fbpx

[บทความพิเศษ] ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ @TAXBugnoms

โพสต์เมื่อ: 05 ก.พ. 2014

ป้ายกำกับ: , , , , ,


สวัสดีมากๆครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความดีๆตามคำเรียกร้อง (เอ่อ… ขอโทษนะ ใครเรียกร้องฟระ?) วันนี้ @TAXBugnoms ขออนุญาตเขียนเรื่องดีอย่าง “ภาษีกับการลงทุน” สำหรับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทั้งหลายกำลังเตรียมตัวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2556 กันอยู่พอดี โดยบทความตอนนี้มีชื่อสั้นๆว่า “ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ @TAXBugnoms” (สั้นโพ่งงงงงง!!)

สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้ มาจากการที่ผมได้รับคำถามจากทางหน้า Facebook Page และ Twitter เกี่ยวกับรายได้จากการลงทุนในหุ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น “รายได้จากการลงทุนในหุ้นต้องเสียภาษีไหม” “เครดิตเงินปันผลคืออะไร”  “มีเงินปันผลเท่าไรจึงจะต้องเสียภาษิ”  “ทำไมคนโกงชาติขายหุ้นแล้วไม่ต้องเสีย” (เอ่อ… อันนี้ไม่ใช่ล่ะ) รวมถึงคำถามอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงถือโอกาสอันดีในวันนี้ เขียนบทความนี้เพื่อเคลียร์ทุกปัญหาคาใจที่แบบครบถัวนกระบวนความให้เสร็จสุดยอดในตอนเดียวกันไปเลยส์…

เอาล่ะครับ… อารัมภบทมาตั้งนาน ยังไม่เข้าเรื่องสักที แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้ คงต้องขออนุญาตตีกรอบของคำจำกัดความในคำว่า “ภาษีเงินได้” และ “ผู้รับเงินปันผล” ให้หมายความเฉพาะ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เท่านั้น ส่วนคำจำกัดความของคำว่า “หุ้น” ให้หมายความถึง “หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” เท่านั้นนะครับ

ทีนี้เมื่อตีกรอบคำจำกัดความเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อมาที่เราจะนำมาพิจารณา คือเรื่องของ “รายได้” หรือ “ผลตอบแทน” ที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนในหุ้นนั้น ต้องนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีหรือไม่ และถ้าต้องถือเป็นรายได้ เราต้องคำนวณอย่างไรกันบ้าง

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น
โดยปกติแล้ว “รายได้” หรือ “ผลตอบแทน” จากการลงทุนในหุ้นนั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ “กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น” และ “รายได้จากเงินปันผล” ผมขอเริ่มที่ตัวแรกก่อนเลยครับ…

กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น

กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น หรือเรียกบ้านๆคือ ส่วนต่างของราคา หรือ Capital Gain (อ่านว่า “แคปพิตั่ล เกน” นะครับ อิอิ) และเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ @TAXBugnoms ขออนุญาตยกตัวอย่างและอธิบายไปพร้อมๆกันเลยนะครับ

สมมุติว่า นายเห่าได้ซื้อหุ้นบริษัท แอดแว้นนส์ จำกัด (มหาชน) ไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน จำนวน 10,000 หุ้น ในราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,000,000.- เมื่อเวลาผ่านราคาหุ้นขึ้นไปที่ 120 บาทต่อหุ้น นายเห่าเกิดความยินดีปรีดาเลยตัดสินใจขายหุ้นบริษัทแอดแว้นนส์ทั้งจำนวน ทำให้ได้รับเงินกลับมา 1,200,000.- บาท (หมายเหตุ : คิดแบบไม่รวมค่าคอมมิชชั่นนะครับ)

กำไรจากการขาย

จากตัวอย่างข้างต้น นายเห่าจะได้รับกำไรจากการขายหุ้นทันที 200,000 บาท โดยกำไรจากการขายที่นายเห่าได้รับจากการขายหุ้นนั้น จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ต้องพิจารณาตามหลักการของกฎหมายดังนี้ครับ

1. กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น “ถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่”
ตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ระบุข้อความไว้ชัดเจนว่า “ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือ โอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน” ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากร

2. เงินได้ดังกล่าวต้องนำมารวมคำนวณภาษีหรือไม่ และมีข้อยกเว้นทางกฎหมายอะไรบ้างหรือไม่
ถึงแม้เงินได้จากการขายหรือโอนหุ้นนี้จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย แต่ทว่ามีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเราไว้อย่างทันท่วงที โดย ข้อ (23) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ”ยกเว้น”รัษฎากร ได้ระบุไว้ว่า “เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร”

ดังนั้น กำไรจากการขายหรือโอนหุ้นที่เราว่ามานั้น ถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี แต่ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้โดยผลของกฎหมาย หรือสรุปง่ายๆ คือ เราไม่ต้องนำกำไรจากการขายหรือโอนหุ้นมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเองครับ

เอาล่ะ… ทีนี้เรามาพูดเรื่องรายได้จากการลงทุนในตัวที่สอง คือ “รายได้เงินปันผล” กันต่อเลยครับ

เงินปันผล

นอกจาก “กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น”  นักลงทุนยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ “เงินปันผล” หรือ ส่วนของกำไร (หลังจากชำระภาษี) ที่บริษัทได้แบ่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆตามสิทธิของแต่ละหุ้น ซึ่งเงินปันผลที่ว่านี้ อาจอยู่ในรูปเงินสด หุ้นปันผล หรือทรัพย์สินอื่นที่มิใช่เงินสด ก็ได้ และการจ่ายเงินปันผลที่ว่านี้จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละบริษัทรวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี (บางทีถ้าไม่มีกำไร เค้าก็ไม่จ่ายให้นะจ๊ะ หรือบางที่มีกำไร เค้าไม่จ่ายก็ไม่ผิดอ่ะจ้า)

ทางเดินเงินปันผล

โดย มาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า “เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว” ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 เช่นเดียวกันกับกำไรจากการขายหรือโอนหุ้นครับ

อ๊ะๆๆๆ แต่ว่า… มาตรา 48 (3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้ให้สิทธิพิเศษสำหรับเงินได้ประเภทนี้ว่า “ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม”

จากข้อกฎหมายที่แสนจะยาวเหยียดข้างต้นนั้น สรุปสั้นๆได้ว่า เมื่อเราได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่ลงทุนแล้ว พวกเรามวลมหาประชานักลงทุน (กรุณาเรียกสั้นๆว่า “เม่า”) จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ

1. ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ให้จบๆไป และไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณภาษี และได้รับสิทธิในการใช้ “เครดิตภาษีเงินปันผล”

เอ่อ.. เดี๋ยวก่อนนะ ว่าแต่ เครดิตภาษีเงินปันผล มันคืออัลไลกันฟระ!!!

เครดิตภาษีเงินปันผล

เครดิตภาษีเงินปันผล หรือ เครดิตเงินปันผล หมายถึง ภาษีที่จ่ายจากกำไรสุทธิไปแล้วครั้งหนึ่งในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล ก่อนที่บริษัทจะนำกำไรสุทธิส่วนที่เหลือมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และเมื่อทางผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผล ยังต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนจากกำไรก้อนเดียวกันนั่นเอง!!!!

004-Div

ดังนั้นกฎหมายจึงให้สิทธิที่จะนำเงินภาษีส่วนที่บริษัทได้จ่ายไปแล้วนั้นกลับคืนมาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ขอภาษีคืน” หรือ “เครดิตภาษี” นั่นเอง โดย มาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดข้อกฎหมายไว้ว่า

“ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด”

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

จากมาตรา 47 ทวิข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ครับ

• ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ข) หมายถึง ผู้ได้รับเงินปันผลที่เป็นบุคคลธรรมดา
• บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หมายถึง เงินปันผลจำนวนนี้ต้องมาจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในไทยเป็นผู้จ่ายเท่านั้น ถ้าเป็นบริษัทในต่างประเทศ ห้ามนำเงินปันผลมาเครดิตภาษีนะแจ๊ะ
• ความในวรรค 3 กล่าวว่า “ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แปลว่า ผู้รับเงินปันผลต้องต้องมีภูมิลำเนาในไทย หรืออยู่ในประเทศไทย (วัดจากการอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในปีภาษีที่ได้รับเงินปันผล)
• อัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ดูได้จากหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย

วิธีคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล

เครดิตภาษีเงินปันผล
เงินปันผล x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล / 100 -อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อคำนวณแล้วต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผลที่ได้รับมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
และนำมารวมเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกจากภาษีที่ต้องเสีย โดย

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ + เงินปันผล = ถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษี
เครดิตภาษีที่คำนวณได้ + ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = ถือเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

เครดิตเงินปันผล

เพื่อความไม่งง ลองมาดูตัวอย่างในการคำนวณเพิ่มเติมกันดีกว่าครับ…

สมมุติว่าบริษัท เอ็นปากเป็ด จำกัด (มหาชน) มีนโยบายจ่ายปันผล ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 100 ของกำไรสุทธิประจำปี โดยในปีนี้กำไรสุทธิก่อนภาษีเงินได้ของบริษัทมีจำนวน 100,000 บาท และบริษัทเสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ทำให้เหลือกำไรสุทธิหลังหักภาษีทั้งหมดเป็นจำนวน 70,000 บาท

วิธีการคำนวณ
100,000 – (30% x 100,000) = 70,000 บาท

สมมุติให้ นายเห่า มนุษย์เงินเดือนกระโหลกกระลาผู้มีเงินได้ปีละ 500,000 บาท (แถมยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเดือนไปแล้ว 18,500 บาท อีกต่างหาก – -“) เป็นผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวของบริษัทฯ ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเท่ากับ 70,000 บาท บริษัทฯจึงจ่ายปันผลทั้งจำนวนแม่มเบยยย (ตามนโยบายบริษัทฯ) โดยการจ่ายเงินปันผลนี้ บริษัทฯจะหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 10 อีกครั้งหนึ่ง ทำให้นายเห่า ได้รับเงินปันผลสุทธิจริงๆแค่ 63,000 บาท

วิธีการคำนวณ
70,000 – (10% x 70,000) = 63,000 บาท

ดังนั้น กำไรของบริษัทเอ็นปากเป็ด จำนวน 100,000 บาท จะถูกหักภาษีไว้แล้วทั้งหมดจำนวน 37,000 บาท ก่อนที่จะถึงมือของนายเห่า โดยนายเห่าจะมี 2 ทางเลือกในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือ!!!!! (เอ่อ… ว่าแต่ทำไมต้องใส่เครื่องหมายตกใจเยอะขนาดนี้)

1. ยอมก้มหน้าก้มตารับเงินปันผลสุทธิ 63,000 บาทแล้วไม่ต้องทำอะไร นอนเกาไหอยู่บ้านเฉยๆ
2. นำรายได้เงินปันผลจำนวน 70,000 บาทมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในการเสียภาษี และคำนวณเครดิตภาษี

เอาล่ะ…เพื่อความชัชชาติ เอ้ย ชัดเจนแบบฝุดๆ เราลองมาดูวิธีการคำนวณเครดิตภาษีเปรียบเทียบกันไปเลยดีกว่าคร้าบบบ ถ้าหากว่า นายเห่าตัดสินใจนำเงินปันผลมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี นายเห่าต้องนำเครดิตภาษีส่วนเพิ่มมาคำนวณ ทำให้รายได้เงินปันผลของนายเห่าจะเพิ่มจาก 70,000 บาท เป็น 70,000+30,000 (เครดิตเงินปันผล) กลายเป็น 100,000 บาทถ้วนนนนี่เองงงงง

วิธีการคำนวณ
70,000 x 30/70 = 30,000 บาท

คำนวณภาษีเงินได้เครดิตเงินปันผล

เมื่อนายเห่าเลือกที่จะนำรายได้เงินปันผลและเครดิตภาษีมารวมคำนวณภาษีเงินได้ร่วมกับเงินเดือน เราจะเห็นว่ารายได้ของนายเห่าเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท ส่งผลให้นายเห่าคำนวณภาษีได้เพิ่มขึ้นกลายเป็น 29,000 บาท จากเดิมที่เสียเพียง 18,500 บาท

คำนวณภาษีเครดิตเงินปันผล

แต่เดี๋ยวก่อนนน… ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่นายเห่ามีนั้น ต้องนำมารวมเครดิตเงินปันผลเข้าไปด้วยน่ะซิ!!! ดังนั้น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของนายเห่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 บาท จากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน , เงินปันผล และเครดิตภาษี ทำให้ จากเดิมที่นายเห่าไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม (เนืองจากหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้พอดี) กลับกลายเป็นได้รับคืนภาษีส่วนเกินจากเงินปันผลและเครดิตภาษีถึง 26,500 บาท ทีเดียวเชียว

เครดิตภาษีเงินปันผล

เราควรเลือกใช้เครดิตเงินปันผลดีไหม

เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นแบบ “ขั้นบันได” นั่นแปลว่ายิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหลักการที่เราจะมาพิจารณาว่าควรจะเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่นั้น ให้ดูจาก อัตราภาษีในฐานสูงสุดที่ต้องชำระ (ก่อนที่จะรวมรายได้เงินปันผล) เปรียบเทียบกับ อัตราภาษีเงินได้ของบริษัทที่จ่ายเงินปันผล (โดยรวม) ถ้าหากอัตราภาษีเงินได้ของเรา ต่ำกว่า อัตราภาษีเงินได้ของบริษัทฯที่จ่ายเงินปันผล แล้ว หมายความว่า เราควรเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผล แทนที่จะยอมให้หัก ณ ที่จ่ายเป็น Final TAX แล้วไม่นำมายื่นแบบแสดงรายการ

หลักการพิจารณาง่ายๆ ในสไตล์ @TAXBugnoms นั้น ผมขอบอกเคล็ดลับไว้เลยว่า ถ้าหากคุณต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่ไม่เกิน 15% การเลือกใช้เครดิตเงินปันผลจะทำให้คุณเสียภาษีน้อยกว่าอย่างแน่นอนครับ (เผลอๆได้คืนด้วยแหละเธอว์)

ตัวอย่างเช่น
1) อัตราภาษีของเราอยู่ที่ฐาน 20% และเงินปันผลที่ได้รับมานั้น บริษัทฯได้เสียภาษีจำนวน 30% ซึ่ง หมายความว่า กำไรของบริษัทฯ 100 บาท ได้ถูกหักภาษีไปแล้ว 30 บาท เหลือเพียง 70 บาทมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งต้องหัก ณ ที่จ่ายอีก 10% คือ 7 บาท รวมทั้งสิ้นแล้วเป็นภาษีที่ถูกหักไป 30 + 7 = 37 บาท หรือ 37% นั่นเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับฐานภาษีของเราที่ 20% แล้ว กรณีนี้เราควรนำรายได้เงินปันผลมารวมคำนวณภาษีเงินได้เพื่อคิดเครดิตภาษีเงินปันผล

2) อัตราภาษีของเราอยู่ที่ฐาน 30% และเงินปันผลที่ได้รับมานั้น บริษัทฯได้เสียภาษีจำนวน 20% ซึ่ง หมายความว่า กำไรของบริษัทฯ 100 บาท ได้ถูกหักภาษีไปแล้ว 20 บาท เหลือเพียง 80 บาทมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งต้องหัก ณ ที่จ่ายอีก 10% คือ 8 บาท รวมทั้งสิ้นแล้วเป็นภาษีที่ถูกหักไป 20 + 8 = 28 บาท หรือ 28% นั่นเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับฐานภาษีของเราที่ 30% แล้ว กรณีนี้เราไม่ควรนำรายได้เงินปันผลมารวมคำนวณภาษีเงินได้เพื่อคิดเครดิตภาษีเงินปันผลครับ

แต่ @TAXBugnoms ขอแนะนำวิธีการที่ง่ายกว่านั้น ในสไตล์หนุ่มไอทีหน้าตี๋มีดีกรีเป็นบล็อกเกอร์ นั่นคือ ลองกรอกข้อมูลในระบบยื่นแบบอินเตอร์เน็ตทั้งสองแบบ เพื่อเปรียบเทียบไปเลยว่าแบบไหนเสียภาษีมากกว่าหรือว่าน้อยกว่า เอาแบบชัดๆไม่ต้องลุ้นให้เสียเวลาทำมาหากิน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเครดิตเงินปันผลเพิ่มเติม

1. ควรพิจารณาประเภทของเงินปันผลด้วยว่า สามารถเครดิตภาษีเงินปันผลได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้ว ในเอกสารที่ส่งมาแจ้งเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น จะมีการแยกไว้ชัดเจนเลยว่า เงินปันผลส่วนไหนที่เครดิตภาษีเงินปันผลได้ และเงินปันผลส่วนไหนที่เครดิตไม่ได้ รวมถึงบอกว่าเงินปันผลนั้นมาจากกำไรส่วนที่บริษัทเสียภาษีกี่ % เพื่อช่วยให้เราสามารถนำไปคำนวณเครดิตภาษีได้ง่ายขึ้นครับ

เครดิตเงินปันผล
2. ในการเครดิตภาษีเงินปันผลนั้น ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับทุกรายการมาคำนวณ ห้ามเลือกเฉพาะบางรายการ เช่น ถ้าเรามีรายได้เงินปันผลจากหุ้น 3 ตัว เราก็ต้องนำรายการเงินปันผล ทั้ง 3 รายการนั้นมาคิดทั้งหมด ไม่สามารถเลือกปฎิบัติเฉพาะตัวที่เป็นประโยชน์ทางด้านภาษีได้นะครับ

ทั้งนี้ … กรมสรรพากรได้มีแนวการตีความมาตรา 47 ทวิ ว่าถ้าเราจะนำเงินปันผลมารวมแล้ว ก็จะต้องนำมารวมทั้งหมดนะครับ จะเลือกเฉพาะเงินปันผลที่เอามารวมแล้วเราได้ประโยชน์ไม่ได้ครับ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 ข้อ 19) ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า “กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นเงินปันผลที่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 11 ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้ ในกรณีเลือกนำไปรวมคำนวณกับ เงินได้อื่น ผู้มีเงินได้จะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่ได้รับเงินปันผลที่ได้รับเครดิตภาษีจากผู้จ่ายหลายราย ผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวที่ได้รับในปีภาษีทุกรายมารวมคำนวณภาษี ไม่สามารถเลือกเฉพาะบางรายนำมารวมคำนวณภาษีเพื่อได้รับเครดิตภาษี”

3. เงินปันผลจากกองทุนรวม ไม่ใช่ เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ตามประมวลรัษฎากรแต่เป็นเงินได้อื่นๆ ตาม 40(8) นะครับ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมข้อแตกต่างระหว่างเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ได้ที่บทความ “ข้อแตกต่างระหว่างเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม” ได้เลยครับ

บทสรุป

รายได้จากการลงทุน

สำหรับเนื้อหาทั้งหมดนี้ สรุปได้สั้นๆ ง่ายๆ สำหรับท่านที่ยาวไปไม่อ่าน ได้อีกทีว่า รายได้จากการลงทุนในหุ้นนั้น มีอยู่ 2 ประเภทคือ “กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น” ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี และ “เงินปันผล” ซึ่งได้รับสิทธิเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเลือกที่จะรวมคำนวณแต่ใช้ “เครดิตเงินปันผล” มาด้วย ซึ่งทางเลือกไหนดีกว่ากันนั้น ให้พิจารณาว่า ถ้าเราเสียภาษีในอัตราที่ “ต่ำกว่า” อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การเลือกที่จะนำมารวมคำนวณ น่าจะประหยัดภาษีได้มากกว่า…

และทั้งหมดนี้คือ บทความพิเศษที่มีชื่อว่า “ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ @TAXBugnoms” ซึ่งบอกตรงๆ ณ จุดนี้เลยว่า บทความนี้เป็นบทความพิเศษที่ยาวที่สุดที่ผมเคยเขียนมา โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าๆ เพื่อหาข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผมหวังไว้ว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่มีรายได้จากการลงทุนและเงินปันผลไม่มากก็น้อยนะครับ

สุดท้ายนี้ถ้าใครเห็นว่า บทความนี้เป็นประโยชน์ ผมคงไม่ขออะไรมาก นอกจากช่วย Like / Share / Tweet และส่งต่อไป (หากไม่เป็นการรบกวน) เพื่อให้กำลังใจคนเขียนบทความตัวเล็กๆคนนี้ ได้มีกำลังใจในการเขียนต่อไปด้วยนะคร้าบบบบบ

สุดท้าย (อีกที) ขอฝากพื้นที่โฆษณาไว้อีกทีนะฮ้าฟฟฟฟ
หากเพื่อนๆพี่ๆน้องท่านใดสนใจเรื่องบัญชี ภาษี การเงิน การลงทุน อย่าลืมแวะมาทักทายตามช่องทางต่างๆกันบ้างนะคร้าบ …

Twitter : https://twitter.com/TaxBugnoms
GooglePlus : https://plus.google.com/117873367965654373553/
Facebook : http://www.facebook.com/TaxBugnoms
Instagram : http://instagram.com/taxbugnoms

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy