fbpx

ถ้าสรรพากรตรวจสอบข้อมูลธนาคารเพื่อเก็บภาษี เราจะรับมืออย่างไรดี ?

โพสต์เมื่อ: 18 มี.ค. 2016

ป้ายกำกับ: ,


สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms อีกครั้งกับบทความประจำสัปดาห์ที่บล็อกภาษีข้างถนนแห่งนี้ ซึ่งเรื่องราวในวันนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นประเด็นฮอตฮิตที่เห็นในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเมื่อเร็วๆนี้ นั่นคือเรื่องของพี่ๆ “สรรพากร” จะตรวจสอบข้อมูลลูกค้าธนาคาร เพื่อติดตามและจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น (อ่านข่าว : “สรรพากร” เตรียมเช็กข้อมูลลูกค้าแบงก์ ลดภาษีรั่วไหล คาดดึงรายได้เข้ารัฐแสนล้าน)

หลังจากข่าวนี้ออกไปไม่ทันไร สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ หลายคนคงรู้สึกอึดอัดและหวาดกลัวประเด็นนี้กันมากมาย บ้างก็โมโหก่นด่าในโลกออนไลน์ว่าจะ “รีด” ไปถึงไหน ลุกลามไปจนถึงการก่นด่าว่าเอาเงินภาษีไปใช้ประโยชน์ในทางผิด ๆ แต่นั่นก็เป็นสิทธิที่จะแสดงความเห็นกับมาตรการที่เกิดขึ้นได้ ไม่ผิดแต่อย่างใดคร้าบ

แต่สิ่งทีสำคัญของเรื่องนี้!! และเราควรหันมาถามตัวเองดูสักทีว่า “ถ้าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาจริงๆ เราควรรับมือและจัดการมันอย่างไร” ซึ่งกลุ่มคนที่น่าจะเจอปัญหานี้หนักๆ คือ กลุ่มประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ (E-Commerce) หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายที่เป็นบุคคลธรรมดาและมีการรับเงินซื้อขายผ่านบัญชีธนาคารนี่แหละครับ!

ก่อนที่จะเข้าสู่วิธีการจัดการปัญหา ผมอยากจะชี้ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันในเรื่องของการเสียภาษีก่อนครับ นั่นคือกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่าน “ผู้มีรายได้” มี “หน้าที่ต้องเสียภาษี” และ “ยื่นแบบแสดงรายการ” ทุกคนหากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดครับ ซึ่งผมอยากจะแนะนำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องทำความเข้าใจผ่านคลิปรายการ ภาษีสายแข็งในตอนนี้ดูครับ

ลำดับต่อมา เมื่อคนทุกคนมีรายได้ต้องเสียภาษีแล้ว สิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย คือ รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งถ้าหากเรายังไม่เคยเสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนมาก่อน เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลได้จริงๆ สิ่งที่เราต้องเลือกมีอยู่ 2 ทางครับ คือ ทำให้ถูกต้อง หรือ หนีต่อไป

สำหรับคนที่คิดจะ “หนีต่อไป” อันนี้ผมไม่มีสิทธิตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิดในทางความรู้สึกของเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนะครับ แต่สิ่งที่บอกได้แน่ๆ คือ การหนีภาษีและไม่จ่ายเมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้ นั่นแปลว่าเรากำลังทำผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้นหากเลือกทางนี้แล้ว กรุณามั่นใจอย่างหนึ่งครับว่า ต้องรับความเสี่ยงกันเองว่าจะโดนทั้งภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มอย่างไร

ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ การเลือกทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งบทความในบล็อกภาษีข้างถนนตอนนี้ จะมาแนะนำขั้นตอน สั้นๆง่ายๆ  3 ขั้นตอน ที่จะทำให้ธุรกิจค้าขายออนไลน์ของเรานั้นไม่มีปัญหากับทางสรรพากร และถ้าหากทำได้ตามนี้จริง ต่อให้ตรวจสอบลึกล้วงแกะเกาแค่ไหน ผมรับประกันได้เลยครับว่า ปลอดภัยและไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน! เอาล่ะ! เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าคร้าบ

1. การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย สิ่งแรกที่เราทุกคนควรเริ่มต้น ไม่ใช่วิ่งไปจ่ายภาษีหรือไปเคลียร์กับพี่ๆสรรพากร แต่มันคือการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายธุรกิจของเราให้รู้เสียก่อนว่า สินค้าหรือบริการที่เราขายนั้น มีรายได้เท่าไร มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายอะไรบ้างเพื่อที่จะได้รู้ครับว่า กิจการเรามีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้มีหลักฐานและเอกสารถูกต้องในการคำนวณภาษีครับ

ผมแนะนำเคล็ดลับเพิ่มเติมสั้นๆ ครับว่า ต่อจากนี้ไปให้บันทึกทุกรายการที่มีการรับเงินและจ่ายเงินให้ถูกต้องพร้อมจัดเก็บเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน ตรงนี้จะช่วยให้ปัญหาน้อยลงแน่นอนครับ

2. ทำความเข้าใจเรื่องการคำนวณภาษี จริงอยู่ที่ว่า เรื่องภาษีมันอาจจะเป็นเรื่องยากที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ แต่ผมเชื่อว่าหากเราต้องการทำให้ธุรกิจเดินต่อไป เราต้องทำได้ครับ ผมแนะนำให้อ่านบทความเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนไว้เรื่องการเสียภาษีของธุรกิจออนไลน์ ทั้งในบล็อกนี้ และที่ Aommoney.com ครับ ให้ลองศึกษากันครับ

– ขายของออนไลน์ เค้าเสียภาษีกันยังไง? [1]
– ขายของออนไลน์ เค้าเสียภาษีกันยังไง? [2]
– วางแผนภาษีแบบ Step By Step สำหรับธุรกิจ “ขายของออนไลน์”
– ไขทุกปัญหา!! ภาษีขายของออนไลน์

โดยสรุปแล้ว หากทำธุรกิจซื้อมาขายไปในรูปแบบบุคคลธรรมดา จะมีภาษี 2 เรื่องหลักๆที่เกี่ยวข้องกับเรา นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยผมขอยกตัวอย่างในกรณีที่ต้องเสียภาษีจำนวนมากที่สุด ของธุรกิจซื้อมาขายไป 3 ธุรกิจ ที่มียอดขาย 1 ล้านบาท, 3 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท ให้ลองดูครับ

TAXNF

เห็นไหมครับว่า ภาษีที่แต่ละกิจการต้องเสียนั้นไม่ได้มากเลยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับ และไม่ได้มากเลยหากเทียบกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสูงสุด 4 เท่าที่สรรพากรจะตรวจสอบเจอ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากบางคนมีรายการค่าลดหย่อนต่างๆ หรือมีภาษีซื้อที่ได้รับมาจากตอนซื้อสินค้ามาขาย ก็จะยิ่งเสียภาษีทั้งสองตัวนี้น้อยลงครับ

3. จดทะเบียนต่างๆ ที่สำคัญกับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากกิจการของเรานั้นมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีแล้ว เรามีหน้าที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีก็ต้องรีบไปจดทะเบียนที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่กิจการของเราตั้งอยู่ครับ หรือทำการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อแสดงความชัดเจนในการประกอบกิจการ

สำหรับขั้นตอน 1-3 นี้ ถ้าหากคิดว่าตัวเองจะมีปัญหาหรือยังไม่เข้าใจ ผมอยากแนะนำให้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่สรรพากรโดยตรงเลย หรือหาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่สามารถบอกได้ว่าเราต้องจัดการภาษีและวางแผนด้านนี้ให้ถูกต้องได้อย่างไรครับ

ก่อนจะจากกันไป ผมขอย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความอีกครั้งนะครับว่า บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อต้องการชี้แจงวิธีการเสียภาษีและจัดการบัญชีที่ถูกต้องสำหรับคนที่ทำธุรกิจ ให้เตรียมตัวรับมือพร้อมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหากมีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ เพราะสิ่งที่เราทุกคนต้องทำ คือ การปรับตัวเพื่อทำสิ่งที่ถูกต้องครับ และใครที่เริ่มปรับตัวได้ไวกว่า ก็แปลว่าคนนั้นย่อมมีโอกาสที่ดีกว่าครับ

ส่วนคำถามที่ว่า รัฐทำไมทำแบบนี้ / จะเอาข้อมูลเราไป / จะรีดภาษี / ขัดรัฐธรรมนูญ หรืออะไรต่างๆ ผมคงตอบไม่ได้ครับว่าเป็นเพราะอะไรและเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นในอนาคต ดังนั้นสุดท้ายนี้ผมขอยกคำพูดที่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายคนเคยพูดให้ฟังมาส่งท้ายละกันครับว่า…

ถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร… จริงไหมคร้าบบบ :D

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy