[บทความพิเศษ] สรุปผลการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่
สำหรับ “บทความพิเศษ” ตอนนี้ ขอมาพูดคุยกันถึงเรื่องราวที่เป็น Talk of The Town ในขณะนี้ ซึ่งก็คือเรื่อง “การอนุมัติอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่” ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้ (เอ่อ.. ว่าแต่ไอ้ Talk of The Town มันแปลว่าอะไรหรอครับ – -“)
โดยถ้าหากเราสังเกตข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์, อินเตอร์เน็ต, Social Network และสื่อต่างๆ รวมถึง Facebook Page กากๆ เกี่ยวกับภาษีอย่าง @TAXBugnoms ก็จะเห็นได้ว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ลดภาษีเว้ยเฮ้ย ลดให้ใคร ลดให้ไว ลดได้ไหม บลาๆๆๆ ฯลฯ
และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน นาย @TAXBugnoms จึงขออนุญาตเขียนสรุปข้อมูลต่างๆตามที่ได้ยินและได้ฟังมาให้ฟังกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประโยชน์และความสุขของชาวไทยผู้มีใจรักชาติ อยากเสียภาษีกันทุกคน ใช่ไม่ใช่ครับ พี่น้อง (เย่!!!!)
เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และก่อนที่ (ไอ้) คนเขียนมันจะบ้าไปกว่านี้ เรามาเริ่มต้นกันที่เรื่องแรกกันดีกว่าครับ นั่นก็คือ “อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่”
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุด 37% เป็น 35% โดยมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้สำหรับปี 2556 และ 2557!!!
โดยอัตราภาษีที่กระทรวงการคลังนำเสนอเป็นดังนี้ครับ …
อัตราภาษีตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ
โดยอัตราภาษีใหม่กระทรวงการคลังได้นำเสนอตาม “แถลงข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 76/2556 ลงวันที่ 30 กรกฏาคม 2556″ นั้น คาดว่าจะมีการยกเว้นภาษีสําหรับเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-300,000 บาท ซึ่งกําหนดอัตราภาษีไว้ร้อยละ 5 โดยทางกระทรวงการคลังจะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีสําหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกต่อไป
ดังนั้นอัตราภาษีใหม่ที่เกิดขึ้น (ตามเสนอ) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีเก่าจะสามารถเปรียบเทียบได้ดังรูปด้านล่างนี้ครับ
ตารางเปรียบเทียบอัตราภาษีเก่ากับอัตราภาษีใหม่
สำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงใช้หลักการเดิมตามที่เขียนในบทความพิเศษ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ใครได้ ใครเสีย!! หากใครสนใจสามารถคลิกไปอ่านเพิ่มได้เลยคร้าบ!
[บทความพิเศษ] ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ใครได้ ใครเสีย !!
http://tax.bugnoms.com/discount-pit-tax-rate-2013/
ความชัดเจนเรื่องอัตราภาษีคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญ
ในส่วนเรื่องของคณะบุคคลและนิติบุคคลนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปในการออกกฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นประเด็นที่ “ซับซ้อน” ค่อนข้างมากและตัวบทกฎหมายเองก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนครับ ดังนั้นถือว่าในเรื่องนี้เรายังสบายใจได้อยู่ครับผม ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ ดังนั้นแปลว่าคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญยังคงเสียภาษีเงินได้ในอัตราเดียวกันกับบุคคลธรรมดาอยู่ครับ!!!
แต่ถ้าหากบังคับใช้แล้ว สิ่งที่ คาดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น มีรายละเอียดดังนี้ครับ
1. กำหนดนิยามใหม่ให้ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทําการที่มีเงินได้พึงประเมินร่วมกันอันมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีจากเงินได้สุทธิในอัตราร้อยละ 20 โดย “หักค่าใช้จ่ายตามความจําเป็นและสมควร” เท่านั้น
3. คณะบุคคลเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 โดย “ไม่ให้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน”
4. ประกาศปีนี้ (2556) แต่ใช้จริงปีหน้า (2557) จากข้อความ “การปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราภาษีเงินได้ของห้างห้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนี้จะใช้บังคับกับเงินได้ประจําปีภาษี “ถัดจาก” ปีภาษีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไป”
ผลจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
เรื่องที่จะมีผลกระทบแน่นอน คือ ผลกระทบต่อรายได้ (การจัดเก็บภาษี) ของกรมสรรพากรครับ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรในปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่จะมีผลช่วย “กระตุ้นการบริโภค” และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะระบบภาษีจะมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป (อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็นใครความเห็นมันนะคร้าบ)
เมื่อรายได้ของสรรพากรลดลง คำถามต่อมา คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ทางภาครัฐจะไป “รีด” เอ้ย “เรียก” เก็บภาษีจากไหนมาทดแทนบ้าง ซึ่งข่าวลือหนาหูส่วนใหญ่ หรือที่เราคิดเอา (เอง) ไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ (เอิ่ม..เพลงบอกอายุกันเลยทีเดียว) นั่นก็คือ ทางภาครัฐจะมีเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากทาง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งเป็น “ภาษีทางอ้อม” ทดแทนหรือเปล่า
เอ่อ… ขอสารภาพว่าตอนแรกผมก็คิดเช่นนั้นครับ แต่โชคดีเหลือเกินที่ระหว่างเขียนบทความนี้ผมได้รับข้อมูลหลังไมค์จากทางแฟนเพจท่านหนึ่ง (ที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม) ซึ่งเป็นความเห็นจากทาง ท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นไว้ใน Facebook Page “Kittirattofficial” ว่า “เรื่องนี้นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากแน่นอน” (เฮ้อ… สบายใจรอบที่สอง) โดยผมขออนุญาตนำข้อความบางส่วนจากต้นฉบับมาให้อ่านกันครับ
สำหรับข้อกังวลว่าหากลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแล้วจะเตรียมไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่นั้น ผมขอเล่าให้ฟังว่า กาลครั้งหนึ่งเคยมีข้อแนะนำจากองค์กรระดับโลกต่างๆว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรจะอยู่ในระดับร้อยละ 10 ของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นเราจึงมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ10 ในอดีต แต่ต่อมาเราลดลงมาเหลือ 7% ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤติ แต่ต้องบอกว่าอันนี้เป็นความคิดเก่าดั้งเดิมมาก แต่ในขณะนี้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นเท่าไหร่นั้นมันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศไปแล้ว ในยุโรปบางประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก เกินกว่าร้อยละ20 ก็มี ในขณะเดียวกัน ในบางประเทศก็มีอัตราภาษีที่ต่ำได้ ดังนั้นประเทศไทยเราใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ก็จะมีแหล่งรายได้ที่เพียงพออยู่แล้ว การกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราเท่าไหร่ก็แล้วแต่ มันมีโอกาสที่จะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าเท่าๆกับอัตราที่เพิ่ม เพราะฉะนั้นการที่รัฐจะอยากมีรายได้เพิ่มฝากไปที่ราคาสินค้า กลายเป็นเงินเฟ้อ ไม่มีรัฐบาลไหนอยากทำ ดังนั้นรัฐบาลไม่ทำแน่นอน
ที่มาของข้อมูล : http://goo.gl/NZvlj4
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ยังคงเห็นว่า “การลดอัตราภาษี” ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้คนทุกคนได้ประโยชน์ แม้ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า เราเลือกมองตัวเองในแง่มุมที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือมองในแง่ที่เปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วกลับรู้สึกว่าตัวเองเสียผลประโยชน์
โดยอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องติดตามและ “คิดตาม” อย่างต่อเนื่องก็คือ ในเมื่อไม่มีการขึ้นอัตรา “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” แล้วทางรัฐบาลเองจะมีมาตรการในการดำเนินการเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น การรู้เท่าทันและติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องเอาใจใส่อยู่เสมอครับ และหากมีข้อมูลอะไรที่เพิ่มเติมและชัดเจนกว่านี้ รับรองว่าจะนำมา Update ให้ฟังแน่นอนคร้าบบบบบ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลดังต่อไปนี้ไว้ ณ ที่นีด้วยครับ
ข่าวการเงิน-การลงทุน “ไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา” โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ้างอิง : http://goo.gl/pa1oz7“คลิกดูโดยพลัน …ครม.อนุมัติลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนเงินเดือน 30,000 จ่ายภาษีลดลง 50% มีผลปีหน้า” โดย มติชนออนไลน์
อ้างอิง : http://goo.gl/fSMcKL“แถลงข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 76/2556” ลงวันที่ 30 กรกฏาคม 2556
อ้างอิง : http://goo.gl/15BBsj