fbpx

ทำไมนักวิชาการถึงมีความเห็นให้ยกเลิก LTF ?

โพสต์เมื่อ: 18 เม.ย. 2018

ป้ายกำกับ: , ,


เนื่องจากกฎหมายใหม่หลายฉบับ มาจนถึง กฎกระทรวงฉบับที่ 317  ที่ออกในปี 2559 กำหนดให้กองทุน LTF หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 หรือแปลว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะ ยกเลิก LTF และไม่ให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกต่อไป

ยกเลิก LTFตารางเปรียบเทียบการลดหย่อน LTF แบบเก่ากับปัจจุบัน

โดยเหตุผลที่พรี่หนอมยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยนั้น เนื่องจากได้อ่านข่าวสรุปจากงานเสวนาติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 13 หัวข้อเรื่อง “อัดฉีด เก็บภาษีช่วยใคร” ที่จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านอาจารย์ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แนะนำให้รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อนด้วย LTF เสีย เพราะว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี และส่งเสริมความเป็นธรรมกับผู้ที่มีรายได้น้อยมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หัวข้อ นักวิชาการจี้ รัฐบาลยกเลิกลดหย่อนภาษี ค่าซื้อ LTF ชี้เป็นประโยชน์กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่ยังให้คงสิทธิสำหรับ RMF ต่อไป)

บทความนี้เลยเป็นการแชร์ความคิดเห็นหลังจากที่ได้อ่านประเด็นนี้ บวกด้วยมุมมองส่วนตัวของพรี่หนอมจากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อสรุปว่าทำไมนักวิชาการบางท่านมักจะแนะนำให้ยกเลิก LTF ด้วยเหตุผลอะไร?

แต่ก่อนที่จะอธิบายนั้น ขอแนะนำให้ตัดเรื่องราวประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อนครับ คือ

  • การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ดังนั้นการพูดถึงเรื่องนี้จะไม่เชื่อมโยงเรื่องของการใช้เงินภาษีของภาครัฐ เพราะมันเป็นคนละประเด็นเหตุผลในการยกเลิก LTF และถ้าจะว่ากันจริงๆ เรื่องนี้ต้องไปว่ากันที่วิธีการตรวจสอบการใช้เงินภาษีมากกว่า เพราะหากระบบการตรวจสอบและลงโทษแข็งแกร่งพอ ย่อมจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงไป
  • การวิจารณ์โดยใช้นโยบายอื่นมาเป็นการเปรียบเทียบ เช่น ควรให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นแทนจะดีกว่าไหม ทำไมไม่ให้ค่าลดหย่อนตัวนั้นตัวนี้แทนจะเป็นประโยชน์มากกว่า การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้พูดถึงมุมมองพวกนี้ครับ เพราะมันเป็นอีกประเด็นที่ไม่สามารถเปรียบเทียบการเลือกใช้เงินของใครได้ จึงไม่นำมาพิจารณาครับ

อ้อ… พรี่หนอมขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการยกเลิก LTF หรือไม่ยกเลิก LTF นะครับ โดยส่วนตัวค่อนข้างเฉยๆ เพราะยังไงก็ตามผมคิดว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นหลัก หน้าที่ของเราคือการปรับตัวและจัดการตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้ได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ LTF คืออะไร

เอาล่ะครับ… เรามาเริ่มจากคำถามแรกก่อนว่า LTF นั้นถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งหากเราลองอ่านจากเอกสารเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์นั้นจะบอกว่า LTF ช่วยในการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน (กองทุนรวม) และช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพในระยะยาว

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเราตั้งคำถามต่อคือ  LTF ช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพในระยะยาวหรือเปล่า ซึ่งต้องเปรียบเทียบว่าที่ผ่านมาผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนนี้มีการขาย LTF ที่ครบกำหนดระยะเวลาทันทีหรือไม่ (เช่น ครบ 5 ปีปฎิทินหรือ 3 ปีกับไม่กี่วัน ก็ตัดสินใจขายทันที) หรือส่วนใหญ่เลือกที่จะถือต่อเพื่อสร้างเสถียรภาพจริงๆ ซึ่งถ้าหากคำตอบคือ คนส่วนใหญ๋ในประเทศนี้มีการขาย LTF เมื่อครบกำหนดทันที โดยเฉพาะกลุ่มที่ขายเมื่อครบ 3 ปีกว่าๆตามกฎหมายเก่า คงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างเต็มปาก และถึงแม้ว่าจะปรับมาเป็น 7 ปีปฎิทินก็ตาม หากคนกลุ่มเดิมก็ยังขายเมื่อครบกำหนด 5 ปีเช่นเดียวกัน

นั่นแปลว่าถ้ามีการยกเลิก LTF ขึ้นมา เม็ดเงินส่วนนี้จะไม่เข้ามาสร้างเสถียรภาพให้ตลาดหุ้นต่อไปแล้ว? ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ มันจะหมายความว่าจริงๆแล้ว LTF ไม่ได้ตอบโจทย์ของการสร้างการลงทุนระยะยาวให้กับตลาดหุ้นไทย แต่ถูกใช้เพื่อการลดหย่อนภาษีมากกว่า ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์เริ่มแรกของตัว LTF เองหรือไม่?

จากประเด็นนี้ ถ้าหากภาครัฐมองว่าต้องการกระตุ้นต่อไป เพื่อให้เกิดการลงทุนระยะยาวที่แท้จริง ระยะเวลาในการถือครอง LTF ควรจะต้องยืดออกไปจนเรียกได้ว่ายาวเพียงพอที่จะตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างเสถียรภาพได้จริงๆ อาจจะเป็น 10 ปีขึ้นไป หรืออะไรมากกว่านี้หรือเปล่า ตรงนี้เราต้องหาคำตอบต่อไปครับ

คนจนไม่มีสิทธิซื้อ LTF : วลีเด็ดหรือมายาคติ?

ประเด็นต่อมาซึ่งมักจะเกิดการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง นั่นคือ ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ (หรือคนจน) นั้น ไม่ได้รับประโยชน์จากการซื้อ LTF จริงหรือไม่ พรี่หนอมลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบของมนุษย์เงินเดือน 3 กลุ่มมาให้ดูกันครับ ระหว่าง คนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี คนที่มีรายได้ระดับกลางๆ และคนที่มีรายได้สูงระดับหนึ่งที่ไม่ถึงกลุ่มที่สูงสุด (35%) มาสรุปข้อมูลออกมาตามตารางด้านล่างนี้ครับ

จะเห็นว่าถ้าเราเปรียบเทียบจำนวนเงินที่สามารถซื้อ LTF ได้นั้น แม้ว่าจะอยู่ในฐาน 15% ของรายได้จากเงินเดือนเท่ากันก็ตาม แต่ความเป็นจริงในการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพนั้นจะเห็นว่ากลุ่มคนในกลุ่มแรกที่ไม่ต้องเสียภาษีนั้นไม่สามารถจะซื้อ LTF ได้เต็มวงเงิน และต่อให้ซื้อได้จริงก็แปลว่าจะไม่ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีใดๆ เพราะว่าไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ในขณะที่คนกลุ่มที่ 2 ที่มีรายได้ปานกลางนั้น บางคนอาจจะไม่สามารถซื้อ LTF ได้เต็มจำนวนอย่างที่ต้องการ เนื่องจากอาจจะยังไม่หลุดพ้นเรื่องของการใช้จ่ายดำรงชีพและต้นทุนอื่นๆ แต่ในกลุ่มที่ 3 นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยากที่จะไม่ใช้สิทธิซื้อ LTF ในจำนวนเงินที่น้อยกว่าหรือเท่ากับกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่  1 และแน่นอนว่าคนในกลุ่มนี้ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีใน % ที่มากกว่าจากฐานของอัตราภาษีเงินได้ที่สูงกว่าอีกตัว

หลายคนมาถึงตรงนี้ ก็อาจจะเห็นแย้งว่า ทำไมเราต้องเสียสิทธิด้วยล่ะ ในเมื่อเราทำมาหากินได้มาก สิทธิในการลดหย่อนมากก็ต้องเป็นของเราสิ ส่วนคนที่ไม่รู้จักทำมาหากิน หรือไม่ขยัน ทำไม่ได้ลดภาษีไม่ได้มันก็เรื่องของเขา ซึ่งถ้ามองในด้านของทุนนิยมคงบอกได้เลยว่าคิดแบบนี้ไม่ผิดครับ เพียงแต่หลักการของภาษีมีหน้าที่ในการสร้างความเท่าเทียมของคนที่ไม่มีโอกาส (แม้จะพยายาม) กับลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ (คนมีรายได้มากๆต้องเสียภาษีเยอะ) เพื่อให้สังคมนี้เกิดความสมมาตรมากที่สุดครับ

และจากข้อมูลงานเสวนาในเรื่อง “อัดฉีด เก็บภาษีช่วยใคร” พบว่า ในปี 2555 ถ้าไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อน LTF รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นถึง 8,848.20 ล้านบาท และจากจำนวนคนที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่ใช้สิทธิลดหย่อน จำนวน 284,374 แบบ ถือว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 2.92% ของจำนวนแบบยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อแบบอยู่ที่แบบละ 31,115 บาท ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการใช้สิทธิค่อนข้างกระจุกตัวนะครับ (อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคิดว่าปีที่ยกมาข้อมูลค่อนข้างเก่าไปหน่อยครับ น่าจะมีข้อมูลปัจจุบัน เพราะจำนวนผู้ที่ลงทุนใน LTF น่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นครับ)

ประเด็นนี้พรี่หนอมเคยหยิบมานำเสนอในเดือนกันยายนปี 2560 ครับ ลองอ่านความคิดเห็นเก่าๆของหลายท่านได้ครับว่า มีความคิดต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

 

 

จะเห็นว่าเหตุผลที่ท่านอาจารย์ว่ามา (รวมถึงนักวิชาการหรือนักวิจัยท่านอื่น) จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการกระจายรายได้เท่าเทียมอย่างเป็นธรรม และสิทธิประโยชน์ในการบริหารจัดการภาษีส่วนที่เก็บได้จากการยกเลิกสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย LTF เป็นหลัก ซึ่งถ้าถามว่าเหตุผลที่กล่าวมานั้นผิดไหม พรี่หนอมก็บอกว่ามันก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับเช่นกันครับว่า มีเพียงคนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ (อาจจะเป็นเราหรือไม่ใช่ก็ได้) แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย LTF ได้ด้วยข้อจำกัดที่ว่า

สุดท้ายแล้ว เรามักจะได้ยินคำว่า “อยากเสียภาษีนะ ถ้ารัฐบริหารจัดการภาษีได้ดี ไม่มีคอรัปชั่น” แต่ประเด็นนี้มันอาจจะเป็นการสะท้อนแค่ว่า กระบวนการตรวจสอบคอรัปชั่นหรือเปล่าที่มีปัญหา และมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายในการจัดเก็บภาษี

เพราะถ้าหากวันหนึ่งมี รัฐบาลในอุดมคติที่บริหารจัดการภาษีได้ดี ไม่มีโกงกิน แต่ออกกฎหมายให้คนเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประกาศขอ ยกเลิก LTF ขึ้นมาแบบไม่บอกไม่กล่าว เราเองจะพูดได้เต็มปากหรือเปล่าว่าเรายินดีที่จะเสียภาษีเพิ่มขึ้นอย่างเต็มใจ

… ถึงแม้ว่าจะไม่มีวันนั้นก็๋ตาม

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy