fbpx

[ภาษี] ทำธุรกิจอย่างไรให้ประหยัดภาษีแบบฝุดๆ [1]

โพสต์เมื่อ: 26 มิ.ย. 2014

ป้ายกำกับ: , , ,


สวัสดีครับ วันนี้ @TAXBugnoms กลับมาไขข้องข้องใจเรื่องภาษีกับการทำธุรกิจอีกสักครั้ง เพราะมีเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายท่านสอบถามมาทางหลังไมค์ว่า ถ้าจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองทั้งที ควรวางแผนภาษีในรูปแบบไหนถึงจะประหยัดได้ที่สุด

แหม่… อย่างที่เรารู้กันดีครับว่า เรื่องของภาษีนั้นมันแสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน แถมยังมีรายละเอียดมากมายจนทำให้ใครหลายคนสับสนว่า “ตรูจะเอาแบบไหนกับธุรกิจตัวเองดี” หรือ “ธุรกิจตรูต้องเสียภาษีอะไรบ้าง” และสุดท้าย “เราควรจะจ้างผู้เชี่ยวชาญแบบไหนดี”

วันนี้เลยถือโอกาสรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบภาษีต่างๆเกี่ยวกับธุรกิจที่แตกต่างกันมาทำให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ สไตล์บล็อกภาษีข้างถนนสักครั้ง เพื่อจะช่วยจัดการให้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เอาล่ะครับ ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

รูปแบบของธุรกิจ

เรามาว่ากันที่ขั้นตอนแรกกันก่อน คือ ธุรกิจทั้งหลายนั้นล้วนมีรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงรายละเอียดหลายอย่างก็แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ธุรกิจจะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ “บุคคลธรรมดา” และ “นิติบุคคล”

บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย (จบสั้นๆ ง่ายแค่นี้ล่ะครับ!)

นิติบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับ บุคคลธรรมดา

เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันต่อว่า รูปแบบธุรกิจในแต่ละประเภทนั้น ยังมีรายละเอียดย่อยๆลงไปอย่างไรบ้าง

ธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดา

ประเภทที่ 1 : เจ้าของคนเดียว

ธุรกิจเจ้าของคนเดียว คือ ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดย “บุคคล” เพียงคนเดียว ลงทุนประกอบกิจการเพื่อแสวงหา “กำไร” และเป็นผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินงานทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ถ้าหากเราเป็นคนดำเนินการและรับผิดชอบต่อการดำเนินงานทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว มันย่อมหมายความว่า ถ้าธุรกิจของเราได้รับกำไรหรือขาดทุนก็ตาม มันจะมีผลกระทบต่อตัวเราเพียงคนเดียวนั่นเองครับ เรียกได้ว่า เจ็บคนเดียว จบคนเดียว

โดยรูปแบบธุรกิจเจ้าของคนเดียวนั้นมีข้อดีตรงที่ว่า มีลักษณะการบริหารงานที่ไม่ซับซ้อนและอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับเราคนเดียวเท่านั้น

ประเภทที่ 2 : ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล

ห้างหุ้นส่วนสามัญ หมายถึง กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาร่วมลงทุนและดำเนินกิจการร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการทำธุรกิจและรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน ซึ่งคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” เฉยๆนี้จะถือว่ามีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา แต่ถ้ามีคำว่า “จดทะเบียน” ต่อท้ายเมื่อไร จะกลายสภาพเป็นนิติบุคคลทันที

คณะบุคคล หมายถึง รูปแบบธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญแต่ต่างกันตรงที่คณะบุคคลไม่มีวัตถุประสงค์ในการแบ่งปันผลกำไรที่ได้ร่วมกัน โดยเมื่อก่อนนั้น การจัดตั้งคณะบุคคลถือเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่ในปัจจุบันกรมสรรพากรมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเลยทำให้คณะบุคคลไม่สามารถใช้การได้เหมือนเก่า

ธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล

ประเภทที่ 1 : ห้างหุ้นส่วนสามัญแบบจดทะเบียน

ลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่อยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา แต่ต่างกันตรงที่มีการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้นครับ

ประเภทที่ 2 : ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีสภาพเป็นนิติบุคคล โดยประกอบด้วยหุ้นส่วนสองประเภท คือ หุ้นส่วน 2 ประเภท คือ “หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ” และ “หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ” โดยหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบที่ว่านี้ หมายถึง หุ้นส่วนบางคนที่ต้องการจำกัดความรับผิดชอบในด้านหนี้สินของธุรกิจหากเกิดการขาดทุน โดยรับผิดชอบไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ตัวเองลงไปเท่านั้นครับ

ประเภทที่ 3 : บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงเข้าร่วมทุนโดยกำหนดทุนออกเป็นหุ้น รวมถึงกำหนดมูลค่าหุ้นไว้ด้วย โดยผู้ที่ลงทุนในบริษัทนั้น เราจะเรียกว่า “ผู้ถือหุ้น” โดยบริษัทจำกัดนั้นจะมีคำนำหน้าว่า “บริษัท” และคำว่า “จำกัด” ต่อท้ายชื่อ โดยความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจะมีเฉพาะมูลค่าหุ้นส่วนที่ชำระเท่านั้น

จากข้อมูลรูปแบบของธุรกิจข้างต้น ผมได้สรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาในรูปแบบของตารางเพื่อให้ดูง่ายขึ้นดังนี้คร้าบ

สรูปการจดทะเบียนแต่ละรูปแบบ

และแล้ว สำหรับบทความชุด “ทำธุรกิจอย่างไรให้ประหยัดภาษีแบบฝุดๆ” ในตอนแรกนั้น ก็มีเท่านี้ แต่ก่อนจะจากกัน ขอย้ำอีกครั้งว่า รูปแบบต่างๆ ของธุรกิจนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีใครที่สามารถระบุได้ว่าแบบไหนจะดีที่สุด เพราะทุกอย่างนั้นต้องอ้างอิงจาก “วัตถุประสงค์ทางธุรกิจ” เป็นหลัก ว่าเราต้้งใจจะดำเนินการธุรกิจของเราไว้อย่างไรบ้างต่างหาก ดังนั้นอย่าหลงเชื่อว่า ทำแบบนู้นสิ แบบนี้ดีกว่า แต่ให้พิจารณาว่าตัวเองเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจประเภทไหนจะดีกว่าครับ …

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy