fbpx

เงินน้อยก็รวยได้ ตอนที่ 4 : เมื่อชีวิตพลิกผัน


หลังจากที่ผมได้รู้จักกับ “การออม” ไปไม่นานสักเท่าไรชีวิตของผมก็เริ่มเข้าสู่จุดพลิกผันอีกครั้งเรียกว่าจุดพลิกผันครั้งนี้ กลายเป็นจุดกำเนิดของ“บล็อกภาษีข้างถนน” และที่มาของบทความชุด “เงินน้อยก็รวยได้” เลยทีเดียวเชียว

แต่คงต้องขออุบเรื่องราวไว้ก่อนครับว่าชีวิตที่บิดๆเบี้ยวๆของผมมีการพลิกผันไปยังไงบ้างหลังจากนี้แต่ตอนนี้ผมขอเริ่มต้นพูดคุยถึงเรื่องราวที่มีสาระอย่าง “วิธีการออม”และ “การจัดการเงินออมแบบง่ายๆ” ให้เพื่อนๆ ฟังก่อนดีกว่า ^^

– วิธีออมเงินที่ง่ายที่สุด –

อย่างที่ผมเคยบอกไปไว้ใน ตอนที่3″ ว่าวิธีการออมที่ง่ายที่สุดก็คือการออมเงินแบบ “ไม่เห็นเงิน” คือหลอกตัวเองไว้ก่อนเลยว่า “ตรูไม่มีเงินแล้วนะ” (ฮา) หลังจากนั้นเมื่อเรา (ถูกหลอก) ว่าไม่มีเงิน ทำให้เราไม่อยากใช้เงินและเมื่อไม่อยากจะใช้เงิน เราก็จะมีเงินออมจนได้ แฮร่เล่นกันเอาง่ายๆแบบนี้เลยคร้าบ ชะละล่า …

ตอนนี้ ผมจะมาแนะนำ “วิธีการออม” แบบง่ายๆ ที่หลายๆคนนำไปใช้แล้วได้ผล(รวมทั้งตัวผมเองด้วย) โดยมีชื่อเรียกสั้นๆง่ายๆว่า การออมเงินแบบ “ลบสิบ” (-10%) ซึ่งวิธีการก็คือ ในทุกๆครั้งที่เราได้รับรายได้ให้เราหักเงินออมไว้ก่อนเลยทันที 10% นั่นเองครับ

ออมแบบลบสิบ

ตัวอย่างเช่น
ถ้าหากเดือนนี้คุณได้รับเงินเดือน 10,000 บาท
ให้คุณ(รีบ)หักไว้เป็นเงินออมเลยทันที 1,000 บาท (มาจาก 10% x10,000)

ถ้าหากใครกลัวว่าจะหักเงินด้วยตัวเองไม่ได้ ผมแนะนำให้ลองติดต่อธนาคารมาเป็น “ผู้ช่วย” ในการออม โดยให้ทางธนาคารตัดเงินในจำนวนที่เราต้องการไปไว้อีกบัญชีหนึ่งทันทีที่เรามีรายได้ก็ได้ครับ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการออมเงิน คือ เราต้องไม่ลืมว่า “เงินออม” ไม่ใช่เงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายหรือเพื่อการใช้ในการท่องเที่ยว แต่เป็นเงินที่เก็บไว้สำหรับ “อนาคต” ดังนั้น เราต้องไม่ถอนเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ก่อนกำหนด “เด็ดขาด” นะคร้าบบบ

เราควรจะมีเงินออมเท่าไรดี? –

ผมเชื่อว่าหลังจากที่เริ่มต้นออมเงินไปได้สักพัก หลายๆคนก็เริ่มมีข้อสงสัยว่า เฮ้ย แล้วชั้นจะออมเท่าไรดีล่ะ!! กี่เท่าของเงินเดือนดี 5 เท่าจะพอไหม หรือจะกำหนดเป้าหมายในการออมเงินอย่างไรดีละเนี่ย ขอแนะนำวิธีการง่ายๆโดยการคำนวณเงินออมที่คุณควรมีตามสูตรดังนี้ครับ

“จำนวนเงินออม ณ ปัจจุบัน = 1/10 x อายุ x เงินได้ทั้งปี”

คำนวณเงินออม

ตัวอย่างเช่น
ถ้าหากตอนนี้คุณอายุ 25 ปี มีเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท
ดังนั้นคุณควรจะมีเงินออมในขณะนี้ประมาณ 300,000 บาท (1/10 x 25 x 10,000 x 12)

. . หลังจากคำนวณตามสูตรด้านบนเสร็จแล้ว คงจะมีหลายๆคนเริ่มทำหน้าเบ้ เพราะยังไม่มีเงินออมตามที่คำนวณได้ก็ไม่ต้องเสียใจไปครับ เพราะผมแอบรู้มาว่า ยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ยังไม่มีเงินออมเช่นเดียวกันกับคุณ (อย่าเพิ่งเครียดนะครับ ^^) แต่ผมขอแนะนำให้มองกลับด้านว่าเมื่อคุณได้อ่านบทความตอนนี้และรู้ว่าตัวเอง “ควรจะมีเงินออมซะที”เป็นเรื่องที่ดีและคุณยัง “โชคดี” กว่าคนอื่นๆอีกตั้งมากมายเพราะรู้ตัวก่อนว่าควรจะมีเงินออมไว้เท่าไร ที่เหลือคือการ เริ่มลงมือ “ออม” เงินเท่านั้นเองครับ (สิ่งที่ยากมันอยู่ที่ตรงนี้แหละจ้า ไม่เริ่มต้นก็ไม่มีเงินออมจ้า)

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินออมที่เหมาะสมจริงๆอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าจำนวนที่คำนวณตามสูตรนี้ก็ได้ครับ เพราะ “เงินออม” ของแต่ละคน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆด้าน เช่น ความต้องการ ภาระ หน้าที่และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเงินในกระเป๋าของคุณนั่นเองคร้าบบบ

– ชิวิตที่พลิกผัน –

เมื่อมีสาระแล้วก็ต้องหาด้วยเรื่องไร้สาระมาคลายเครียดกันสักหน่อย (อิอิ) และเรื่องที่ผมจะมาเล่าให้ฟังก็คือตอนต่อของชีวิตการออมเงินของผมเองคร้าบ ^^V)

หลังจากที่อยู่ดีมีสุขกับเงินออมในทุกๆเดือน (เดือนละ 5,000 บาท) ผมยังพยายามออมเงินเพิ่มเติมจากค่าโอทีบ้าง ค่าเดินทาง (Traveling) ที่บริษัทออกให้บ้าง รวมถึงโบนัสอันแสนจะน้อยนิด เรียกได้ว่า หายใจเข้าออกเป็นเงินออมและออมอย่างต่อเนื่องเหมือนเด็กเก็บกด (ที่ไม่ได้ออมมานาน แหะๆๆ) จนเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปีเศษๆ ผมก็มีเงินออมประมาณ 100,000 บาท!!!

วันไหนว่างๆ มานั่งเปิดดูเงินที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในบัญชีธนาคารพร้อมกับอุทานความภูมิใจ “โอ้โห!! เรานี่เมพขิงๆ (เทพจิงๆ) ออมเงินแป็บเดียวก็ได้เป็นแสน (แถมยังหลงตัวเองสุดๆ – -“)”

อาห์ กลิ่นของเงินออมช่างหอมหวาน นี่มันกลิ่นของอิสรภาพทางด้านการเงินชัดๆ!!! ถ้าออมเงินแบบนี้ได้สัก 10 ปีเราคงจะมีเงินล้านกับเค้าแล้วสินะ!!!!!! โอว์ ภูมิใจจริงๆเลย ว่ะฮะฮะฮ่าาาาาา….. (ใครมาเห็นในตอนนี้คงสงสัยว่าไอ้นี่มันคงใกล้บ้าเต็มที่ – -“)

แต่แล้ว.. “เสียงแห่งอิสรภาพการเงิน” ก็ยังดังไม่เท่ากับเสียงแห่ง “อิสรภาพในการใช้ชีวิต” เพราะในระหว่างการทำงานเป็น “ผู้ช่วยผู้สอบบัญชี” อยู่นั้น ผมได้แอบวางแผนชีวิต (อย่างลับๆ) โดยการบอกเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆร่วมงานทุกวันว่าอีกไม่นานจะลาออก (นี่มันความลับตรงไหนฟระ !!!)

ประโยคสนทนาจะเดิมๆ ทำนองว่า เดี๋ยว (ผม/กู/ชั้น) จะลาออกแล้วนะอีกไม่นานได้ลาออกแน่ งานหนักขนาดนี้ใครอยู่ก็บ้าเต็มทีแต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีวี่แววจะลาออกสักที (เอ๊ะอะไรของเมริงวะเนี่ย!!) เพราะว่างานมันหนักขนาดที่ว่าไม่มีเวลาจะไปหางานใหม่เลยน่ะสิครับ TwT

สำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสอบบัญชีมา คงพอทราบนะครับว่า งานนี้เป็นงานที่ได้รับ “ผลตอบแทน” ดีมากถึงมากที่สุดสำหรับคนในแวดวงบัญชี แต่ว่าต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่าง (อารมณ์เหมือนคำสาปของซาตาน) โดยเรื่องหลักๆก็คงจะไม่พ้นเรื่องของ “เวลา” และ “สุขภาพ”

เอาเข้าจริงๆแล้ว ผมคิดว่าคงเป็นกันทุกๆ อาชีพแหละครับ สำหรับงานไหนที่ได้รับผลตอบแทนมากย่อมเป็นงานที่เราต้องใช้พลังและความทุ่มเทมากกว่างานที่ได้รับผลตอบแทนน้อยจริงไหมล่ะครับ ^^

ช่วงที่ผมทำงานสอบบัญชีอยู่นั้นเรียกว่าไม่มีเวลาให้กับ “ครอบครัว” สักเท่าไรได้เจอหน้าพ่อกับแม่จริงๆจังๆ ประมาณอาทิตย์ละครั้งเพราะผมทำงานวันจันทร์ – ศุกร์(วันเสาร์ก็มีต้องเข้าออฟฟิศเรื่อยๆ) พอกลับมาถึงบ้านก็ดึกแล้วต้องรีบเข้านอน ตื่นเช้าก็รีบไปทำงานต่อวนๆเวียนเป็นวัฎจักรแบบนี้อยู่หลายปี และตามมาด้วยปัญหาสุขภาพต่างๆอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่ทนทรมานกับอาชีพนี้อยู่เกือบๆห้าปีอยู่มาวันนึงผมก็มานั่งนึกดูว่าที่บ้านเราก็มีธุรกิจที่รอให้ไปสานต่อแล้วทำไมเราเอาแต่ทำงานนอกบ้าน ไม่ไปช่วยรับไม้ต่องานที่บ้านบ้างล่ะพ่อแม่จะได้สบายแรง (เพิ่งคิดได้เน้อ TwT)

พอคิดได้แบบนั้นแล้วผมเลยตั้งใจแบบจริงๆจังๆ ที่จะลาออก (หลังจากที่บ่นกับเพื่อนๆร่วมอาชีพมานาน) เริ่มต้นจากเข้าไปเลียบๆเคียงๆคุยกับคุณพ่อและคุณแม่ในช่วงสายๆของวันหยุดวันหนึ่ง

ผม : พ่อ แม่ หนูจะออกจากงานแล้วนะฮะ (นี่แกเรียกตัวเองว่าหนูเรอะ!!! – -“)
แม่ : เออ.. ก็ดีแล้ว แม่ไม่อยากเห็นแกทำงานหนักๆแบบนี้ กลับก็ดึก พอวันหยุดก็เอาแต่นอน (หลอกด่าหรือเปล่าเนี่ย – -“)
พ่อ : คิดดีแล้วเหรอลูก ลำบากตอนนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้านะ

ผม : เอ่อ..คือว่า แบบว่า..อยากจะมาช่วยงานบ้านเต็มตัวสักที
แม่ :บ้านเรามีคนทำงานบ้านอยู่แล้วนะ
ผม : เฮ้ย!!! หมายถึงธุรกิจครอบครัวไม่ใช่หมายถึง กวาดบ้าน ถูบ้านนะแม่ (ง)
พ่อ : ลำบากตอนนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้านะ (พ่อยังคงพูดซ้ำ)

แม่ : อืม…แม่ว่าแกยังเด็กไปนะ ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมแบบนี้จะทำอะไรได้ (ห๊ะ) แค่จัดการชีวิตตัวเองให้ดียังไม่ได้เลย (โอ๊ะ) ยังต้องให้พ่อแม่จัดการชีวิตให้ตลอดเวลา จัดการอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง เฮ้อ… (มาเป็นชุดคอมโบ – -“)
ผม : แล้ว… จะให้ไปทำอะไร เอาตรงๆนะวางแผนไว้ลาออกจากงาน หลังจากนั้นอย่างแรก คือ เรียนต่อปริญญาโทให้จบก่อน
พ่อ : (หยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน)

ผม : เอาไงดีล่ะ พ่อ แม่ ขอคำแนะนำหน่อยครับ
พ่อ : ลำบากตอนน …..(แม่ดึงหนังสือพิมพ์ออกจากมือพ่อ)
แม่ : แม่ว่าเอาแบบนี้ละกัน แกจะลาออกน่ะ ยังไงก็ได้ไม่มีปัญหาหรอก แต่ควรจะมีงานการทำไว้บ้าง จะลาออกมาช่วยงานที่บ้านเฉยๆ มันก็ดูไม่มีประโยชน์ เอางี้ละกัน!!!แกไปสอบ ก.พ. (สอบราชการ) แล้วก็ลงทะเบียนหางานไว้เผื่อได้งานดีๆสักที่ก็ทำควบคู่กับงานที่บ้านไปด้วยละกัน ส่วนปริญญาโทอยากจะเรียนก็เรียนไป ชั้นว่าอยู่บ้านทำงานเฉยๆขี้เกียจตายล่ะคนอย่างแก (โดนอีกแล้ว – -“)
พ่อ : …นี้เพื่ออนาคคที่ดีในวันหน้านะลูกนะ (พ่อพูดจบจนได้ นี่พ่อตรูกลายเป็นบอทไปแล้ว – -“)
ผม : (คอตก) ก็ได้ เอาแบบนี้ก่อนละกัน น่าจะดีที่สุด

หลังจากวันนั้นผมจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากงานแล้วหันเหชีวิตมาสอบเป็น “ข้าราชการ” พร้อมๆกับเริ่มต้นอ่านหนังสือเตรียมสอบปริญญาโทไปด้วยโดยที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่า “เงินเดือนข้าราชการ”มันแสนจะน้อยนิดกะจิดกะจ้อยร่อยย ….

– “เงินน้อย ก็ (ไม่) รวย” 

นี่แหละครับชีวิตที่เปลี่ยนผันของผู้ชายวัยฉะกัน เอ้ย วัยฉกรรจ์ คนหนึ่งที่เพิ่งพ้นเบญจเพศมาหมาดๆ จากผู้ช่วยผู้สอบบัญชีในบริษัท Big4 ต้องกลับกลายมาเป็นข้าราชการต็อกต๋อยจากเงินเดือนที่เคยอยู่ดีมีสุขเดือนละประมาณ สี่หมื่นบาท (ไม่รวมโอทีและโบนัส) กลายเป็นเดือนละไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท (ไม่มีโอทีและโบนัส TwT)

ออกจากงานมาได้สักพัก ก็มีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆท่านชอบถามผมด้วยความเอ็นดูว่า.. “เงินเดือนลดลงเกือบ 4 เท่า แล้วเราจะเอาอะไรใช้ล่ะเนี่ย”

เอ่อ…
อย่าว่าแต่ท่านสงสัยเลยครับ ผมยังสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้ยังไงกันนนนน!!!!

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy