้องห้ามในทางปฎิบัติที่มีปัญหานั้น ยังไม่หมดแค่เพียง 3 ตัวที่ว่ากันไปในตอนที่แล้ว จึงเป็นที่มาของตอนต่อไป เอ้ย ตอนต่อมา เอ้ย ตอนนี้แหละ!! เรามาคุยกันต่อเลยดีกว่าว่า มีรายจ่ายต้องห้ามอะไรอีกบ้างที่นักบัญชีและผู้สอบบัญชีควรจะระมัดระวังก่อนที่จะนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล มิฉะนั้นอาจจะเจอกับพี่สรร (พากร) มาตรวจสอบถึงถิ่น แล้วจะหาว่านาย @TAXBugnoms  ไม่เตือน ไม่ได้นะเออออ!!

1. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน (มาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร)

สำหรับกรณีของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนี้ ต้องพิจารณาตามหลักกรรมสิทธิ์หรือหลักผลประโยชน์ของรายจ่ายเป็นหลัก ดังเช่นคำที่กฎหมายว่า “รายจ่ายในการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม” ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับหลักการบัญชีคือ ทำให้ได้ซึ่งกรรมสิทธิ์หรือใช้ประโยชน์นานเกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี

โดยรายจ่ายส่วนนี้จะถือเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนเพื่อไปคำนวณค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรเรื่องการหักค่าสีกหรอและค่าเสื่อมราคาอีกทอดหนึ่ง หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆก็คือ รายจ่ายดังกล่าวจะสามารถถือเป็นรายจ่ายได้เพียงกรณีเดียว นั่นคือ การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมเท่านั้น!!

ดังนั้นสิ่งที่นักบัญชีและผู้สอบบัญชีทั้งหลายควรระวังคือ หากกิจการมีการซ่อมแซมทรัพย์สินใดๆก็ตาม ต้องพิจารณาก่อนทันทีว่า “ค่าซ่อมแซม” นั้นเป็นการทำให้ทรัพย์สิน “ดีขึ้น” และมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นหรือไม่ (มากกว่า 1 ปี) ซึ่งถ้าหากเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งแล้ว รายการดังกล่าวนั้นจะกลายเป็น “การลงทุน” ไม่ใช่ “การซ่อมแซม” แล้วนะคร้าบ

2. เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 65 ตรี(6) และ (6) ทวิ แห่งประมวลรัษฏากร)

สำหรับรายจ่ายที่เป็น “เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับอาญา” ในที่นี้หมายความเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลรัษฏากรเท่านั้น โดยภาษีที่นอกเหนือจากประมวลรัษฎากรนั้น กิจการยังสามารถถือเป็นรายจ่ายได้ เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

ในบางครั้งอาจมีคนสงสัยว่า เอ้า!!แล้ว “ภาษีออกแทนบุคคลอื่น” สามารถลงเป็นรายจ่ายของกิจการได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” ครับแต่ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างผู้จ่ายและผู้รับ นั่นคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งลงเป็นรายจ่ายอีกฝ่ายต้องลงเป็นรายได้ เช่น รายจ่ายค่าภาษีที่บริษัทออกให้บุคคลธรรมดา ทางบุคคลธรรมดาต้องลงเป็นรายได้ของตัวเองด้วย แบบนี้ถึงจะถูกต้องครับ

นอกจากนั้นในส่วนของ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระ, ภาษีซื้อที่มีสิทธิขอคืน, ภาษีซื้อต้องห้าม ทั้งหมดนี้ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทั้งจำนวน (แหม่… ทางกฎหมายเค้าถือว่าเป็นการลงโทษ ครั้นจะเอามาลงเป็นรายจ่ายเพื่อทำให้ภาษีลดลง มันก็คงดูกระไรอยู่ จริงไหมล่ะครับ อิอิ)

ยกเว้น ภาษีซื้อค่ารับรองและภาษีซื้อตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 243 กำหนดให้ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำภาษีซื้อตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ” (รายละเอียดในส่วนนี้ ขอแนะนำให้ดูประกาศภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 42 ประกอบเพิ่มเติมด้วยนะครับ)

3. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ หรือผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนๆ เว้นแต่ ผลขาดทุนสุทธิ ยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน (มาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฏากร)

สำหรับหลักการเรื่องผลเสียหายที่อาจได้รับกลับคืนจากการประกันภัยหรือสัญญาคุ้มภัยใดๆ นั้น เรามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 58/2538 เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ดังนี้ครับ

ข้อ 1 กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น ก็มีสิทธิ์ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่ขายทรัพย์สินนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

ข้อ 2 กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประสงค์จะตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นเป็นรายจ่ายทั้งจำนวน ได้ดังนี้

(ก) กรณีทรัพย์สินที่สูญหายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย แต่ได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อน เช่นนี้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าความเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

(ข) กรณีทรัพย์สินที่สูญหายนั้น ไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ มูลค่าของต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสิทธิ์ตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง

จากข้อกฎหมายข้างต้น ทำให้วิเคราะห์ข้อกฎหมายออกมาเป็น 3 ประเด็นได้ดังนี้ครับ

1. กรณีที่ ผลเสียหาย “มากกว่า” ค่าชดใช้ ผลต่างส่วนเกินนั้นสามารถถือเป็นผลเสียหายและมีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้
2. แต่ถ้าหาก ผลเสียหาย “น้อยกว่า” ค่าชดใช้ ผลต่างส่วนขาดนั้นต้องถือเป็นรายได้ และนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยเช่นเดียวกัน
3. กรณีไม่มีประกันภัย สามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน แต่ต้องมี “หลักฐาน” ที่พิสูจน์ได้ว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริง

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ลองมาดูตัวอย่างกันสักเล็กน้อยนะครับ…

บริษัทแห่งหนึ่งโดนน้ำท่วมเสียหายมูลค่า 10 ล้านบาท แต่บริษัทได้ทำประกันไว้และได้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 12 ล้านบาท โดยส่วนที่เกินจากทุนที่เอาประกันจะต้องเสียภาษีจำนวน 2 ล้านถือเป็นรายได้ของบริษัท แต่ถ้าหากผลเสียหายมูลค่า 10 ล้าน โดยได้สินไหมทดแทน 8 ล้านบาท ส่วนที่ขาดอีก 2 ล้าน ไม่ถือเป็นผลเสียหายที่อาจได้กลับ จึงสามารถลงเป็นรายจ่ายได้ 2 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นสำหรับรายจ่ายต้องห้าม โดยตัว @TAXBugnoms ขอเน้นย้ำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ นักบัญชีและผู้สอบบัญชีโปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง คือ รายจ่ายต้องห้ามเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการ ดังนั้นจึงควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้มากที่สุด อย่าละเลยและมองข้ามเรื่องเหล่านี้ เพราะบางทีอาจจะเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มจำนวนมหาศาลก็ได้ใครจะรู้ จริงไหมล่ะครับ

สุดท้ายนี้ หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย ข้อแนะนำหรือข้อติชมใดๆ หรืออยากเสนอแนะให้เขียนเรื่องไหนเป็นพิเศษ ก็สามารถแวะมาพูดคุยได้ที่หน้า Fanpage บล็อกภาษีข้างถนน ได้ตลอด 24 ชั่วโมงนะคร้าบบบ

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy