fbpx

[Event] SCB Investment Symposium Thailand Outlook 2013 By TaxBugnoms

โพสต์เมื่อ: 26 ก.พ. 2013

ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , ,


เนื่องจากผมได้รับเกียรติจาก SCB Thailand Facebook ให้เข้าร่วมงาน “SCB Investment Symposium Thailand Outlook 2013” ซึ่งเป็นงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนักลงทุนเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในปี 2556 ผ่านการปาฐกถาพิเศษของวิทยากรผู้ทรงเกียรติของประเทศไทย อันได้แก่ …

1) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองรอบด้านการลงทุนปี 2556” (ทิศทางและเศรษฐกิจไทยในมหภาค)
2) คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “ตลาดทุนไทยปี 2556” (ทิศทางตลาดทุนและการลงทุนไทยสู่ AEC)
3) คุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการฯ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) หัวข้อ “New Investment Idea” (มุมมองด้านการลงทุนต้นแบบจากผู้บริหารเงินทุนรายใหญ่ของประเทศ)

SCB Investment Symposium

โดยงานนี้จัดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ตั้งแต่เวลา 14.15 น. – 16.15 น. ณ ห้องฉัตรา 2 และ 3 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ก่อนื อื่นๆ ผมขออนุญาตเริ่มต้นจากการพาเพื่อนๆชมบรรยากาศรอบๆงานกันก่อนครับ >_<

Event SCB(บรรยากาศโดยรอบของงานครับ แอบถ่ายมา)

FrameMagic(ลองสังเกตดูดีๆ จะมีแต่สีม่วงเต็มไปหมดเลย ^^)

เมื่อถึงเวลาประมาณ 14.15 งานก็เริ่มต้นขึ้นตรงเวลา โดยมี คุณหมวย (ดร.อริศรา กำธรเจริญ) เป็นผู้ดำเนินรายการ (ตัวจริงน่ารักมาก >_<) ได้กล่าวเชิญ “คุณญนน์ โภคทรัพย์” รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ ขึ้นมากล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนา หลังจากนั้นจึงเชิญท่าน “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ขึ้นบรรยายเป็นท่านแรก ตามด้วย “คุณจรัมพร โชติกเสถียร” และคนสุดท้ายคือคุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย” ตามลำดับครับ

หลังจากนี้จะเป็นเรื่องราวเนื้อหาการบรรยายที่ผมพยายามสรุปมาให้ฟังนะครับ ขออนุญาตสรุปเป็นข้อๆ ตามที่จับใจความมาได้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ แต่ยังไงก็อย่าลืมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน(แฮร่)”

– “มองรอบด้านการลงทุนปี 2556” (ทิศทางและเศรษฐกิจไทยในมหภาค) –

1. เศรษฐกิจโลกโดยรวมปรับตัวดีขึ้ตั้งแต่ช่วงปี 2555 และคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสังเกตว่าทางสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในเอเชียต่างๆ เช่น จีน มีการขยายตัวดีขึ้น แต่ทางยุโรปยังมองว่าค่อนข้างปรับตัวช้าอยู่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหา

2. ภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2556 ทางสภาพัฒน์มองว่าสามารถขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ที่เกิดขึ้นในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชน โดยจะเห็นได้ว่า GDP ของปี 2555 อยู่ที่ 6.4% และคาดการณ์ว่า GDP ของปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 5%

3. สำหรับปี 2556 นั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่านอกจากเรื่องของอุปสงค์และการลงทุนแล้ว เศรษฐกิจยังจะสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากแนวโน้มการ”ส่งออก” ที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งจะเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

4. แนวโน้มเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่คาดว่าน่าจะมีอัตราเงินเฟ้อทรงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 น่าจะมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.7  (ปี 2555 อยู่ที่ 2.1)

5. มุมมองด้านหลักทรัพย์ มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่มากขึ้น โดยผลที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจาก “January Effect” อยู่แต่อย่างไรก็ตามมองว่าเริ่มมีการทยอยปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ (ปัจจุบันตลาดอยู่ที่ 1,500 จุด P/E ของตลาดอยู่ที่ 18-19)

January Effect หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ราคาหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนมกราคม ทำให้ผลตอบแทนในเดือนมกราคมโดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าเดือนอื่นๆ

6. นอกจากทางด้านตลาดหุ้นแล้ว ยังมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น โดยราคาอาคารชุด (คอนโด) ในไตรมาส 4 มีการเติบโตถึง 15% !!!! (O_o) ซึ่งมาจากปัจจัยหลักๆได้แก่

  • กำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเจริญเติบโตของโครงสร้างระบบขนส่งที่ดีขึ้น ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในละแวกนั้นปรับตัวสูงขึ้น
  • ปัจจัยทางด้านเงินลงทุนของต่างชาติยังถือว่าไม่มาก เนื่องจากกฎหมายห้ามซื้อที่ดินเกินกว่า 49%

7. นักลงทุนต่างชาติและไทยสร้างความคึกคักในตลาดมาก โดยคนไทยมักสนใจหุ้น P/E สูงที่มีขนาดเล็ก ส่วนต่างชาติจะเน้นซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดี (แฮร่ๆ)

8. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก มองว่าเป็น “โอกาส” ในการลงทุนสำหรับคนไทย เช่น การนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ การลงทุนในต่างประเทศ เช่น FIF (Foreign Investment Fund) หรือ ETF (Exchange Traded Fund) ต่างๆที่มีการลงทุนในต่างประเทศ โดยจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน (Expected Return) แต่อย่างไรก็ไม่ควรที่จะตื่นเต้นจนเกินไป เพราะยังมีความผันผวนอยู่ อาจจะแข็งค่ากว่านี้หรืออ่อนค่าลงก็ได้ ไม่ควรจะประมาท และควรจะมีการป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

9. ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมเงินลงทุนต่างๆลงในปี 2555- 2556 เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ ของบุคคลธรรมดาเปลี่ยนเป็นไม่มีการจำกัดวงเงินต่อราย ซึ่งจากเดิมจำกัดวงเงินไว้ที่ 20 ล้านบาท/ราย เป็นต้น

10. การมีนโยบายเปิดเสรีเงินทุนทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเงินลงทุนจากในประเทศเคลื่อนย้ายไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment : TDI) มากขึ้นใกล้เคียงกับเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment :FDI) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมดุลของเงินลงทุนมากยิ่งขึ้น

IMG_1652

ในช่วงสุดท้าย ดร.ประสาร ได้กล่าวสรุปไว้ว่า การลงทุนนั้นต้องมี 2 รู้ คือ “รู้เขา” และ “รู้เรา” โดย “รู้เขา” ก็คือ การที่มีความรู้และความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจต่างๆและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการลงทุน ส่วน “รู้เรา” ก็คือ เข้าใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆของการลงทุน รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องของ “ความเสี่ยง” ของการลงทุนแต่ละประเภท รวมถึงการรู้ถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการ

นอกจากนั้น ทาง ดร.ประสาร ยังฝากความมั่นใจให้นักลงทุนอีกด้วยว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดูแลในภาพรวมต่างๆ และมีการช่วยเหลือในส่วนของมหภาค เช่น การลดความยุ่งยากต่างๆในการลงทุนลง จึงขอให้สบายใจได้และไม่ต้องเป็นห่วง (เอ๊ะ!! ยังไง) ส่วนนักลงทุนนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนระดับจุลภาค ดังนั้นขอให้ตัดสินใจให้ดีก่อนจะลงทุน มิฉะนั้นก็ตัวใครตัวมันล่ะคร้าบบบบ (O-o)

– “ตลาดทุนไทยปี 2556” (ทิศทางตลาดทุนและการลงทุนไทยสู่ AEC) –

ส่วนที่ 2 บรรยายโดย คุณจรัมพร โชติกเสถียร ในหัวข้อ “ตลาดทุนไทยปี 2556” โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อได้แก่ “พื้นฐานเศรษฐกิจไทย” “ตลาดทุนไทยในปี 2556” และ “ตลาดทุนไทยกับ AEC” 

สัมภาษณ์( รูปประกอบคุณจรัมพร โดนสัมภาษณ์อย่างหนักหน่วง – – “)

1. เริ่มต้นจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทย มีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ คือ แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง (Hi-Speed Train) และในส่วนของระบบรถไฟรางคู่ (Dual Track Rail System) ทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างระบบขนส่ง(ที่กำลังจะเกิดขึ้น)เหล่านี้

2. นอกจากนั้นยังได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจาก “แนวการค้าชายแดน” กับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีหลังๆ ซึ่งต้องมาดูกันว่าเราจะใช้ “โอกาส” นี้ในการหาผลประโยชน์ในการลงทุนได้อย่างไรบ้าง

3. การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเติบโตมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายและมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะสินค้าจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทีนี้เราต้องมาดูกันว่าจะช่วยพวกบริษัทเหล่านี้ได้อย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ บริษัท Holding Company ที่มีธุรกิจหลักในต่างประเทศสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจสามารถระดมทุนจากตลาดทุนไทยเพื่อไปขยายกิจการให้เติบโตได้ ตัวอย่าง เช่น “CK Power” (บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็น Holding Company ที่มีบริษัทในประเทศลาว)

4. ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยได้รับยกระดับจากทาง  FTSE ให้เป็น “กลุ่มตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ (Advanced Emerging Market)” ซึ่งทำให้โอกาสในการระดมทุนมากขึ้น โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบรับธุรกิจของเราเอง อย่างเช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ของ BTS ที่กำลังอยู่ในระหว่างเสนอขาย

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ กองทุนรวมกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและรายใหญ่ สำหรับนำไปใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

5. ถ้าดูการค้าขายในระหว่างประเทศอาเซียนจะเห็นว่า เรามีตัวเลขการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 24.7% ของยอดส่งออกทั้งหมด ส่วนเรื่องดุลการค้าเรายังคงได้เปรียบกับทุกประเทศ ยกเว้นพม่าที่มีการนำเข้าก็าซธรรมชาติ

001

6. ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของไทยได้มีการเริ่มขยายกิจการไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตมากขึ้น เช่น SCG, PTT,CPF, MINOR ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสของตลาดทุนไทยที่จะขยายตัวไปได้กว้างไกลกว่าเดิมในอนาคต

7. ทางเรื่องของตลาดทุนไทย ความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ถือว่าค่อนข้างมาก แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นแต่ภาคส่งออกยังคงสามารถทำกำไรได้ดี นอกจากนั้นตลาดทุนไทยยังผ่านวิกฤตต่างๆมาประมาณ 9 วิกฤต เช่น ไข้หวัดนก ปฎิวัติรัฐประหาร น้ำท่วม วิกฤตของ Lehman & Brother ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีอยู่ช่วงเดียวที่มีปัญหา (Lehman) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยว่าแข็งแกร่งและยังน่าลงทุนอยู่

8. ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในเรื่องของการจ่ายปันผล มีการจ่ายปันผลที่ดีอยู่ที่ 3.2% ซึ่งถือเป็นที่ 3 ในประเทศกลุ่มเอเชีย ส่วน Forward P/E อยู่ที่ 15.5 ซึ่งถือว่ายังไม่สูงเกินไปนัก ส่วนเรื่องผลตอบแทนของดัชนีมีการปรับตัวสูงขึ้นโดยในปี 2012 ถือว่ามีการปรับตัวสูงที่สุดเมื่อเปรียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่น (ตามภาพประกอบด้านล่าง)

002-vert

9. ตลาดทุนไทยได้รับการเลื่อนขั้นจากสถานะ Secondary Emerging Market เป็น Advanced Emerging Market จาก FTSE ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นของประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องของสภาพคล่องที่ดีเป็นตัวส่งเสริมให้กองทุนต่างประเทศสนใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

10. สิ่งที่น่าเป็นห่วงของตลาดหุ้นไทยก็คือ การอยู่เหนือพื้นฐาน เนื่องจากมีหุ้นร้อนแรงที่ราคาสูงเกินกว่าพื้นฐานเริ่มเยอะ (คุณจรัมพรมองว่า P/E มากกว่า 40 คือ เกินพื้นฐาน) นักลงทุนต้องพิจารณาด้วยว่าการเติบโตแบบนี้จะเป็นไปได้จริงไหม โดยหุ้นที่มีราคาสูงเกินพื้นฐานนั้นปรับเพิ่มขึ้้นตั้งแต่ปี 2555 จาก 45 ตัวเป็น 72 ตัว (ท่านไม่ได้บอกนะครับว่าตัวไหนบ้าง แฮร่) ถ้ามูลค่าสูงๆเหล่านี้กลับมาสู่พื้นฐานเมื่อไร บอกได้คำเดียวว่า “ซวย”

สุดท้ายได้ฝากเรื่องของการวิเคราะห์เช่นเดียวกับ “ดร.ประสาร” คือ ต้อง “รู้เขาและรู้เรา” และให้พิจารณาหุ้นที่ได้รับสัญญาณเตือนจากทางตลาดหลักทรัพย์ว่า หุ้นเหล่านี้มีความเสี่ยง (ตอนนี้มีประมาณ 120 ตัวที่เข้าข่าย O_o) ที่สำคัญขอให้นักลงทุนอย่าไปกู้หนี้ยืมสินมาเล่น ให้ใช้เงินสดของตัวเองจะได้ไม่ลำบากคนอื่นเวลาเกิดปัญหา (อิอิ)

IMG_1662

นอกจากนั้นมีเรื่องของ AEC อีกนิดหน่อยคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนาตลาดอาเซียน เช่น การช่วยเหลือในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่างๆ เช่น ลาว พม่า ฯลฯ และร่วมกันพัฒนา ASEAN LINK (ระบบซื้อขายเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทย มาเลเซียและสิงค์โปร์) เพื่อดึงดูดเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์  และในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้ง ASEAN INDEX (ดัชนีอาเซียน) เพื่อใช้ในการอ้างอิงผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศต่อไปในอนาคต

 “New Investment Idea”
(มุมมองด้านการลงทุนต้นแบบจากผู้บริหารเงินทุนรายใหญ่ของประเทศ)

ในส่วนสุดท้ายเป็นของคุณ “โสภาวดี เลิศมนัสชัย”  โดยจะเน้นในเรื่องของมุมมองการลงทุนรูปแบบของสถาบันซึ่งเป็นรายใหญ่ของประเทศอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) ซึ่งเน้นการลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยในปัจจุบันมูลค่าของกองทุนมีอยู่ประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 570 ล้านบาทไทย O_o)

แต่สำหรับเรื่องนี้ ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ในด้านการลงทุนแบบสถาบันลักษณะนี้นั้นผมยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเท่าไรนะครับ (ยังเป็นเม่าน้อยอยู่) ขออธิบายเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับหลักการและวิธีการลงทุนแบบคร่าวๆให้ฟังแล้วกันนะครับ

1. การลงทุนในลักษณะของสถาบันจะเน้นมุมมองในเรื่องของ “Asset Allocation” โดยรูปแบบการกระจายความเสี่ยงแบบเดิมไม่ได้ผลเมื่อเกิดวิกฤต ดังนั้นจึงเน้นไปที่การจัดรูปแบบพอร์ตการลงทุนแบบใหม่ให้เป็นระยะยาวขึ้น โดยมองคาดการณ์ไว้ว่าอนาคตนั้น ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ใน 3-5 ปีข้างหน้าแล้วจึงค่อยปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับวงจรของเศรษฐกิจ แต่การจัดพอร์ตนัั้นให้พิจารณาเรื่อง Valuation กับ Timing ด้วยว่าราคาได้รับรู้ภาวะเศรษฐกิจนั้นไปหรือยัง

2. ในสมัยก่อนตลาดเกิดใหม่อย่าง Emerging Market ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในต่างประเทศเท่าไรนัก เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศชั้นนำต่างๆเริ่มมีปัญหา  นักลงทุนจึงเริ่มยักย้ายถ่ายเทเงินลงทุนมาที่ตลาด Emerging Market มากขึ้น

– Shale Gas –

สำหรับในส่วนของการลงทุนของสถาบันก็มีเพียงเท่านี้ครับ (ที่ผมพอเข้าใจ TwT)  แต่ในส่วนต่อไปจะเป็นเรื่องของพลังงานทางเลือกซึ่งน่าสนใจมากๆ คือ เรื่องของ “Shale Gas” ว่าจะมาเป็นพลังงานพลิกโลกอนาคตได้หรือไม่ ลองมาดูกันครับ…

Shale Gas คือ ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ที่จะมาช่วยให้โลกมีปริมาณก๊าซสำรองเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติตัวนี้ถูกกักอยู่ในชั้นหินดินดาน ทำให้กระบวนการขุดเจาะที่ซับซ้อนมากกว่าก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม

 

Shale Gas

โดยปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะแบบแนวราบ ทำให้สามารถต่อท่อไปได้มากขึ้นและสามารถนำก็าซออกมาใช้ได้มากขึ้น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะแนวราบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงหลังปี 2009 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลงและคาดว่าจะทรงตัวในระดับนี้ต่อไป

ปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้ก็าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จากข้อมูลคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะมี Supply ส่วนเกินและเริ่มที่จะส่งออก Shale Gas ได้ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป และคาดว่าในปี 2035 การผลิต Shale Gas ในสหรัฐฯ จะคิดเป็นสัดส่วน 49% ของการผลิตพลังงานทั้งหมด ซึ่งประมาณ 5% จากจำนวนที่ผลิตได้จะถูกผลิตเพื่อส่งออก

ปัจจุบัน Shale Gas มีอยู่ค่อนข้างมากในประเทศ อเมริกาและจีน แต่สามารถขุดใช้ในเชิงพาณิชย์ไม่มากนัก โดยอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าการใช้เทคโนโลยีในการขุดเจาะนั้นจะทำให้คุ้มในทางเศรษฐกิจหรือไม่ ประกอบกับ Shale Gas ที่อยู่ในจีนคงไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในการขุดเจาะของอเมริกาได้ (อ้าวววว ซะงั้น)

สรุป : ผลของการเกิด Shale Gas จะมีผลกระทบดังนี้

  1. การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงและค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นในระยะยาว
  2. การพัฒนา Shale Gas Industry จะช่วยสร้างงานและเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ
  3. ราคาพลังงานประเภทต่างๆ อาจไม่ขึ้นแรงเท่าที่เคยประเมินกันไว้ โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ
  4. หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมาก จะเริ่มเห็นการส่งออก shale gas จากสหรัฐฯ มายังเอเชียเพราะคุ้มค่าเมื่อรวมค่าขนส่ง
  5. สหรัฐฯ จะค่อยๆ กลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน ในขณะที่บทบาทของ Middle East จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

IMG_1665

สุดท้ายคือมุมมองการลงทุนปี 2013 ยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้นมีเงินไหลเข้ามาที่การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลของสภาพคล่องที่ล้นระบบมหาศาล ทำให้ธนาคารกลางหลายๆประเทศนำสภาพคล่องเหล่านี้มามองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจนั่นเอง

บทสรุป –

เมื่อมองจากภาพรวมแล้ว คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาส “ไปต่อ” จากข้อมูลที่ได้รับมาวันนี้ แต่อย่างที่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น จึงขอให้เพื่อนๆนักลงทุนทุกคนอย่าประมาทและคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ขอให้ใช้ข้อมูลที่ได้รับมาอย่างมีสติ ร่วมกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จึงจะช่วยให้การลงทุนของเราเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ได้ อย่าเชื่อเพียงแต่ว่า “เค้าว่ามา” มิฉะนั้นอาจจะเจ็บหนักโดยไม่รู้ตัว …

สุดท้ายนี้ทาง “บล็อกภาษีข้างถนน” ต้องขอขอบคุณสัมมนาการเงินดีๆจากทาง SCB Thailand Facebook ที่เปิดโอกาสให้ทางผมเข้ารับฟังและได้รับข้อมูลมาเขียนให้เพื่อนๆทุกคนอ่าน และก็หวังว่าจะได้รับโอกาสดีๆแบบนี้อีกในคราวต่อๆไปนะครับ

ขอปิดท้ายด้วยรูปบรรยากาศหลังเลิกงานสักหน่อย แล้วเจอกันโอกาสหน้าคร้าบบบบ ^^

IMG_1678

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy