3 ข้อคิด เพื่อไม่ให้คุณยึดติด “วิธีการ” มากกว่า “ความคิด” ในเรื่องเงิน
สวัสดีครับ กลับมาพบกับ TAXBugnoms เจ้าเก่าเจ้าเดิม เพิ่มเติมคือบทความประจำสัปดาห์ใน “บล็อกภาษีข้างถนน” กันอีกครั้งหนึ่งครับ สำหรับวันนี้เป็นเรื่องข้อคิดทางการเงินที่ผมตกผลึกมาได้สักพัก เลยอยากจะมาเขียนบันทึกลงบล็อกไว้ให้อ่านกันครับ
เป้าหมายการเงิน เป้าหมายปีใหม่?
ผมเชื่อว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงมีเป้าหมายด้านการเงินไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเงินเก็บที่เพิ่มขึ้น แผนการลงทุน การใช้จ่าย ไปจนถึงการจัดการระเบียบแบบแผนต่างๆอย่างชัดเจน โดยมุ่งหวังว่าชีวิตเราจะต้องดีขึ้น ดีขึ้นและดีขึ้น ใช่ไหมครับ (ใช่!)
จากประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านการเงิน ตั้งแต่เข้าไปแตะแบบนิดๆ แจมแบบหน่อยๆ ไปจนถึงการลงทุนด้วยตัวเอง ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและถือว่าเป็นปัญหาในตอนนี้ คือ บางคนยังสนใจ “วิธีการ” มากกว่า”ความคิด” ครับ
หรือเพราะวิธีการไม่ได้ทำให้เราเรียนรู้?
ยกตัวอย่างคำถามแนวๆ “วิธีการ” ที่เคยได้ยินอยู๋บ่อยๆ คงจะคุ้นกันดีกับคำถามทำนองว่า “กองทุนไหนดี” “แนะนำหุ้นตัวไหน” หรืออาจจะเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบชัดๆ เลยว่า “ช่วยบอกมาทีเหอะว่าให้ทำยังไงจะได้ทำตามเลย” นั่นแหละครับ
(เราจะรู้ได้ไงว่าทางข้างหน้าชีวิตจะเป็นแบบไหน)
อ่า… แต่ก่อนที่จะอ้าปากด่าผม ยังไงต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า การถามคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ แต่สิ่งที่ต้องคิดหลังจากที่ถามคำถามนี้ นั่นคือ ความเสี่ยงและผลกระทบที่จะตามมาครับ ว่าเรารับผลของมันได้หรือเปล่า และเราต้องการแบบนั้นใช่ไหม?
ลองสมมุติว่า เรากำลังจะเดินทางจากบ้านไปสถานที่แห่งหนึ่งที่เราไม่รู้จัก เราจะหาทางไปยังไงดี?
- เลือกเดินไปเรื่อยๆ เจอใครบนถนนก็ถามทางเขาไป เขาบอกให้ไปไหนก็ไปตาม
- ถามคนที่เชี่้ยวชาญในเส้นทางนั้น แล้วเชื่อเขาอย่างสุดใจ
- หาเองจาก Google Map ค้นหาเส้นทาง เปิดแผนที่
- ทำทุกวิธีร่วมกันแล้วตัดสินใจ
- ฯลฯ
เห็นไหมครับว่า อันที่จริงแล้วหนทางในการไปสู่เป้าหมายมันมีมากมายซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการในการค้นหาคำตอบของแต่ละคน ซึ่งถ้าหากมันไปถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน คงไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ประเด็นที่ผมกำลังตั้งคำถามคือ แล้วถ้าหากมันผิดขึ้นมา ไปไม่ถึงเป้าหมาย ใครจะรับผิดชอบ คนที่บอกทางผิด คนเชี่ยวชาญที่แนะนำ หรือ เราจะโทษว่าฟ้าดินไม่เป็นใจกันดีล่ะ
การใส่ใจวิธีการมากกว่าความคิด
อาจจะทำให้เราลืมรับผิดชอบตัวเองครับ…
การวางแผนการเงินก็เรื่องเดียวกันกับการเดินทางครับ มันเป็นเรื่องของการทำตามเป้าหมาย ด้วยความคิดที่ถูกต้อง ดังนั้นผมเลยอยากแชร์ประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังครับว่าผมคิดแบบไหนและยังไงกับเรื่องนี้ โดยเขียนมาเป็นขั้นตอน 3 ข้อให้ลองพิจารณากันดูครับ
- หาแหล่งความรู้ที่ถูกจริตกับเรา ข้อแรกสำคัญ เพราะต้องรู้ตัวเองก่อนครับว่า เราชอบแนวทางแบบไหน ทำอะไร และอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าเราเลือกทุนในหุ้น เรายอมรับความเสี่ยงได้ไหม ศึกษาแนวทางของใครมาแล้วรู้สึกว่าอยากเรียนรู้ต่อ ไม่ว่าจแนวคิดแบบไหนจะ VI Technical HyBrid หรือแนวคิดทันสมัยอะไรก็ตาม เลือกให้ตรงตามจริตหรือความต้องการของเราก่อนครับ
- ทำตามอย่างจริงจัง เมื่อดูแล้วเหมือนจะเลือกได้ ผมอยากแนะนำให้ลองทำตามอย่างจริงจัง เพื่อจะเชื่อมโยงกับความรู้ในข้อ 1 ครับ เพราะเมื่อเราทำตามแล้ว บางทีสิ่งที่รู้ว่าตัวเองถูกจริตนั้น มันอาจจะไม่จริงก็ได้ เอ๊ะยังไง ผมยกตัวอย่างเรืองตัวเองให้ฟังละกันครับ
เมื่อก่อนผมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มาก อยากเห็นผลตอบแทนโตไวๆ อยากลงทุนในหุ้นแบบตั้งใจแนว VI กันไปยาวๆ หรือเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แต่พอได้ลงมือทำจริงๆแล้วกลับกลายเป็นว่าความเสี่ยงที่เห็นอยู่นั้นมันไม่ถูกกับจริต จนผมต้องมาทบทวนว่าตัวเองอยากจะลงทุนแบบไหนที่รู้สึก “สบายใจ” และมีความสุขกับการหาความรู้ในการลงทุนนั้นไปเรื่อยๆ และพบว่าจริงๆแล้วผมไมไ่ด้ต้องการผลตอบแทนที่สูงมาก แต่อยากไ้ด้ผลตอบแทนที่รู้สึกสบายๆ และกลับมาตั้งใจทำงานหาเงินดีกว่า เลยทำให้ช่วงหลังเน้นไปที่การจัดพอร์ทกองทุนรวมเป็นหลักแทนครับ (ความเห็นส่วนตัวนะครับอย่าลอกเลียนแบบ ฮ่าๆ)
ผมเชื่อว่าเราไม่ต้องเก่งทุกเรื่อง แต่เลือกที่จะเรียนรู้เรืองที่เราสนใจให้เก่งจริงก็พอครับ..
- ทบทวนเป้าหมาย สุดท้าย สิ่งที่ต้องเช็คตลอดคือ หลังจากมีความรู้เรียบร้อยแล้ว ลองทำตามอย่างจริงจังไปเรื่อยๆ เรายังต้องคอยดูว่ามันสอดคล้องกับเป้าหมายไหม เพราะชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆครับ ดังนั้นความรู้การเงินที่มีในวันนี้ อาจจะเปลี่ยนไปเมื่อเราโตขึ้น หรือเก่งขึ้น ซึ่งการทบทวนนี้จะทำให้เรากลับไปวนลูปในข้อ 1 กลับไปศึกษาใหม่ในเรื่องที่เราอยากรู้ แล้ววนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดครับ
นั่นคือหลักการ 3 ข้อที่ผมเลือกใช้สำหรับเรื่องของเงินในปีนี้ครับ ถือว่าเป็นการเล่าประสบการณ์ให้ลองอ่านกันดูครับ โดยแรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้มาจากการได้ร่วมทำงานคอร์สคนไทยฉลาดการเงินหรือ MoneyLiteracy ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้แหละครับ ทำให้ผมต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ถ้าหากใครเพิ่งเริ่มต้นศึกษาความรู้เรื่องการลงทุน การเงิน รวมถึงเรื่องภาษี ผมอยากจะให้ลองดูวีดีโอทั้งหมดนี้ ความยาวประมาณ 12 ชั่วโมงกว่า ครบทุกเรื่องทั้งแนวคิดจัดการการเงินที่ต้องทำครับ ซึ่งสามารถดูฟรีใน Youtube Channel ด้านล่างนี้เลยครับ (คลิปนี้เป็นเรื่องของการวางแผนภาษีที่ผมรับผิดชอบครับ)
สุดท้ายแล้ว ผมหวังว่าแนวคิดที่ผมเขียนในตอนนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับใช้ในการจัดการเป้าหมายการเงินของทุกคนนะครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนสามารถจะจัดการการเงินของตัวเองได้ เหมือนอย่างที่ผมทำได้
และเชื่อครับว่าบางคนอาจจะทำได้ดีกับผมเสียด้วยซ้ำ…