เครดิตภาษีเงินปันผล
มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด
เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้ผู้จ่ายเงินได้รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกินไป หรือที่ชำระไว้ไม่ครบ และถ้าผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากพนักงานประเมิน ให้ถือว่าเงินจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นภาษีอากรค้าง ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้แจ้งผู้มีเงินได้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินที่เหลือนั้นคืนตามกฎหมาย
ประเด็น
• ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ข) แปลว่า ผู้ได้รับเงินปันผล
• บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแปลว่าต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในไทยเป็นผู้จ่ายเท่านั้น ถ้าเป็นบริษัทในต่างประเทศ ห้ามนำเงินปันผลมาเครดิตภาษี
• ความในวรรค 3 กล่าวว่า “ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แปลว่า คนรับต้องต้องมีภูมิลำเนาในไทย(มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์) หรืออยู่ในประเทศไทย (อยู่ในไทยเกิน 180 วัน)
• “อัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น” ทราบได้จากหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายนั้นๆ
ตัวอย่าง:
ปี 52 ได้เงินปันผลจาก DTAC ตัวเดียวจำนวน 6,000 หุ้น
โดยปันผลหุ้นละ 1.50 บาท
เป็นเงิน 9,000 บาท
โดนหัก ณ ที่จ่ายไป 900 บาท
ได้รับจริง 8,100 บาท
อย่างนี้จะขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้หรือไม่ ?
ถ้าได้ จะได้เท่าไร ?
แล้วถ้าได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง สามารถทำเรื่องทางอินเตอร์เน็ทได้หรือไม่ หรือต้องไปที่สรรพากรด้วยตนเอง ?
เริ่มกันเลย
ต้องไปดูที่ใบปันผลว่า DTAC จ่ายภาษีกี่ % ก่อนครับ เช่น 20%, 25% หรือไม่จ่ายภาษีเนื่องจากได้รับการยกเว้น 0%
ให้เอาเงินปันผลไปคูณกลับตัวเหล่านี้
0% > * 0/100 = 0
20% > * 20/80 = 1/4
25% > * 25/75 = 1/3
30% > * 30/70 = 3/7
จากตัวอย่างเช่นถ้า DTAC จ่ายปันผล 9,000 เเละบริบัทจ่ายภาษี ที่ 30%
ดังนั้น เครดิตภาษีคือ 9,000 * 3/7 = 3,857.14
ตัวเลข 3,857.14 คือ ภาษีที่ DTAC จ่ายไปนั่นเอง (9,000+3,857.14)*0.3 =3,857.14
พอได้เเล้วเอาตัวเลข 3,857.14 บาท ไปกรอกใน ภงด.90 ครับ ซึ่งก็คือภาษีที่เราซึ่งเป็นเจ้าของ DTAC จ่ายให้กรมสรรพากรไปเเล้ว บวกกับ 10% ที่หักไว้ครับ มันเหมือนหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ เเต่จะได้เงินคืนเท่าไหร่ ก็เเล้วเเต่ฐานภาษีของเราครับ เช่นถ้าเราจ่ายอยู่ ที่ 10% เราก็ควรได้คืนประมาณ 2 ส่วน ของ 3,857.14 บาทครับ ประมาณนี้ ถ้ายื่นเเบบ online มันจะมี popup ตารางให้กรอกเลย ไม่ต้องคำนวนเอง
สมมุติว่า…
บริษัท A จ่ายปันผลให้เรา 70 บาท
ในใบแจ้งระบุ หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% คือเงิน 7 บาท
ดังนั้น เงินที่เราได้รับสุทธิ คือ 63 บาท
ทีนี้ไปที่ประเด็นภาษี
บริษัท A เสียภาษีในอัตรา 30%
ความจริงคือ บริษัท A จ่ายปันผลจากกำไร
หลักหักภาษีนิติบุคคล 30%
แสดงว่าเงินปันผลที่บริษัท A จ่ายให้เรา 70 บาท
มีเงินส่วนนึงเป็นภาษีที่ส่งสรรพากรไปแล้ว 30%
ซึ่งก็คือเครดิตภาษีที่บริษัท A จ่ายไปแล้ว = 70 x 30/(100-70)
หรือ 70 x (3/7) = 30 บาท
ดังนั้น เงินปันผลก่อนหักภาษีของบริษัท A = เงินที่ A จ่าย + เครดิต
= 70 + 30 = 100 บาท
เวลาคำนวณภาษี ในภงด.
เราก็ดึงกลับเอาเครดิตภาษีไปรวมเป็นเงินได้ของเรา คือ 30 บาท
มารวมกับเงินได้ ที่เป็นเงินปันผล 70 บาท
เสร็จแล้วคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายจริงใหม่
เช่น เงินได้สุทธิ เท่ากับ 4 แสนบาท
ต้องเสียภาษี 10% จาก 1.5-5 แสน = ( 4แสน – 1.5แสน ) x 10% = 2.5หมื่น
จากนั้นในขั้นสุดท้าย
ให้เอาภาษีที่เราจ่ายไปแล้วทั้งหมด รวมเครดิตภาษี
(ที่บริษัท A จ่ายไปให้ก่อนจ่ายปันผลให้เรา)
เอามาหักคืนออกจากยอด 2.5 หมื่นอีกที
งงไหม..?
สุดท้าย เราจะได้เงินคืน เพราะเงินเครดิตภาษีถูกดึงกลับมาให้เราครับ
แล้วคิดภาษีจ่ายใหม่จากเงินได้จริงที่เอาเครดิตมารวมคำนวณใหม่ครับ
ขอบคุณตัวอย่างดีๆจากกระทู้ใน ThaiVI ครับ
http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=40549