fbpx

นโยบายภาษีใหม่ที่ทุกคนควรรู้ ตอนที่ 2 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โพสต์เมื่อ: 25 พ.ย. 2014

ป้ายกำกับ: , , ,


สวัสดีคร้าบบ กลับมาอีกครั้งในตอนที่ 2 กับเรื่องนโยบายภาษีใหม่ที่ทุกคนควรรู้ ใน ”บล็อกภาษีข้างถนน” กันอีกสักครั้ง โดยวันนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมากอย่างเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันบ้างครับ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่เรื่องแรก คือ “การขยายช่วงเวลาลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับปี 2558” เรื่องที่สอง “การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” และเรื่องสุดท้าย คือ วิธีคำนวณภาษีใหม่ของ “คณะบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ” เอาล่ะเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าแต่ละเรื่องนั้นมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง

การขยายช่วงเวลาลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับเรื่องแรกถือว่าเป็นข่าวดีครับ เพราะว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ที่ใช้สำหรับปี 2556 – 2557 ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 575 นั้นได้ถูกต่ออายุให้ใช้ตามอัตราเดิม ดังตารางด้านล่างนี้ครับ

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2556

และสำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรกนั้นยังคงได้รับยกเว้นเช่นเดิมตามตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 470  คร้าบบบผม ดังนั้นสบายใจได้แล้วนะครับว่า ในปี 2558 นั้นเรายังได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราเดิมอยู่คร้าบบบบ

การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

สำหรับเรื่องต่อมา คือ เรื่องของการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลที่ถูกหักไว้ (ในที่นี่จะหมายถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วยครับ) ซึ่งสามารถขอคืนได้ภายใน 3 ปี หลังจากวันสุดท้ายที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการดังนี้คร้าบ

“มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายืนรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

บุคคลใดที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี แต่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืน ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”

ตัวอย่างเช่น ถ้านายบักหนอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินสำหรับปีภาษี 2557 นายบักหนอมจะสามารถขอคืนได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นั่นเองครับ ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายมาตรานี้ เนื่องจากเดิมมาตรา 63 ได้กำหนดให้ยื่นคำร้องขอคืนได้ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายของปีที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไป ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวขัดกับมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ความขัดแย้งนั้นหมดไป

ดังนั้นท่องจำไว้ง่ายๆว่า …
ถ้าถูกหักภาษีเกินไป ขอคืนได้ภายใน 3 ปีหลังจากวันสุดท้ายที่ยื่นแบบจ้า

วิธีคำนวณภาษีสำหรับ “คณะบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ”

สำหรับเรื่องสุดท้ายนี้ ถือเป็นเรื่องที่สุดฮอตฮิตและกล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวางครับ กับเรื่องของวิธีการคำนวณภาษีใหม่สำหรับใครหลายๆคนที่เคยจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลไว้ เพื่อกระจายรายได้ให้เสียภาษีน้อยลง คราวนี้อาจจะถือเป็นข่าวร้ายเมื่อกฎหมายเรื่องนี้ประกาศใช้ก็ได้นะครับ

ซึ่งการจัดตั้งคณะบุคคลนั้นสามารถประหยัดภาษีได้จำนวนมากครับ สมมติว่าถ้ากิจการแห่งหนึ่งมีเงินได้สุทธิ 4 ล้านบาท แปลว่ากิจการนั้นจะต้องเสียภาษีจำนวน 965,000 บาท แต่ถ้าหากแบ่งออกเป็นคณะบุคคล 4 คณะ ภาษีที่ต้องเสียจะเหลือเพียง 460,000 บาท ซึ่งสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 505,000 บาทนั่นเองคร้าบบบ

ภาษีคณะบุคคล

โดยมาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่คณะบุคคล ที่ระบุไว้ใน ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 90/2557 วันที่ 22 ตุลาคม 2557 นั้นให้รายละเอียดไว้ว่า

กำหนดนิยามใหม่ของ คณะบุคคล คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการที่มีเงินได้พึงประเมินร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ และ นิยามห้างหุ้นส่วนสามัญโดยจะอ้างอิงตามนิยามในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ครับ ซึ่งวิธีการจัดเก็บภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

1)  เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็น วิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริงตามหลักฐาน
2) ไม่อนุญาตให้ใช้ Final TAX คือ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีปลายปีสำหรับ เงินได้ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งแปลง่ายๆว่า ต้องนำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีนั่นเองครับ

คณะบุคคล

รายได้ของคณะบุคคล จะต้องนำมา หารเป็นรายได้ตามสัดส่วนมารวมคำนวณเป็นรายได้ของแต่ละบุคคลแทน โดยไม่ถือว่าคณะบุคคลนั้นมีรายได้และต้องยื่นภาษีอีกต่อไป

1) กรณีคณะบุคคลถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ให้นำภาษีมาเป็นของแต่ละบุคคลตามสัดส่วนเช่นเดียวกันกับรายได้
2) สำหรับรายได้ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ของแต่ละบุคคลหลังจากหารตามสัดส่วนแล้ว สามารถใช้ Final TAX หรือ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีปลายปีได้เหมือนเดิมครับ

ซึ่งผลบังคับใช้นั้นจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีภาษีทถัดจากปีที่กฎหมายประกาศใช้ครับ เช่นกฎหมายประกาศใช้ในปี 2557 ก็จะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ( มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อประกาศใช้บังคับในปี 2558 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ครับ

 

คณะบุคคล

(ขอบคุณภาพประกอบจากดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตรด้วยครับ)


1. กำหนดนิยามใหม่ของคำว่า คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หมายความถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

2. ยกเลิก ข้อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไร จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคลมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (14) ที่กล่าวไว้ว่า… “เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม”

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขโดยยกเลิกการยกเว้นเงินได้จากเงินส่วนแบ่งของกำไร จากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคลมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (14) นั้นเกิดจากมุมมองที่ว่า “เมื่อมีการเสียภาษีซ้ำซ้อนถึง 2 ชั้น จะเป็นการจูงใจทางอ้อมให้ประชาชนเลือกใช้รูปแบบอื่นในการดำเนินธุรกิจแทน” ซึ่งวิธีการแก้ไขดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขที่ “ง่าย” และ “สะดวก” แถมยัง “ตัดจบ” ได้ง่ายๆ

แต่อย่างไรก็ตาม…  @TAXBugnoms หวังไว้แต่เพียงว่านโยบายการจัดเก็บภาษีใหม่ๆนั้นจะเสริมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยแท้จริง ไม่เกิดการเลือกปฎิบัติและยุติธรรมกับทุกฝ่ายนะคร้าบบบ

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy