fbpx

[ภาษี] 5 ขั้นตอนวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ไทย!!

โพสต์เมื่อ: 11 ส.ค. 2014

ป้ายกำกับ: , , ,


สวัสดีครับ บทความในวันนี้ขอเอาใจคนที่ต้องทำงานในวันหยุดยาวกันสักหน่อย สำหรับบางคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานประจำนั้น อาจจะโชคดีได้หยุดในวันชดเชยนี้ แต่มีอาชีพบางอาชีพที่ทำงานชนิดที่ไม่มีวันหยุด นั่นก็คืออาชีพอิสระทั้งหลาย ที่ต้องพลีกายทำงานเพื่อแลกเงินมาแบบที่เรียกว่า ทำให้ทันให้เสร็จให้ไวถ้าทำได้ถึงจะได้เงิน เฮ้อออ พูดแล้วเพลียๆยังไงก็ไม่รู้สินะครับ

ฟรีแลนซ์(ภาพประกอบจาก : Flickr)

ในวันนี้ @TAXBugnoms เลยขอแนะนำการวางแผนภาษีแบบง่ายๆ สบายๆในสไตล์บล็อกภาษีข้างถนน ที่มีชื่อว่า 5 ขั้นตอนวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ไทย  แบบที่ตอบครบทุกปัญหาในบทความเดียวกันไปเลย เอาล่ะครับ เรามาดูกันดีกว่าว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 1 : สำรวจรายได้ของตัวเองก่อนว่าเป็นเงินได้ประเภทไหน
ตามกฎหมายภาษีที่เรารู้จักกันดีในนามประมวลรัษฎากรนั้นได้แบ่งเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท ซึงถ้าใครอยากรู้ว่ามีเงินได้ประเภทไหนบ้าง แนะนำให้อ่านบทความ “เข้าใจเงินได้ทั้ง 8 ประเภทใน 2 นาที” ก่อนเลยครับ

ทีนี้อาชีพฟรีแลนซ์ที่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับเงินที่มีชื่อว่า “ค่าจ้างทำของ” ซึ่งเจ้าค่าจ้างทำของที่ว่านี้ ต้องพิจารณาให้ดีกว่าเข้าเกณฑ์รายได้ประเภทไหนใน 3 ประเภทที่ว่ามานี้ครับ

รายได้ประเภทที่ 2 หรือรายได้ตามมาตรา 40(2) หมายถึง รายได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งจะเข้าลักษณะของการใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ใช้การลงทุนน้อยและสามารถทำได้คนเดียว โดยรายได้ประเภทนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามกฎหมายคือ ร้อยละ 40 ของรายได้แต่สูงสุดแล้วไม่เกิน 60,000 บาท

รายได้ประเภทที่ 7 หรือรายได้ตามมาตรา 40(7) หมายถึง รายได้จากการรับเหมา ซึ่งผู้รับเหมาอย่างเราๆต้องมีการลงทุนในสัมภาระอื่นๆที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องมือเครื่องใช้ ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงงานรับเหมาก่อสร้างก็ได้ครับ สำหรับรายได้ประเภทนี้จะเลือกหักค่าใช้จ่ายได้สองแบบคือ แบบเหมาในอัตราร้อยละ 70 ของรายได้ และแบบตามจำเป็นและสมควรตามเอกสารหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง

รายได้ประเภทที่ 8 หรือรายได้ตามมาตรา 40(8) หมายถึง รายได้ในเชิงพาณิชยกรรม มีการจัดการสร้างสรรค์งานแบบเต็มรูปแบบ ออกเชิงธุรกิจมากกว่าการรับงานปกติทั้วไป เช่น มีหน้าร้าน มีรายละเอียดงานให้บริการอย่างชัดเจน สำหรับรายได้ประเภทนี้จะเลือกหักค่าใช้จ่ายได้สองแบบคือ แบบเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนด (มีหลายอัตรา) และแบบตามจำเป็นและสมควรตามเอกสารที่หลักฐานที่เกิดขึ้นจริง

ขั้นตอนที่ 2 : เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีที่สูงกว่า (แบบเหมา VS ตามสมควร)
อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า เงินได้บางประเภท เช่น ประเภทที่ 7 และ 8 กฎหมายให้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ เราจึงพิจารณาและเลือกหักตามวิธีที่ได้ลดหย่อนสูงกว่า นั่นแปลว่าถ้าหากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่า เราก็เลือกหักตามจริงเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี หรือไม่งั้นถ้าเราขี้เกียจเก็บเอกสารหลักฐาน การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันครับ

เนื่องจากภาษีเงินได้ของฟรีแลนซ์จะคำนวณอยู่สองวิธี คือวิธีเงินได้สุทธิ ได้แก่ รายได้ หัก ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน กับ วิธีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งนำเงินได้ทั้งหมดคูณด้วย ร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตามกฎหมายภาษีนั้นใจร้ายให้เราต้องเสียตามวิธีที่คำนวณได้ภาษีมากกว่าเท่านั้น

ขั้นตอนที่ 3 : อย่าลืมเรียกเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่ได้รับเงิน
ทุกครั้งที่รับงานและรับเงิน เราต้องได้รับเอกสารสำคัญจากทางผู้ว่าจ้าง นั่นคือ หนังสือเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งให้ตายอย่างไรก็ต้องทวงมาให้ได้ เพราะเราต้องนำมาใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเรา และเผื่อว่าพี่สรรพากรเค้าอยากจะตรวจสอบนั่นเองครับ

ขั้นตอนที่ 4 : ยื่นประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 หรือ 40
ฟรีแลนซ์ทุกคนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์เงินเดือน แถมยังนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน โดยขอยื่นเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หากเพิ่งออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์ หรือถ้าหากเป็นฟรีแลนซ์ดั้งเดิมเราก็สามารถเลือกมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้เช่นเดียวกันครับ

ขั้นตอนที่ 5 : อย่าลืมวางแผนเกษียณด้วย RMF
เนื่องจากฟรีแลนซ์ ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนพนักงานประจำ แต่การวางแผนเพื่อเกษียณนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันโดยวางแผนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยสามารถซื้อได้สูงสุด ร้อยละ 15 ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งขอแนะนำให้วางแผนวิธีนี้เป็นหลักสำหรับอนาคตของเราก่อนครับ ส่วนค่าลดหย่อนประเภทอื่นๆอย่าง LTF, ประกันชีวิต หรือเงินบริจาคนั้น สามารถใช้สิทธิได้ตามปกติตามตารางด้านล่างนี้เลยครับ

ค่าลดหย่อน

หมายเหตุ  : อย่าลืมเรื่องสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ด้วยนะครับ :)
RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ <= 500,000 บาท

สุดท้ายนี้ ขอบอกว่าไม่ว่าจะฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำ เราทุกคนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยทุกคน แต่ยังไงก็ตาม ขับเคลื่อนให้คนอื่นแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาขับเคลื่อนชีวิตตัวเองโดยการวางแผนภาษีด้วยนะคร้าบบบบ

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy