fbpx

วันนี้ขอเสนอเป็นตอนที่ 2 ในส่วนของรายได้จากการลงทุนในหุ้นที่เรียกว่า เงินปันผล (Dividend) นั้นต้องเสียภาษีหรือไม่?
หากใครเข้ามาเจอตอนนี้เป็นตอนแรกแล้วสงสัยว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ ผมขอแนะนำให้กลับไปอ่านที่ตอนแรกก่อนครับ :D

รายได้จากการลงทุนในหุ้นต้องเสียภาษีหรือไม่ – กำไรจากการขาย (Capital Gain)
http://tax.bugnoms.com/tax/capital-gain-from-investment-should-pay-tax/

.
.

ถ้าอ่านจบแล้ว เรากลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่าครับ
:D

.
.

1. เงินปันผล (Dividend) คืออะไร?

เงินปันผล คือ ส่วนของกำไรที่บริษัทแบ่งจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆตามสิทธิของแต่ละหุ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปเงินสด หุ้นปันผล หรือทรัพย์สินอื่นที่มิใช่เงินสด โดยการจ่ายเงินปันผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละบริษัทและผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี

แต่โดยส่วนมากที่เราได้รับกันนั้น มักจะเป็น “เงินสด” หรือ “หุ้นปันผล” ซึ่งในกรณีของบริษัทฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เราจะได้เอกสารจาก มาดูหน้าตาเอกสารเงินปันผลที่เราได้รับกันก่อนนะครับ ว่าเป็นอย่างไร

.

(คลิกที่ภาพเพื่อดูรูปใหญ่นะครับ)

.

.

ส่วนที่ต้องสนใจในกระดาษแผ่นนี้มีดังนี้ครับ

ส่วนที่ 1 : วันที่จ่ายเงินปันผลและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้

ในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลวันที่จ่ายเงินปันผลและ เลขประจำผู้เสียภาษีของคนที่จ่ายเงินปันผลให้ ซึ่งหากเราจะนำไปยื่นแบบแสดงรายการแล้ว ต้องใช้ข้อมูลตรงส่วนนี้ไปกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ด้วยครับ

ส่วนที่ 2 : ข้อมูลการจ่ายเงินปันผล

ในส่วนนี้เป็นข้อมูลการจ่ายเงินปันผลว่าบริษัทฯที่จ่ายเงินปันผลให้เรานั้น เป็นเงินปันผลประเภทไหนบ้างครับ และเงินปันผลที่จ่ายนั้นเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัท “หลังจากชำระภาษี” แล้ว ในอัตราเท่าไรบ้างครับ

ส่วนที่ 3 : จำนวนเงินที่จ่ายและภาษีที่หักและนำส่งไว้

จำนวนเงินที่จ่าย หมายถึง จำนวนเงินปันผลที่บริษัทฯได้จ่ายจริง (ก่อนที่จะหักภาษี ณ ที่จ่าย) ซึ่งเราต้องนำจำนวนเงินนี้ไปกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ด้วยครับ

:D

ภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้ – ปกติแล้วเงินปันผลจะถูกหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 10% ของเงินปันผลครับ แต่จะมีบางรายการที่ไม่ถูกหักเงินปันผล เช่น เงินปันผลที่จ่ายจากบริษัทที่ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผลก็จะได้รับยกเว้นด้วยครับ (ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย) และไม่มีสิทธิเครดิตภาษีครับ

.
.

2. รายได้จากเงินปันผล ต้องนำมาคำนวณภาษีหรือไม่และอย่างไร?

สำหรับรายได้เงินปันผลที่เราได้รับกันนั้น ตามมาตรา 48 (3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรได้กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า

ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม

ซึ่งจากข้อกฎหมายจะสรุปได้ว่า เมื่อเราได้รับเงินปันผล เราจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทางก็คือ
1. ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และเลือกไม่นำมารวมคำนวณภาษี
2. นำมารวมคำนวณภาษี โดยได้รับสิทธิในการใช้ “เครดิตภาษีเงินปันผล” ซึ่งรายละเอียดของเจ้าเครดิตภาษีที่ว่านี้ จะพูดในตอนท้ายของเรื่องนี้ครับ

ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กันก่อนครับ

บริษัท เอ็นปาก จำกัดมีนโยบายจ่ายปันผลเป็นกำไรสุทธิทั้งหมดของบริษัท และมี นาย ก เป็นผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวในบริษัทฯนี้

สมมุติว่า ในปีนี้ทั้งปีบริษัททำกำไรได้ 100 บาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 คือเสียภาษี 30 บาท จะเหลือกำไรสุทธิเท่ากับ 70 บาท

วิธีการคำนวณก็คือ
100 – (30% x 100) = 70 บาท

เมื่อบริษัทฯ มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเท่ากับ 70 บาท ทำให้บริษัทฯต้องจ่ายปันผลจำนวน 70 บาท (ตามนโยบายบริษัทฯ) ซึ่งบริษัทฯต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลอีกร้อยละ 10 เท่ากับว่า นาย ก จะได้เงินปันผลสุทธิจริงๆแค่ 63 บาท

วิธีการคำนวณก็คือ
70 – (10% x 70) = 63 บาท

ดังนั้น กำไรของบริษัทฯ จำนวน 100 บาท จะถูกหักภาษีไปถึง 37 บาท ก่อนที่จะถึงมือของ นาย ก

ซึ่งกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเลยครับว่า ถ้าหากเราได้รับเงินปันผลที่ถูกหักภาษี 10% ไว้แล้ว กฎหมายให้เรามีสิทธิเลือกว่าไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้ เพราะได้เรียกเก็บภาษีจากเราไปแล้ว 37 บาท หรือ 37% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้แลัว

แต่ถ้าเรามองมุมกลับกัน ในกรณที่ นาย ก ไม่มีรายได้อื่นเลย นอกจากเงินปันผล นาย ก จะต้องเสียภาษีสูงถึง 37 บาท!!!

ไม่ยุติธรรม
ไม่ยุติธรรม
ไม่ยุติธรรม

:D

ดังนั้น กฎหมายจึงหาแนวทางที่จะบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ที่ได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยอมให้สิทธิในการขอคืนเงินภาษีให้ ที่เรียกว่า “เครดิตภาษีเงินปันผล”

.
.

3. เครดิตเงินปันผล คืออะไร?

เครดิตเงินปันผล คือ ภาษีส่วนที่ทางบริษัทได้เสียไปก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับเรา ดังนั้นเราจึงมีสิทธิที่สามารถเอาเงินส่วนที่บริษัทหักไว้นั้นกลับคืนมาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ขอภาษีคืน” หรือ “เครดิตภาษี” นั่นเองครับ

ซึ่งตามมาตรา 47 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ว่า

ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ครับ
1. ผู้ที่ได้รับเงินปันผลต้องนำมาคำนวณเครดิตภาษีตามสูตรการคำนวณดังนี้

เครดิตภาษี = เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล / 100 – อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

หรือถ้าไม่อยากคำนวณ ผมสรุปอัตราเครดิตภาษีมาให้แล้ว ตามนี้ครับ

อัตราเสียภาษี 15% อัตราเครดิตภาษีที่ใช้คำนวณ 15/85
อัตราเสียภาษี 20% อัตราเครดิตภาษีที่ใช้คำนวณ 20/80
อัตราเสียภาษี 23% อัตราเครดิตภาษีที่ใช้คำนวณ 23/77
อัตราเสียภาษี 25% อัตราเครดิตภาษีที่ใช้คำนวณ 25/75
อัตราเสียภาษี 30% อัตราเครดิตภาษีที่ใช้คำนวณ 30/70

2. ให้นำเครดิตภาษีที่ได้รับ มารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
3. ให้นำเครดิตภาษีจำนวนดังกล่าว มาหักกับภาษีที่ต้องเสีย

ข้อสังเกต: กรณีเครดิตภาษีเงินปันผลนี้ให้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติหมดสิทธิ์นะคร้าบ

.
.

กลับมาดูตามตัวอย่างข้างต้นที่ยกมานี้ นาย ก จะมี 2 ทางเลือกในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ครับ
1. ยอมก้มหน้าก้มตารับเงินปันผลสุทธิ 63 บาทแล้วไม่ต้องยื่นภาษีใดๆทั้งสิ้น
2. นำเงินปันผลจำนวน 70 บาทมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในการเสียภาษ๊ และคำนวณเครดิตภาษี

ทีนี้เราลองมาดูวิธีการคำนวณเครดิตภาษีกันครับ

ถ้า นาย ก ตัดสินใจนำเงินปันผลมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี โดยต้องนำเครดิตภาษีส่วนเพิ่มมาคำนวณดังนี้

วิธีการคำนวณตามสูตรที่ว่าก็คือ
70 x 30/70 = 30 บาท

ดังนั้นรายได้ของ นาย ก จะเพิ่มจาก 70 บาท เป็น 70+30 = 100 บาท

และภาษีของ นาย ก ก็จะเพิ่มจากภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 7 บาท เป็น 30+7 = 37 บาท

ดังนั้นในกรณีที่ นาย ก ไม่มีรายได้อื่นที่ต้องคำนวณภาษี นาย ก จะได้ภาษีคืนกลับมาทั้งสิ้นจำนวน 37 บาท ซึ่งจะเท่ากับภาษีที่ นายก ได้เสียไปทั้งสิ้น และเมื่อรวมกับรายได้สุทธิที่ได้รับ คือ 63 บาทแล้ว ก็เท่ากับว่า กำไรสุทธิของบริษัทฯจำนวน 100 บาทนั้น นาย ก ได้รับส่วนแบ่งกลับมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเองครับ

.
.

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างนี้อาจจะดูหวานหมูเกินไป และไม่สมจริงในทางปฎิบัติ เนื่องจากรายได้และภาษีที่ต้องเสียตามตัวอย่างนี้มีจำนวนน้อย แต่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อให้เข้าใจหลักการง่ายๆในการคำนวณเครดิตภาษีครับ หากสนใจจะอ่านเพิ่มลองอ่านได้ตามตัวอย่างในลิงค์นี้ครับ

เครดิตภาษีเงินปันผล
http://tax.bugnoms.com/tax/dividend-tax/

ทีนี้เรามาดูข้อสังเกตเพิ่มเติมกันอีกสักนิดครับ
1. เงินปันผลจากกองทุนรวมทั้งหลาย ไม่ใช่ เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) ตามประมวลรัษฎากรแต่เป็นเงินได้อื่นๆ ตาม 40(8) นะครับ

สามารถอ่านเพิ่มเติมตามลิงค์นึ้นะครับ

ข้อแตกต่างระหว่างเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
http://tax.bugnoms.com/tax/type-of-dividend/

2. กรมสรรพากรได้มีแนวการตีความมาตรา 47 ทวิ ว่าถ้าเราจะนำเงินปันผลมารวมแล้ว ก็จะต้องนำมารวมทั้งหมดนะครับ จะเลือกเฉพาะเงินปันผลที่เอามารวมแล้วเราได้ประโยชน์ไม่ได้ครับ

อ่านรายละเอียดได้ตามลิงค์นี้ครับ (ข้อ 19)
http://www.rd.go.th/publish/11162.0.html

3. เงินปันผลที่จ่ายจากบริษัทที่ได้รับสิทธิ BOI และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินปันผลก็จะได้รับยกเว้นด้วยครับโดยไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่มีเครดิตภาษีครับ ปกติเราต้องนำมากรอกเป็นเงินได้ในช่อง ยกเว้น แต่จะไม่ถูกนำมารวมคำนวณแต่อย่างใดครับ

อ่านรายละเอียดได้ตามลิงค์เดียวกันนี้คับ (ข้อ 2 วรรค 2)
http://www.rd.go.th/publish/11162.0.html

.
.

หากทุกท่านอยากเข้าใจเกี่ยวกับเครดิตภาษีเงินปันผลเพิ่มเติมแล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำให้อ่านบทความเก่าๆที่เคยเขียนไว้เพิ่มเติมดังนี้ครับ

ประเภทของเงินได้พึงประเมิน (4) – เงินปันผล
http://tax.bugnoms.com/tax/revenue-type-in-thai-code-4/

เราควรเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่
http://tax.bugnoms.com/account/dividend-tax-selection/

สุดท้ายนี้ ผมก็หวังว่าบทความเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไม่มากก็น้อยนะครับ หากมีอะไรผิดพลาดหรือสมควรแก้ไข รบกวนแจ้งข้อมูลให้ผมเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไปนะครับ

หากมีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำอะไร สามารถแนะนำได้ในความเห็นด้านล่างนี้ หรือจะมาคุยกันได้ที่หน้าเพจของ บล็อกภาษีข้างถนน ได้นะครับ

:D

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy