fbpx

ยินดีต้อนรับสู่สังคมไร้เงินสด ที่คนหมดโอกาสหนีภาษี?

โพสต์เมื่อ: 05 ก.ค. 2017

ป้ายกำกับ:


สวัสดีครับ กลับมาพบกับพรี่หนอม TAXBugnoms กันอีกครั้งใน “บล็อกภาษีข้างถนน” วันนี้มีบทความใหม่มาฝากกัน หลังจากที่ห่างหายไปสักพัก วันนี้เลยขอจัดเต็มกับบทความวิเคราะห์เจาะลึกนโยบาย National E-Payment ว่ามีผลกระทบยังไงกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของเราทุกคนครับ

บทความนี้เป็นเพียงแต่การเริ่มต้นเท่านั้นนะครับ ดังนั้นผมจะพูดคุยกันในภาพรวมให้ฟังก่อน เพราะหลังจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจที่มาเล่าให้ฟังกันต่อไปครับผม ถึงเวลาที่เรามาเริ่มต้นกับคำถามแรก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของทุกอย่าง นั่นคือ อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงของการมี National E-Payment ?

เหตุผลที่แท้จริงของการมีนโยบาย National E-Payment

คำว่า National E-Payment หากจะให้แปลตามศัพท์ตรงตัว มันคือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดัน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ขยายวงกว้างขึ้น ร่วมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยนโยบายนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งภาพรวมของระบบทั้งหมดนั้นสามารถสรุปได้ดังภาพนี้ครับ

E-Pay-01

(ภาพประกอบจากเวปไซด์ epayment.go.th)

โดยประเด็นที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นนั้น เริ่มต้นมาจาก 2 ประเด็นหลักๆ เรื่องแรก คือ ระบบป้องกันการเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา หรือ FATCA ที่บังคับกึ่งๆชักชวนให้ ประเทศไทยไทยเข้าร่วมในการรายงานธุรกรรมของคนอเมริกันที่อยู่ในไทยกลับไปให้ตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้ทำให้ทางสถาบันการเงินและภาครัฐเองต้องมองว่าจะช่วยสนับสนุนระบบนี้อย่างไร

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ เศรษฐกิจประเทศไทยและพฤติกรรมของประชาชน เพราะสังคมไทยมีต้นทุนการใช้เงินสดที่สูงมาก ไล่ตั้งแต่การพิมพ์เงิน การเก็บรักษา อย่างที่เห็นคนไปกดเงินตามตู้เอทีเต็มตอนสิ้นเดือนและต้นเดือนนั่นแหละครับ นอกจากนั้นเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมก็มีส่วน เพราะยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เสียภาษีอีกด้วยครับ

มุมมองของพรี่หนอมเห็นว่าสองประเด็นนี้แหละครับ คือ จุดกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ของนโยบายนี้ และเข้าใจว่าทางภาครัฐคงมองว่า ถ้าหากจะต้องมาปรับปรุงชุดใหญ่ขนาดนี้ ระบบการชำระเงินทั้งหมดควรมีการพัฒนาไปจนถึงเรื่องของการจัดการเอกสารต่างๆ ทางด้านภาษี ไปจนถึงเรื่องการดูแลสวัสดิการคนในประเทศนี้กันต่อไปแบบเต็มรูปแบบเลยทีเดียว

ทีนี้ลองมามองในมุมที่ได้รับประโยชน์ของแต่ละฝ่ายกันบ้างครับ (สรุปแบบสั้นๆ) ทั้งทางภาครัฐและประชาชน ดูว่าต่างฝ่ายจะได้รับประโยชน์อะไรยังไงกันบ้าง

ด้านประชาชน : การทำธุรกรรมด้านการเงินมีความสะดวกมากขึ้น ลดต้นทุนและความเสี่ยงในการถือเงินสด ไปจนถึงค่าธรรมเนียม อีกทั้งยังรับเงินจากทางภาครัฐได้มากขึ้น เช่น เงินคืนภาษี เบี้ยยังชีพต่างๆ รวมถึงลดต้นทุนในการจัดการด้านเอกสารต่างๆของภาคธุรกิจ

ด้านรัฐบาล : ภาษีทีเ่พิ่มขึ้น ต้นทุนในการบริหารจัดการเงินที่ลดลง ซึ่งหากเป็นไปได้ตามเป้า จะส่งผลต่อการลด % ภาษีในอนาคต

หมายเหตุ : ในแง่ของหลักการการจัดเก็บภาษีที่ดีนั้น รัฐต้องคำนึงวิธีการในการจัดเก็บได้อย่างทั่วถึงสำหรับคนหมู่มาก ตามหลักการภาษีอากรที่ดีของอดัมสมิธ นั่นคือ จัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง ดีกว่าที่จะเก็บในอัตราสูงแต่เก็บได้น้อยเนื่องจากเก็บแต่เฉพาะคนที่มีรายได้มาก ซึ่งหากนโยบาย National E-Payment สำเร็จได้จริง เราคงจะได้เห็นกันครับ

National E-Payment กับผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับบทความในวันนี้ พรี่หนอมขอหยิบยกเพียงแค่ประเด็นหลักๆ มาให้ดูกันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษีและการใช้จ่าย เพื่อจะได้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงไปที่ชัดเจนขึ้น เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามันมีอะไรบ้าง

1. พร้อมเพย์ หรือ Promptpay ซึ่งหลักการของพร้อมเพย์ คือ การโอนเงินโดยใช้เลขบัตรประจำตัวบัตรประชาชน หรือ เลขโทรศัพท์มือถือแทนเลขที่บัญชีธนาคาร โดยมีค่าธรรมเนียมทีต่ำกว่า

โดยข่าวล่าสุด พบว่า สมาคมธนาคารไทย เผยสถิติของระบบ PromptPay ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีผู้ลงทะเบียนแบบบุคคล 28.3 ล้านราย, นิติบุคคล 30,000 ราย และมียอดโอนเงินผ่าน PromptPay 7.5 ล้านรายการ รวมมูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท (อ้างอิง : สถิติผู้ใช้ PromptPay มีผู้ลงทะเบียน 28.3 ล้านคน, จำนวนธุรกรรม 7.5 ล้านรายการ)

จากประสบการณ์ของผมพบว่าประเด็นที่เป็นปัญหาของพร้อมเพย์นั้น มีเพียงเรื่องหลักๆ คือ การกลัวข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล เช่น เบอร์โทรศัพท์ และ เลขบัตรประชาชน ซึ่งตรงนี้ทำให้หลายคนสับสนประเด็นอยู่ว่า จะเสียความเป็นส่วนตัวหรือโดยตรวจสอบได้ไหม ผมอยากให้ความเห็นสั้นๆ ตามนี้ครับ (ไว้จะเขียนต่อในบทความยาวเรื่องประสบการณ์การใช้งานพร้อมเพย์ของผมอีกทีหนึ่งครับ)

1) พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ ไม่ได้กลัวเบอร์โทรศัพท์รั่วไหลขนาดนั้น ปกติเราให้เบอร์เหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้นข้ออ้างความเป็นส่วนตัวนั้นไม่ใช่ความจริง เพราะไม่มีใครอยู่ๆจะไปตะโกนบอกเบอร์โทรศัพท์หรือเลขบัตรประชาชนพร่ำเพื่อ เราต้องเลือกบอกเฉพาะคนที่ต้องการให้โอนเงินให้และไว้ใจในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าใครบอกว่ากลัวเรื่องของเลขบัตรประชาชนจะรั่วไหลและมีปัญหานั้น ต้องถามกลับว่าแล้วที่สำเนาบัตรส่งไปทางอีเมลล์ การเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องทั้งหลายนั้น ไว้ใจได้ด้วยเหรอ?

2) กลัวสรรพากรรู้ข้อมูลภาษี ประเด็นตรงนี้ผมเขียนไปหลายครั้งในเพจแล้วว่า หากสรรพากรสงสัย สามารถตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีของคุณได้เลยตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว และที่สำคัญกว่านั้น ถ้าคิดในตรรกะเดียวกัน การที่มีบัญชีพร้อมเพย์ถึงจะสามารถตรวจสอบได้ คุณก็ยังสามารถเลือกบัญชีพร้อมเพย์ในการใช้งานได้ด้วยตัวเอง เช่น คุณอาจจะเลือกบัญชีที่ไม่ได้ใช้ประจำก็ได้ ซึ่งตรงนี้ทางภาครัฐไม่ได้มีข้อจำกัดใด ๆ ในการใช้งานครับว่าต้องเป็นบัญชีประจำ หรือใช้งานบ่อย ใครอยากจะเปิดบัญชีใหม่มาใช้พร้อมเพย์ก็ได้ ไม่มีใครว่า

2. เครื่องรูดบัตรรับชำระเงิน หรือ EDC หลังจากที่พร้อมเพย์เริ่มใช้งานได้สักพัก ทางภาครัฐก็จัดแคมเปญตัวนี้ก็ตามมาติดๆ นั่นคือ เครื่องรับชำระเงินแบบ EDC ที่สามารถใช้รูดบัตรเพื่อชำระเงินได้ ให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายสามารถรับชำระค่าบริการผ่านเครื่องนี้ได้ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการลดการใช้จ่ายเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการ

โดยสำหรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการใช้จ่ายนี้ ทางภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนแกมบังคับ ร่วมกับจัดโปรโมชั่นรับรางวัลต่างๆ ตั้งแต่ การหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่ม 100% การออกกฎหมายให้ทุกธุรกิจต้องมีเครื่องรูดบัตรนี้ในการประกอบกิจการ (อ่านเพิ่มได้ที่โพส ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีต้องมีเครื่อง EDC ในเพจ TAXBugnoms ได้ครับ)

นอกจากนั้นยังมีแคมเปญเชิญชวนให้ใช้บัตรเดบิต คือ “รัฐแจก 1 ล้าน แค่รูดบัตรเดบิตซื้อของ” ซึ่งแจกนานเป็นเวลา 1 ปี คิดแล้วน่าจะแจกเงินร่วมๆกว่า100+ ล้านบาท ซึ่งเริ่มทยอยแจกแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งดูแนวโน้มแล้วคิดว่างานนี้น่าจะจัดหนักจัดเต็มอย่างแน่นอนครับผม

Infographic-1-01-99(ภาพประกอบจากเวปไซด์ epayment.go.th)

สำหรับเรื่องนี้ผมมีแนวคิดจะเขียนบทความยาวแยกออกมาให้อ่านต่างหากเช่นเดียวกันครับ ซึ่งมีประเด็นและผลกระทบหลายๆอย่างที่น่าสนใจ ยังไงอย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ

3. นโยบาย E ทั้งหลาย อันได้แก่ E-TAX invoice E-Receipt และ E-Witholding TAX จากมุมมองส่วนตัว ผมมองว่าตัวที่ 3 นี้แหละ คือตัวเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการด้านภาษีของธุรกิจไทย และเป็นตัวที่ผมพูดอยู่บ่อยๆ พร้อมกับเน้นเสมอครับว่า ตัวนี้แหละคือประเด็นที่สำคัญจริงๆ และมีผลกระทบแบบหนักหน่วงกับธุรกิจอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเล่นเอาสองตัวก่อนหน้านี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ สิวๆ ไปเลยล่ะครับ เพราะกลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาในช่วงที่ 3 ของโครงการ นั่นคือ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นั่นเองครับ

สำหรับกลุ่มนี้จะกระทบในเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผมสรุปให้ง่ายๆก่อนครับว่า ไอ้แต่ละตัว “อี” ที่ว่านั้น มันคืออะไร และมีผลกระทบยังไงบ้าง

1) ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นเอกสารเพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำใบกำกับภาษี โดยสามารถนำส่งข้อมูลให้กับลูกค้าและสรรพากรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งต้องจัดทำตามเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนด

ปัจจุบันยังมีระบบ e-Tax invoice By Email สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถนำส่งข้อมูลผ่านอีเมลล์ให้กับลูกค้าได้ ภายใต้ข้อกำหนดของกรมสรรพากรเช่นเดียวกันครับ

2) ส่วน e-Witholding Tax นั้นจะเป็นในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ธุรกิจสามารถมอบหมายให้ทางธนาคารดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีอิเล็กทรอนิกส์และชำระภาษีให้กรมสรรพากรโดยตรง โดยที่ไม่ต้องมานั่งจัดทำเอกสารภาษีหัก ณ ทีจ่ายอีกต่อไป

สำหรับเรื่องนี้ ผมจะมีบทความยาวอธิบายให้ฟังอีกครั้งหนึ่งเหมือนกันครับ รับรองว่าละเอียดกว่าทุกที่ที่เคยได้อ่านมาอย่างแน่นอนครับผม เพราะเรื่องนี้ต้องเจาะประเด็นกันครั้งใหญ่เลยล่ะครับ

สรุปผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ภาพรวมของ National E-Payment นั้นมีผลกระทบโดยตรงกับการใช้เงินสดของบุคคลธรรมดา และต้องมีการจัดการต่างๆ ในรูปแบบใหม่มากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครับ แต่ถามว่าจะสำเร็จหรือไม่ มันอยู่ที่ว่าคนไทยทั้งประเทศนั้นจะมีการตอบรับอย่างไรกับเรื่องนี้มากกว่า

อยากให้ลองคิดภาพตามผมดูนะครับว่า ถ้าหากนายบักหนอมจะโอนเงินให้เพื่อน จากเดิมที่ต้องขอเลขบัญชีธนาคารและโอนต่างสาขาจะเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารก็จะประหยัดลงด้วยการบอกเลขประจำตัวบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์แทน เพื่อความสะดวกและลดค่าธรรมเนียม

หรือถ้านายบักหนอมจะไปซื้อของจากร้าน TAXBugnoms ที่มีเครื่อง EDC ประจำการ นายบักหนอมก็สามารถที่จะรูดซื้อผ่านบัตรเดบิตได้ทันที โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินสดให้เสียเวลา

แถมในแง่ของภาคธุรกิจอย่างร้าน TAXBugnoms ก็สามารถออกใบกำกับภาษีในระบบอิเล็กทรอนิคส์ มีการส่งข้อมูลหัก ณ ที่จ่ายผ่านทางธนาคาร โดยที่ไม่ต้องจัดทำเองให้เสียเวลา

แน่นอนว่าความสะดวกสบายที่มานี้ มันเหมือนจะทำให้ชีวิตดีขึ้นในทางหนึ่ง แต่มันย่อมตามมาด้วยข้อมูลทั้งหมดที่จะเข้าสู่ในระบบของภาครัฐ ตามวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนต่างๆอย่างที่ว่ามา และแน่นอนว่าเพื่อการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผมยังเชื่อว่าภาษีที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ได้มาจากการตรวจสอบข้อมูล แต่มันมาจากข้อมูลในระบบที่ทำให้คนเสียภาษีได้ง่ายและสะดวกขึ้นมากกว่า

ทีนี้คำถามสุดท้าย คือ แล้วสังคมเราพร้่อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ เราจะยินดีต้อนรับสังคมไร้เงินสดที่ทำให้ใครหลายคนหมดโอกาสหนีภาษี และเปลี่ยนสภาพมากลายเป็นคนดีที่เสียภาษีอย่างถูกต้องให้กับประเทศต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าจะเป็นแบบเดิมต่อไปก็พอแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคำตอบจะออกมาในรูปแบบไหน ผมหวังว่าสิ่งที่ผมเขียนนั้นจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือมากขึ้นนะครับ เพราะในตอนนี้มันคงหมดเวลาแล้วล่ะครับที่เราจะมาบ่นด่า หรือต่อต้านนโยบายต่างๆ เพราะว่าเราไม่มีสิทธิจะต่อต้าน เอ้ย ไม่ใช่ครับ เพราะเรานั้นมีหน้าที่ปรับตัวยอมรับสิ่งใหม่ๆ ด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างในทุกวันนี้

และผมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเกิดขึ้นจริงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งนะครับ…

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy