fbpx

ปี 2562 ซื้อ LTF ได้เป็นปีสุดท้าย? #ก็มาดิค้าบบบบบ

โพสต์เมื่อ: 12 ก.พ. 2019

ป้ายกำกับ: , ,


ช่วงนี้มีหลายคนถามเข้ามาว่า ปี 2562 นี้ยังซื้อ LTF ได้อยู่หรือเปล่า? หรือว่าหมดสิทธิประโยชน์แล้ว พรี่หนอมขอตอบชัดๆเลยครับว่า ปี 2562 นี้ยังซื้อ LTF ได้อยู่ครับ เพราะว่าสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่ต่ออายุนั้นสิ้นสุดที่ปี 2562 ตามที่กฎหมายเขาว่าไว้ครับ

เมื่อได้รับคำตอบว่า สามารถซื้อ LTF ในปี 2562 ได้อยู่ หลายคนจะมีคำถามตามมาทันทีว่า แล้วปี 2562 นี้ เราควรจะซื้อ LTF ไหม? กับ กองทุน LTF ที่เราถืออยู่ตอนนี้ควรทำยังไงดี?

ปี 2562 นี้ยังควรซื้อ LTF อยู่ไหม?

จากคำถามที่ว่าควรซื้อ LTF ในปี 2562 ไหม? มันต้องย้อนถามกลับมาว่า แล้ววัตถุประสงค์ในการซื้อ LTF นั้นมาจากอะไรบ้าง? ซึ่งผมรวบรวมมาได้ 3 เหตุผลหลักดังนี้ครับ

1. ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจากการซื้อ LTF โดยสิทธิประโยชน์ตรงนี้จะขึ้นอยู่ว่าอัตราภาษีของเราอยู่ที่เท่าไร (5-35%) ซึ่งความคุ้มค่าที่ว่านี้จะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีสูงสุดของเราครับ

หลายๆคนมักจะแย้งว่า สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจาก LTF นั้นไม่คุ้มค่า ยิ่งเมื่อใช้เงื่อนไขการถือครองใหม่ คือ 7 ปีปฎิทิน (หรือคิดเป็นระยะเวลาถือครองสั้นที่สุดคือ 5 ปีกับ 2 วันโดยประมาณ)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 5% การซื้อ LTF นั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกินปีละ 1% เท่านั้น หรือ ถ้าเราเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 20% เราจะได้ผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกินปีละ 4% (วิธีคิดคือนำอัตราภาษีที่เราเสียสูงสุดมาหารด้วยเวลาประมาณ 5 ปีที่ถือครองครับ)

2. ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุน LTF โดยผลตอบแทนที่ได้รับนั้นมาจากผลการดำเนินการของกองทุนผ่านการดูแลของผู้จัดการกองทุน ดังนั้นถ้าเราเลือกกองทุนดี ผลตอบแทนเด่น เราจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีในข้อ 1 แต่ถ้าเราเลือกกองทุนที่บริหารจัดการไม่ดี เราก็อาจจะเสียประโยชน์จากการลงทุนได้เช่นเดียวกันครับ (การลงทุนมีความเสี่ยง… ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน)

สำหรับเรื่องผลตอบแทนในการลงทุน LTF นั้น ยังมีหลายคนให้ความเห็นแตกต่างไว้ว่า การลงทุนเองในหุ้นรายตัวได้รับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุน LTF เผลอๆ จะคุ้มค่ากว่าการประหยัดภาษีเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่เราจะทำได้หรือเปล่านั้น มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราอีกด้วยครับผม

3. วินัยในการเก็บเงินเพื่อลงทุนระยะยาว เนื่องจากการลงทุน LTF เป็นการลงทุนระยะยาวที่ช่วยให้เราสะสมเงินเพื่อรองรับวัตถุประสงค์บางอย่าง และช่วยสร้างวินัยในการลงทุนให้เราไปพร้อมๆกัน ซึ่งเราสามารถเลือกไม่ขาย LTF ในปีที่ครบกำหนดและถือต่อไปได้ หากมั่นใจว่าตลาดหุ้นในอนาคตจะมีเสถียรภาพหรือมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นครับ

แน่นอนว่าตรงนี้ยังมีแนวคิดขัดแย้งอีกเช่นเคยครับว่า ลงทุนสะสมถือนานๆไปทำไมเล่า เอาเงินที่มีก้อนหนึ่งที่มีมาวนซื้อ LTF สิจ๊ะ (ครบกำหนดแล้วขาย แล้วก็ซื้อใหม่ในปีนั้น) เพื่อลดหย่อนภาษีไปเรื่อยๆดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาสร้างวินัยอะไรหรอกเธอ

จากเหตุผลที่พรี่หนอมเล่ามาทั้งหมด ต้องการบอกว่าในแนวคิดแต่ละแบบนั้นก็มีแนวความคิดแย้งกันอยู่ ซึ่งเราเองต้องรู้ตัวว่า เราเชื่อแบบไหน? แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ทางที่เราเลือกเชื่อนั้นมันคือทางที่ดีที่สุดสำหรับเรา แต่ไม่ได้เป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกคน ดังนั้นใครชอบทางไหน เลือกได้เลยครับผม

เราไม่ได้สนใจวัตถุประสงค์การลงทุน
เราแค่กลัวตลาดหุ้นมันตก (โว้ย)

ถ้าเหตุผลในการไม่ซื้อ LTF ของเราคือ คือ กลัวตลาดหุ้นมันตกแล้วเราจะขาดทุน และคนทั้งหลายจะเทขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดจนตลาดหุ้นอาจจะพัง ดังนั้นพรี่หนอมจะให้ดูในข้อกฎหมายก่อนว่า LTF ที่เราซื้อในปี 2562 และก่อนหน้านั้น มันมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง?

ย้อนไปดูข้างบนกฎหมายข้างบนอีกที จะเห็นว่าเดิมกฎหมายได้กำหนด แนวทางการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย LTF ใหม่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป และต่ออายุให้ซื้อจนถึงปี 2562 โดยเพิ่มเงื่อนไขการถือครองให้ยาวขึ้นจาก 5 ปีปฏิทินเป็น 7 ปีปีฎิทิน หรือคิดแบบง่ายๆคือ บวกไปอีก 6 ปีนับจากปีที่ซื้อถึงจะขายได้นั่นเองครับ

ถ้าหากเราถอดรหัสกฎหมายที่ว่าออกมาเป็นภาษาคน มันหมายความว่า LTF ที่เราซื้อตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะสามารถขายได้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ถ้าเป็น LTF ที่เราซื้อก่อนหน้านี้ เช่น ปี 2558 จะขายได้ตั้งแต่ปี 2562 โดยผลจากเงื่อนไขที่แตกต่างของกฎหมายจะทำให้เราเห็นว่ามันมีช่วงระยะเวลาที่ไม่มี LTF ครบกำหนดในช่วงปีนั้นพอดี อยู่ 2 ปี นั่นคือ ปี 2563 และ 2564 เพราะ LTF ที่ซื้อในปี 2559 จะขายได้เมื่อถือไปจนถึงปี 2565 นั่นเองครับผม

นั่นเป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ชัดว่า ในปี 2563 และ 2564 ผลกระทบจากการเทขาย LTF ที่ครบกำหนดนั้นจะน้อยกว่าที่เราคิดไว้ เพราะมันไม่มี LTF ที่ครบกำหนดในช่วงนั้น มีเพียงแค่ LTF ที่ครบกำหนดจากปีก่อนหน้าเท่านั้นครับผม ซึ่งถ้าหากสมมติฐานเรา คือ คนส่วนใหญ่ขาย LTF ทันทีเมื่อครบกำหนด ผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปี 2563 และ 2564 ก็จะมีน้อยมากๆครับ

 

 

แต่จริงๆ การเทขาย LTF นั้น อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นโดยตรงด้วยครับ เพราะจริงๆมันอยู่ที่ว่า “หุ้นที่กองทุน LTF ถืออยู่นั้นมีหุ้นตัวไหนบ้าง” และยังมีเรื่องของสภาพคล่องของกองทุนที่ถืออยู่ด้วยว่า “กองทุน LTF แต่ละกองมีสภาพคล่องในการบริหารจัดการแค่ไหน” ใครสนใจลองดูคลิปที่น้องเอ A-Academy อธิบายไว้ได้นะครับ น่าจะเข้าใจเรื่องการลงทุนใน LTF และกองทุนรวมมากขึ้นครับ

หรือถ้าหากใครสนใจฟังความคิดโดยรวมของพรี่หนอมที่มีต่อการหมดอายุของ LTF ในปี 2562 ก็สามารถฟังข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TAXBugnoms on Podcast ในตอนนี้ครับ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราเชื่อว่ากองทุน LTF นั้นต้องได้รับผลกระทบจริงๆจากเรื่องนี้ คำตอบที่ผมพอจะแนะนำได้ก็คือ ถ้าคุณรู้สึกกลัวก็อย่าซื้อ LTF ในปี 2562 เลยครับ เพราะเราไม่ควรทำอะไรที่เราไม่สบายใจ

เพียงแต่ไม่นึกสงสัยบ้างเหรอครับว่า ทำไมเราถึงซื้อกองทุน LTF ในปี 2559 – 2561 ทั้งๆที่เงินลงทุนก้อนนี้ก็จะได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดหุ้นตกลงจากการไม่ต่ออายุ LTF เช่นเดียวกัน อ่า.. อันนี้ฝากเป็นคำถามไว้ให้ลองเช็คตัวเองอีกทีละกันครับผม

นอกจากขาดทุน แล้วกองทุน LTF จะเป็นแบบไหนยังไงต่อ?

เอาเป็นว่า… ในเรื่องของการตัดสินใจลงทุนก็เอาตามที่แต่ละคนสบายใจ แต่ในแง่ของกฎหมาย การไม่ต่ออายุ LTF นั้น ผมวิเคราะห์ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลายอย่างครับ แต่ขอไล่เรียงจากเรื่องแรกก่อน นั่นคือ หลังจากในปี 2562 เราไม่สามารถซื้อ LTF ต่อได้ในทางกฎหมาย และต่อให้ซื้อได้ก็ไม่ควรซื้อด้วยครับ เพราะถ้าอ้างอิงตามกฎกระทรวง 126 ข้อ 67 ที่เขียนไว้ว่า

(67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เงินหรือ ผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตาม (66) และผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย

แปลกฎหมายออกมาได้ว่า เราต้องถือครอง LTF ให้ครบ 7 ปีปฎิทินก่อนถึงจะขายได้ถึงจะได้รับสิทธิยกเว้นกำไรจากการขาย แต่ถ้าหากเราซื้อกองทุนรวมตามปกติ จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีตั้งแต่แรก ตามกฎกระทรวง 126 ข้อ 32 ครับ

(32) เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

จากข้อกฎหมายทั้งสองข้อที่ว่ามานี้ เห็นว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่นิดๆ ที่บอกว่ากองทุน LTF ไม่สามารถกลายเป็นกองทุนปกติได้ตามข้อจำกัดของกฎหมาย ซึ่งทางเลือกหลังจากการไม่ให้ซื้อ LTF เพิ่มได้นั้น ทางผู้จัดการกองทุนน่าจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ หน่วยลงทุนที่เหลืออยู่ สามารถโอนไปยังกองทุนอื่น หรือ ปิดกองทุน LTF นั้น ตามเหตุผลที่ระบุในหนังสือซี้ชวนครับ

หากอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในปี 2554-2555 พบว่ามีบางกองทุน LTF ที่ทางกลต.ยกเลิกสิทธิในการซื้อ นั่นคือ LTF กลุ่มที่ใช้อนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ คือ กองทุนยังมีอยู่ แต่ซื้อเพิ่มไม่ได้ ซึ่งทางเลือกคือ ให้นักลงทุนถือกองทุนนั้นต่อไปหรือสับเปลี่ยนไปกองทุนใหม่ได้

จากรูปเป็นหนังสือชี้ชวนของกองทุน KSDLTF ครับ

หรือบางทีทางบลจ. อาจจะมีเงื่อนไขให้เลือกไว้ตอนซื้อในกรณีซื้อ LTF ครับว่า หากมีการเลิกกองทุนตามที่ กลต.กำหนด จะให้ทำอย่างไรบ้าง ระหว่าง โอนไปกองทุนใหม่ หรือ ขายคืน

ตามรูปที่แนบมาคือทาง BBLAM ครับ สำหรับการซื้อกองทุน LTF ครับ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของการเลิกกองทุนนั้น จะระบุอยู่ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนนั้นๆ ครับ ถ้าใครอยากรู้ว่ากองทุน LTF ที่เราลงทุนนั้นเป็นแบบไหน สามารถไปดาวน์โหลดมาอ่านได้นะครับผม

จะเห็นว่าโดยสรุปแล้ว กองทุน LTF ที่เราลงทุนอยู่ก็ไม่ได้หายไป แต่มันจะถูกลงทุนในกองเดิมที่มีอยู่ต่อไป หรือให้โอกาสเราย้ายไปกองทุนใหม่ ตรงนี้ก็อยู่ที่แต่ละ บลจ. หรือ ข้อตกลงที่เราเลือกไว้ตั้งแต่แรกนั่นเองครับ ซึ่งถ้าเราอยากรู้ สามารถลองตรวจสอบดูกับทาง บลจ.ที่เรามีหน่วยลงทุนอยู่ได้ครับ

สรุปทั้งหมดอีกที ว่าเราต้องดูอะไรบ้าง?

สรุปทั้งหมดนี้แบบสั้นๆ พรี่หนอมมองว่าหลักการในการเลือกพิจารณาการซื้อ LTF สำหรับปี 2562 นั้น เราต้องดูว่าจริงๆแล้วเราต้องการอะไรจากการซื้อ LTF และเราเชื่อในวิธีการลงทุนแบบไหนกันแน่

เพราะสิ่งที่แย่ที่สุดคือการลงทุนที่ไม่รู้ว่าได้อะไรกลับมา

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy