fbpx

เป็นฟรีแลนซ์อย่างนี้… ต้องวางแผนภาษีที่ “เงินได้” ให้เรียบร้อยก่อน!!

โพสต์เมื่อ: 12 พ.ค. 2016

ป้ายกำกับ: ,


สวัสดีครับ กลับมาพบกับ “บล็อกภาษีข้างถนน” และผม TAXBugnoms เจ้าเก่ากันอีกครั้ง สำหรับบทความในวันนี้มีคำถามที่แฟนเพจส่งข้อความมาสอบถามทางหลังไมค์ว่า “หนูทำอาชีพอิสระ จะเสียภาษียังไงคร๊ะ” ซึ่งผมเคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความเก่าๆหลายครั้งเหมือนกันครับ ถ้าหากใครสนใจเรื่องนี้อย่างละเอียด ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านบทความเหล่านี้ครับ

5 ขั้นตอนวางแผนภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ไทย
– 3 เคล็ดลับวางแผนภาษีและการเงินสำหรับฟรีแลนซ์สำหรับตลอดปี 2016!

แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผมพบว่านอกจากความเข้าใจในเรื่องการคำนวณภาษีแล้ว มันยังมีจุดกำเนิดอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น นั่นคือ การจัดประเภทรายได้นั่นเองครับ ซึ่งผมมักจะย้ำอยู่เสมอว่า การจัดประเภทรายได้นั้น จะทำให้เราเสียภาษีได้น้อยลง (อ่านเพิ่มเติมที่บทความในซีรีย์ ภาษีง๊ายง่าย)

เอาล่ะครับ… ลองมาดูตัวอย่างจากหนังสือ ฟรีแลนซ์101 กันสักหน่อยดีกว่าครับว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ?

FReelance

 

จากตัวอย่างจะเห็นใช่ไหมครับว่า ประเภทรายได้ที่แตกต่างกันนั้น จะทำให้การหักค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น ใครหลายคนใช้วิธีการจัดประเภทให้รายได้ของตัวเองนั้นไปอยู่ในกลุ่มที่หักค่าใช้จ่ายได้มากๆ เช่น รายได้ประเภทที่ 7 (รับเหมา) และ 8 (พาณิชย์) แต่ปัญหาก็คือการพยายามจัดรายได้ให้เข้าประเภทนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า!!

บทความในวันนี้เลยเป็นการสรุป ประเภทรายได้ของฟรีแลนซ์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยผมได้ทำแผนผังแบบสั้นๆง่ายมาให้ดูกันครับว่า รายได้แต่ละประเภททางภาษีนั้นมีเงื่อนไขในการพิจารณาอย่างไรบ้าง

Freelance-1

จากรูปแผนผังข้างบนนี้ สังเกตเห็นใช่ไหมครับว่า เมื่อเราเรียกตัวเองว่า “ฟรีแลนซ์” แล้ว สิ่งที่เราต้องถามตัวเอง คือ การทำงานอิสระของเรานั้นเข้าข่าย “วิชาชีพอิสระ” (เงินได้ประเภทที่ 6) ที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด 6 ประเภทนี้ คือ แพทย์ – ทนายความ – บัญชี -วิศวกรรม – สถาปัตยกรรม – ประณีตศิลป์ ซึ่งลักษณะของงานนั้น เราต้องใช้ความถนัดทางวิชาชีพที่ว่าเข้าด้วย เช่น ถ้าหากคุณเป็นแพทย์ ที่ไม่ได้เปิดคลินิกเอง แต่ทำงานเป็นคุณหมอรับเงินเดือนในโรงพยาบาลตามปกติ แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นวิชาชีพอิสระ แต่จะถือว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนตามเงินได้ประเภทที่ 1 แทนครับ (อ่านเพิ่มเติม : เป็นหมอ.. เสียภาษีมากกว่าที่คิด : วิธีวางแผนภาษีสำหรับแพทย์)

เมื่อไม่ใช่ “วิชาชีพอิสระ” แล้ว เรามาดูกันต่อครับว่า แล้วงานของเรานั้นมันมีลักษณะเป็น “พาณิชยกรรมเต็มรูปแบบ” (เงินได้ประเภทที่ 8) หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น มีหน้าร้านเป็นหลักแหล่งชัดเจน ใครไปไหนมาไหนเห็นป้ายชื่อร้าน มีการจ้างลูกจ้างอย่างถูกต้อง นำส่งประกันสังคมให้ลูกจ้าง มีอุปกรณ์จดทะเบียนจัดตั้งต่างๆ และโดยรวมแล้วการทำงานของเรานั้นต้องมีต้นทุนในการประกอบกิจการสูง (อันนี้ผมตีความเองว่าประมาณ 50% ขึ้นไปนะครับ ถึงจะเข้าข่าย – TAXBugnoms)

แต่ถ้าหากไม่ใช่ทั้งวิชาชีพอิสระ และ พาณิชยกรรมเต็มรูปแบบแล้ว ต่อมาสิ่งที่เราต้องดูก็คือ แล้วงานของเรานั้นมันเข้าข่ายเป็นการ “รับเหมา” (เงินได้ประเภทที่ 7) หรือไม่ ซึ่งคำว่ารับเหมาที่ว่านั้น กฎหมายจะใช้เป็นคำว่า มีการจัดหาลงทุนสัมภาระส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งผมอยากแนะนำให้นึกถึงการ “รับเหมาก่อสร้าง” ครับ  ที่ผู้รับเหมาของเรามีหน้าที่ต้องจัดหาทั้ง คนงาน เครื่องมือเครื่องใช้ ไปจนถึงวัสดุก่อสร้างต่างๆ (อิฐหินปูนทราย) เรียกได้ว่าครบทั้ง 3 อย่าง คือ แรงงาน + อุปกรณ์ + ต้นทุน ดังนั้นถ้าหากเรามีการจัดหาครบทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่าก็พอจะเข้าข่ายเงินได้ประเภทนี้แล้วครับ

ทีนี้.. ถ้าหากเราไม่ได้เข้าข่ายเงินได้ทั้ง 3 ประเภทที่ว่ามานี้ สิ่งที่เรารู้ตัวดีและทำได้ก็มีแค่ “ทำใจ” ว่าเงินได้ของเราจะเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ต่ำที่สุดคือ 40% ไม่เกิน 60,000 บาท เหมือนเงินได้ประเภทที่ 1 หรือเงินเดือนนั่นเองครับ

ดังนั้น ถ้าหากเราอยากจะย้ายประเภทจากเงินได้ประเภทที่ 2 ที่ว่านี้ไปเป็นประเภทอื่นๆแล้วล่ะก็ เราต้องมาดูต่อครับว่า เราจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขของรายได้แต่ละประเภทหรือเปล่า เช่น จากการรับงานธรรมดา อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นหน้าร้านพาณิชยกรรมให้ชัดเจนขึ้น มีการลงทุนลงแรงมากขึ้น หรือเชื่อมโยงไปยังการจัดหาต้นทุนอุปกรณ์ต่างๆมาใช้ในงานของเราแทนจะให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้จัดหาจะได้ไหม เพื่อจะได้เป็นเงินได้ประเภทอื่นๆที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นครับ

สุดท้ายแล้ว บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพื่อต้องการจะบอกว่า อย่าลืมจัดการและจัดประเภทค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง เพื่อคำนวณภาษีได้อย่างครบถ้วนครับ เพราะถ้าหากเราเลือกประเภทรายได้ของตัวเองผิด อาจจะทำให้เรามีปัญหาชีวิตได้ (หากถูกตรวจสอบ) ในอนาคตแทนนะคร้าบบ

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy