fbpx

กลับมาว่ากันต่อด้วยเรื่องของ การออม การวางแผนภาษี และ มนุษย์เงินเดือนในตอนที่ 4 กันครับ
คราวนี้ผมจะได้เล่าเรื่องพระเอกที่ชื่อว่า “ค่าลดหย่อน” ให้ฟังกันเต็มๆสักทีครับ 

สำหรับตอนที่ 1 – 3 อ่านย้อนหลังได้ที่นี่ครับ

ว่าด้วยเรื่องของ การออม การวางแผนภาษี และ มนุษย์เงินเดือน – ตอนที่ 1
http://tax.bugnoms.com/tax/tax-saving-and-saving-plan-for-salaryman-1/

ว่าด้วยเรื่องของ การออม การวางแผนภาษี และ มนุษย์เงินเดือน – ตอนที่ 2
http://tax.bugnoms.com/tax/tax-saving-and-saving-plan-for-salaryman-2/

ว่าด้วยเรื่องของ การออม การวางแผนภาษี และ มนุษย์เงินเดือน – ตอนที่ 3
http://tax.bugnoms.com/tax/tax-saving-and-saving-plan-for-salaryman-3/

 

เนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำพระเอกตัวจริงของการวางแผนภาษีสำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ไปแล้ว นั่นก็คือ ….

ค่าลดหน่อย (เฮ้ย!!)
ค่าลดหย่อย (เฮ้ย!!!)
ค่ารถผ่อน (เฮ้ย!!!!)
ค่าลดหย่อน (เฮ้ย!!!!!!) / ถูกแล้ววววววว

“ค่าลดหย่อน” คือ รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เหมือนกับประมวลรัษฎากรจะบอกกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราว่า ค่าลดหย่อนนี้คือสิ่งที่ช่วยปลอบใจจากความจริงอันขื่นขมที่ว่า เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่เดือนละ 5,000 บาทจากค่าใช้จ่ายเท่านั้น

TwT

แต่สำหรับ เพื่อนๆที่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้มาแล้ว ย่อมรู้ดีใช่ไหมครับว่าค่าลดหย่อนนั้น มีมากมายหลายประเภท ลดหย่อนตัวเอง ลูก เมีย พ่อแม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน ประกัน RMF LTF ประกันสังคม และเงินสะสมทั้งหลาย รวมถึงค่าบริจาคและอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ฯลฯ เรียกกันได้ว่าเยอะเสียจนเลือกใช้กันไม่ถูกเลยทีเดียว

.
.

ดังนั้น ผมเลยแบ่งประเภทค่าลดหย่อนออกเป็น 5 ประเภท ในสไตล์ของ “บล็อกภาษีข้างถนน” เพื่อให้ชัดเจนไปเลยว่า ค่าลดหย่อนประเภทไหนกันแน่ที่มันเหมาะกับ”มนุษย์เงินเดือน” อย่างเราๆบ้างครับ

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า…

1. ค่าลดหย่อนของตาย (ลดหย่อนส่วนตัว)

คือ ค่าลดหย่อนที่มีเท่าไรก็ใช้ได้แค่นั้น เหมือนกับเป็นของตายสำหรับเรา คือ ยังไงก็ต้องใช้ ไม่ใช้ก็ไม่ได้ (ถ้ามี) แต่ให้สิทธิในการใช้น้อยและคงที่เกินไป จึงไม่สามารถที่จะช่วย “ประหยัดภาษี” ให้กับเราได้

ค่าลดหย่อนประเภทของตายนี้ ได้แก่
– ค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ (ตัวเราเอง)
– ค่าลดหย่อนสามีภรรยาของผู้มีเงินได้
– ค่าลดหย่อนบุตร

2. ค่าลดหย่อนของคนชอบเก็บเล็กผสมน้อย (ลดหย่อนเพื่อการออม)

คือ ค่าลดหย่อนเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้มีเงินได้ และการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการออมเงินระยะยาวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งค่าลดหย่อนประเภท ยิ่งออมมากยิ่งได้สิทธิลดหย่อนมาก (แต่ต้องไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดนะครับ)

ค่าลดหย่อนของคนชอบเก็บเล็กผสมน้อยนี้ ได้แก่
– เบี้ยประกันชีวิต
– การออมเงินประเภทจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ
– เงินสะสมค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
– เงินสะสมค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
– เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
– เงินสมทบกองทุนประกันสังคม

3. ค่าลดหย่อนของคนดีศรีสังคม (ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูและบริจาค)

คือ ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นคนดี เมื่อคุณเป็นคนดี เราจึงมอบรถเข็น เอ้ย!! ไม่ใช่ เราจึงให้สิทธิลดหย่อนภาษีที่มากกว่าปกติ ไม่ว่าคุณจะเป็น ลูกกตัญญู ดูแลคนพิการ ซื้อประกันให้พ่อและแม่ รวมถึงการบริจาคเงินให้แก่องค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ก็แล้วแต่โอกาสและจิตศรัทธาของแต่ละท่านครับ

ค่าลดหย่อนของคนดีศรีสังคม ได้แก่
– ค่าลดหย่อนบิดามารดา
– ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ
– ประกันสุขภาพให้แก่บิดามารดา
– ค่าลดหย่อนเงินบริจาคต่างๆ

4. ค่าลดหย่อนสำหรับคนอยากมีบ้าน (ลดหย่อนเพื่อที่อยู่อาศัย)

คือ ค่าลดหย่อนที่เราได้รับ เนื่องจากรัฐเห็นว่าที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของผู้มีเงินได้ ดังนั้นการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองถือว่าเป็น การเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนนั่นเอง

ค่าลดหย่อนสำหรับคนอยากมีบ้าน ได้แก่
– ค่าลดหย่อนภาษีแก่ผู้ที่ซื้อบ้านที่อยู่อาศัยเป็นหลังแรก (นโยบายบ้านหลังแรก)
– ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

5. ค่าลดหย่อนอื่นๆ คือ ค่าลดหย่อนที่ไม่อยู่ในประเภท 1-4

.
.

ทีนี้เพื่อนๆก็ได้รู้จักค่าลดหย่อนทั้งหมดโดยคร่าวๆแล้วนะครับ แต่ผมคงต้องขออนุญาตที่จะเลือกค่าลดหย่อนมาพูดแค่บางประเภทเท่านั้น เนื่องจากบทความ “ว่าด้วยเรื่องของ การออม การวางแผนภาษี และ มนุษย์เงินเดือน” คงจะต้องเน้นหนักเฉพาะ ค่าลดหย่อน ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ สามารถนำมาใช้เพื่อวางแผนภาษี มากกว่าอธิบายความหมายและรายละเอียดของ ค่าลดหย่อน ทั้งหมดนะครับ

เพราะถ้าให้ผมอธิบายค่าลดหย่อนทั้งหมดนี่ ผมว่ารอไปถึงตอนที่ 10 คงยังไม่จบ แถมเพื่อนๆหลายคนคงมาถามว่า แล้วชีวิต (ตรู) จะวางแผนภาษีกันยังไงดีล่ะเนี่ย ทีนี้ หรือไม่ก็ต้องมีบางคนคงเลิกอ่านไปก่อนแล้วล่ะครับ แหะๆ

ที่จริงแล้ว ผมคิดว่า ถ้าเพื่อนๆ รู้จักค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว หลายๆคนก็คงเริ่มที่จะมีไอเดียแล้วว่า มี “ค่าลดหย่อน” อยู่ประเภทหนึ่ง ที่สามารถช่วยให้เราประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยให้เราวางแผนอนาคตที่จะเป็นอิสระทางการเงินได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง “ค่าลดหย่อนที่เป็นการออมเงินระยะยาว” หรือ “ค่าลดหย่อนของคนชอบเก็บเล็กผสมน้อย” นั่นเองครับ

ซึ่งในตอนต่อๆไปนั้น ผมคิดเอาไว้ว่าจะเขียนบทความเจาะลึกถึงวิธีการและปัญหาในการออมเงินระยะยาว เพื่อผลตอบแทนและประหยัดภาษี และแน่นอนครับว่า เพื่อนๆจะได้ทราบถึงแนวทางการวางแผนเกี่ยวกับการซื้อประกันชีวิต, การซื้อ LTF และ RMF ไปพร้อมๆกันครับ

.
.

ท้ายที่สุดแล้ว ก่อนจากกันวันนี้ ผมก็มีเรื่องรบกวนเหมือนเดิมครับ ^^
อย่าลืม Like หรือ Share บทความนี้้สักนิด ก่อนที่จะปิดหน้าจอ แล้วรอพบตอนต่อไป ในอาทิตย์หน้านะครับ

เอาเป็นว่าใครที่ Like หรือ Share ครบทั้ง 4 บทความแล้วล่ะก็
ผมขออวยพรให้หล่อให้รวยให้สวยให้สุข ทุกคนเลยคร้าบ ^^

สำหรับบทความหลังจากนี้ ผมรับรองได้เลยครับว่า
จะทำให้คุณจะมองเห็น “การออมเงิน” และ “การวางแผนภาษี” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

:D

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy