ทำไมนโยบายยกเลิกสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ถึงทำให้หลายคนมีอาการหัวร้อน?
“เฮ้ย ถามหน่อย แกคิดยังไงกับนโยบายยกเลิก RMF ของพรรค XXX วะ?” เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยปากถามผมขึ้นมา – ในช่วงที่ใกล้เลือกตั้งแบบนี้ ดูเหมือนว่าเขามีหลายเรื่องให้ขบคิดและตัดสินใจมากมาย
“ถ้าจะยกเลิกก็เห็นด้วย ไม่ยกเลิกก็เห็นด้วยเหมือนกันนะ” ผมตอบไปแบบนั้น เล่นเอาเขาทำหน้าเหวอ เหมือนแปลกใจที่คนทำงานด้านภาษีอย่างผมไม่มีความคิดเห็นใดๆต่อเรื่องนี้
“ทำไมวะ เราว่ามันไม่ยุติธรรมมากๆเลยนะ การตัดสิทธิอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่แค่ตัดโอกาสภาษี แต่มันเป็นการตัดโอกาสคน ถ้าวันดีคืนดี เขาอยากยกเลิกสิทธิประโยชน์ตัวอื่นบ้างล่ะ คนเรานะ! แทนที่จะมาดูแลจัดการเรื่องบริหารใช้เงินภาษี กลับจะมาเก็บภาษีเพิ่ม แบบนี้ใช้ไม่ได้” เจ้าเพื่อนคนดีเริ่มมีอาการหัวร้อน และยังกล่าวต่อไปไม่หยุดหย่อน
ผมได้แต่เงียบแล้วยิ้ม… ก่อนที่จะเริ่มต้นอธิบายให้เขาฟัง
ทำความเข้าใจก่อนว่า
รัฐให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้เราไปทำไม?
เอางี้นะ… ถ้าแปลแบบตรงตัวแบบภาษากฎหมายเลย ค่าลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว หรือพูดง่ายๆว่าเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการลดภาษีที่เราต้องเสียลงนั่นเอง
เนื่องจากหลักการคำนวณภาษีนั้น คิดจากเงินได้สุทธิ หรือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี ก็แปลว่าถ้าคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคนไหน มีค่าลดหย่อนมากกว่าคนอื่น ก็จะทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลง ถูกไหม?
หลังจากที่ผมอธิบายประโยคนี้พร้อมกับโชว์ภาพประกอบไป เจ้าเพื่อนคนนี้ก็ทำท่าเหมือนจะแย้งอะไรขึ้นมา แต่ก่อนที่เขาจะอ้าปากพูด ผมรีบอาศัยจังหวะนั้นชิงตัดบทด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมเสียก่อน
ทีนี้… ถ้าเราลองตีความให้ลึกซึ้งอีกสักนิด ค่าลดหย่อนทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันจะมีการแอบแฝงวัตถุประสงค์ของรัฐ ที่อยากกระตุ้นให้เราใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มขึ้น เพื่อผลทางเศรษฐกิจบางอย่าง หรือ ช่วยเหลือคนบางกลุ่มที่มีภาระมากกว่าประชากรทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในค่าลดหย่อนแต่ละตัว มันมีผลกระทบของมันอยู่ นั่นคือ มีคนบางกลุ่มจะได้ประโยชน์ หรือ เสียผลประโยชน์ จากนโยบายค่าลดหย่อนตัวนั้น ไม่มากก็น้อย
เจ้าเพื่อนคนเดิมทำหน้าสงสัย แล้วถามขึ้นมาว่า…
มีใครเสียประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษี
กลุ่มที่เป็นการออมเงิน และลงทุน ด้วยเหรอ?
ถ้าเราลองแบ่งประเภทคนที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนที่เป็นการออมเงินและลงทุน เช่น ประกันชีวิต LTF หรือ RMF ออกออกมาเป็นหลายมุมมองเปรียบเทียบกัน เราจะเห็นความแตกต่างกันไปในแต่ละมุมมอง ดังนี้
1. แบ่งตามอัตราภาษีที่เสีย เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีตั้งแต่ 5-35% เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง หรือ เงินได้สุทธิสูงกว่านั้น สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า ในการจ่ายค่าลดหย่อนจำนวนที่เท่ากันกับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า
ยกตัวอย่างเช่น คนที่เสียภาษีในฐาน 35% จ่ายเงินซื้อ RMF จำนวน 10,000 บาท จะช่วยให้ประหยัดภาษีได้สูงสุดถึง 3,500 บาท ในขณะที่ ถ้าเป็นคนที่เสียภาษีในฐาน 5% จ่ายเงินซื้อ RMF ในจำนวนที่เท่ากัน จะประหยัดภาษีได้เพียง 500 บาท เท่านั้น
“เอ้า ก็คนทำงานหนัก เสียภาษีในฐานสูง ต้องลดหย่อนได้มากเป็นธรรมดา ส่วนคนรายได้น้อยที่ไม่ขยันก็ไม่ควรได้รับสิทธิลดหย่อนไม่ใช่เหรอ” เจ้าเพื่อนตัวดีแย้งขึ้นมาเสียงดัง เพราะเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เสียภาษีในฐานที่สูงกว่าคนอื่น เนื่องจากมีรายได้ที่มากกว่า
“ก็บอกแล้วว่าไม่ได้ผิด แต่ให้เห็นภาพไงว่า ถ้าคนที่มีเงินได้สุทธิต่ำกว่า จะลดหย่อนภาษีได้ต่ำกว่าไง มันเป็นความไม่เท่าเทียมของการใช้นโยบาย เพราะเงินที่จ่ายไปลดจำนวนภาษีได้ไม่เท่ากัน”
“ฟังต่ออีกสักหน่อยนะ อย่าเพิ่งเถียงดิ เรามาอย่างสันตินะเว้ย” ผมแซวเขาไปเมื่อเห็นคิ้วที่ขมวดกันราวกับไม่พอใจ จนสงสัยว่าทำไมเขาต้องหงุดหงิดขนาดนี้
2. แบ่งตามกระแสเงินสดที่มี ถ้าเราขยับมามองในมุมของการเงินส่วนบุคคลกันบ้าง เนื่องจากสิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มออมเงินและการลงทุนทั้งหลายนั้น ผู้ที่เสียภาษีต้องใช้เงินจ่ายออกไปเพื่อแลกสิทธิประโยชน์มา (เช่น ซื้อหน่วยลงทุน ประกันชีวิต หรืออื่นๆ) ดังนั้นคนที่ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอ ต่อให้เป็นคนรายได้สูงก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีตัวนี้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราเป็นคนที่มีรายได้สูง และเสียภาษีในอัตราที่สูง แต่มีภาระชีวิตหรือหนี้สินมาก เราย่อมจะเสียผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีทันที เพราะไม่สามารถจ่ายเงินไปเพื่อแลกสิทธิประโยชน์มาได้
“ภาพนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้เห็นว่า คนที่มีรายได้เยอะ และค่าใช้จ่าย (จริง) เยอะ ก็จะไม่มีกระแสเงินสดไปวางแผนภาษี แต่ถ้าคนไหนบริหารจัดการดี ก็จะมีเงินเหลือพอวางแผนลดหย่อนภาษีได้” ผมอธิบายให้เขาฟัง
“มันก็ต้องอย่างนั้นป่ะ ถ้าใครบริหารจัดการเงินไม่ดี ก็สมควรแล้วที่ลดหย่อนไม่ได้ ไม่งั้นจะเรียนเรื่องการบริหารจัดการเงินไปทำไม แล้วที่รัฐให้สิทธิประโยชน์แบบนี้ ก็เป็นการจูงใจที่ดีแล้วไม่ใช่เหรอ” มาถึงตรงนี้ เจ้าเพื่อนคนดีคนเดิมก็ยังคงมีอาการหัวร้อนไม่หยุด เล่นเอาผมต้องย้ำเขาอีกทีว่า
“เราก็ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี เพียงแต่เรายกตัวอย่างเฉยๆ เอาน่า ลองฟังต่ออีกสักหน่อยละกัน” ผมยื่นมือไปตบบ่าเขาให้ใจเย็นๆ ก่อนที่จะพูดประเด็นต่อไปให้ฟัง
3. แบ่งตามประเภทคนที่เสียภาษี ทีนี้ลองมามองในมุมของคนที่อยู่ในระบบการเสียภาษี กับคนที่หนีภาษีกันบ้าง เราจะเห็นว่านโยบายการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อคนที่หนีภาษีเลยแม้แต่น้อย เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพราะชีวิตเขาไม่เคยเสียภาษีสักบาท (เนื่องจากหนีภาษี) ดังนั้นต่อให้คนที่อยู่ในระบบลดหย่อนภาษีไปมากเท่าไรก็ไม่มีทางชนะคนกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด จึงเป็นหน้าที่รัฐที่ต้อง….
“กลุ่มนี้แหละที่ควรจะไปเก็บภาษีจากเขาให้มากที่สุด แทนที่จะมาคิดยกเลิกนโยบายอะไรบ้าๆนั่น อันนี้ได้รายได้จริง ไม่ใช่ตัดสิทธิ์คนที่อยู่ในระบบ ไม่แฟร์ๆ” เขาพูดแทรกขึ้นมา แต่เหมือนว่าเขาจะมีท่าทีอ่อนลงเมื่อได้ยินประเด็นนี้
“ตอนนี้เราลองเอาทุกปัจจัยมารวมกัน มันออกมาเป็นรูปตามตารางแบบนี้ แล้วนายลองดูต่อสิว่า คนกลุ่มไหนคุ้มค่าที่สุดในการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจากกลุ่มที่เป็นการออมและการลงทุน
เห็นไหมว่า… ถ้าลองเอามุมมองทั้งหมดมาเปรียบเทียบรวมกัน จะเห็นว่ากลุ่มที่รายได้น้อยและกระแสเงินสดน้อย ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากกลุ่มที่เป็นการออมและการลงทุนได้เลย เช่น คนที่มีหนี้สินเยอะ ไม่มีกระแสเงินสด และเสียภาษีในฐาน 5% ของเงินได้สุทธิ
“ถ้านายเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มนี้จริงๆ นายจะคิดว่านโยบายลดหย่อนภาษีพวกนี้มันยุติธรรมกับนายหรือเปล่าล่ะ ลองตอบจากมุมของคนกลุ่มนี้นะ ไม่ใช่ตอบจากมุมที่เรายืนอยู่” ผมลองถามไป แต่ดูเหมือนเขาจะยังหงุดหงิดอยู่ไม่น้อย
“ก็ใครใช้ให้คนกลุ่มนี้ ไม่ขยัน หาเงินไม่เก่ง ไม่เก็บออม ไม่รู้จักบริหารจัดการเงินเล่า” เขาตะคอกกลับมาด้วยเสียงหงุดหงิด (อีกที) เล่นเอาผมไปต่อไปไม่ถูก จนต้องงัดคำถามใหม่ขึ้นมาถามต่อ เผื่อว่าเขาจะใจเย็นลงบ้าง
“เอาเป็นว่า นายคิดว่าไม่ควรยกเลิกค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้ เพราะว่าอะไร?”
“เพราะว่า มันช่วยกระตุ้นให้คนเก็บเงิน วางแผนการเงิน จัดการเกษียณได้ ไม่เป็นภาระ และรัฐควรจะให้รางวัลกลับมาด้วยการลดหย่อนภาษีไง” เขาตอบผมมาด้วยเสียงดังฟังชัด และเน้นคำว่า ลดหย่อนภาษี จนผมรู้สึกเสียวสันหลังวาป
“อืม.. มันก็จริงนะ” ผมคิดตามเขา ก่อนที่จะถามเพิ่ม “สมมติมีน้องคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน (First jobber) เดินมาถามกับนายว่า พี่ครับ ตอนนี้ผมยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่อยากเก็บเงินเกษียณไว้ พี่คิดว่าผมซื้อ RMF ดีไหม? นายจะตอบน้องคนนี้ว่ายังไงดี ควรซื้อ หรือไม่ควรซื้อ”
“ไม่ควรซื้อ แต่ให้น้องไปซื้อกองทุนธรรมดา พอเสียภาษีค่อยซื้อกองทุน RMF” เขาตอบผมตามหลักการที่เรารู้กัน ถ้าไม่เสียภาษี ควรรอให้เสียภาษีแล้วค่อยซื้อจะดีกว่า ด้วยเหตุผลทั้งเรื่องของค่าธรรมเนียมของกองทุนธรรมดาที่เก็บน้อยกว่า และการไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีใดๆเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียผลประโยชน์
“นั่นก็แปลว่า ถ้าไม่เสียภาษี ไม่ควรซื้อ ถูกไหม?” ผมถามเขาย้ำอีกที เขาพยักหน้างงๆว่าอีหนอมนี่จะถามทำไมวะ
“ถ้างั้นกองทุน RMF ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การวางแผนเกษียณโดยตรงนี่ แต่ตอบเฉพาะกลุ่มคนที่ “เสียภาษี” และ “ต้องการวางแผนเกษียณ” ใช่ไหมล่ะ?” ผมย้อนเพื่อให้เขาเห็นถึงความคิดอีกมุมมองหนึ่งว่า จริงๆแล้วนโยบายลดหย่อนภาษีบางอย่าง มันมีประโยชน์สำหรับคนเฉพาะกลุ่มจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ผิดอะไร เพราะเป็นไปได้ว่ารัฐต้องการจะสนับสนุนคนกลุ่มนั้นอยู่แล้ว
“เอางี้เราถามต่ออีกหน่อย ถ้าไม่มีเรื่องของลดหย่อนภาษี นายคิดว่าคนเราต้องเก็บเงินเกษียณไหม” ผมลองถามความเห็นเพิ่มเติมจากเขา
“ต้องเก็บสิ เพราะคนเราก็ต้องเก็บเงินเกษียณและวางแผนการเงินอยู่ดี” ดูเหมือนเขาจะตอบผมด้วยท่าทีที่ดีที่สุดในคำตอบนี้ และดูเหมือนจะนิ่งคิดไป
แต่ผมไม่รอให้เขาคิดนานกว่านั้น งัดหลักฐานเด็ดฉบับต่อไปมาโชว์กันเลยดีกว่า
รู้หรือไม่ว่า… การให้สิทธิการหักลดหย่อนต่าง ๆ
ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 1 ใน 3 ของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่สรุปเนื้อหาบางส่วนไว้ในบทความเรื่อง 5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า รายจ่ายทางภาษี (Tax Expenditure) หรือ การให้สิทธิการหักลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ที่ส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลงนั้น มีขนาดประมาณ 110,000 ล้านบาท หรือ 0.7% ของ GDP ในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดในปี 2560
โดยองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ การหักลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการออมและการลงทุน ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดประมาณ 50,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด ตัวอย่างสำคัญของการหักลดหย่อนในหมวดนี้ ได้แก่ LTF RMF และเบี้ยประกันชีวิต
โดยต้นทุนส่วนใหญ่ทีว่านี้
ยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนรวย (รายได้สูง) อีกด้วย
งานศึกษาชิ้นนี้ได้แบ่งผู้เสียภาษีออกเป็น 5 กลุ่มเท่าๆกันหรือเรียกว่า Quintile โดยพบว่า 67% ของรายจ่ายภาษีที่ว่ามาเป็นของกลุ่ม Quintile ที่มีรายได้สูงสุด (Q5) และ 30% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมดเป็นของผู้ที่มีรายได้สูงสุด Top 5% ส่วนหนึ่งของการกระจุกตัวนี้มาจากการที่ผู้มีรายได้สูงจะอยู่บนขั้นบันไดภาษีสูงกว่าผู้มีรายได้น้อย ทำให้การหักลดหย่อนหนึ่งบาทของผู้ที่มีรายได้สูงมีต้นทุนต่อรัฐสูงกว่าของผู้มีรายได้น้อย
ถ้าลองแบ่งออกกลุ่มของค่าลดหย่อนออกเป็นสองกลุ่มจะเห็นว่า ในกลุ่มแรกที่เป็น RMF และ LTF นั้นมากกว่า 90% ของรายจ่ายภาษีในกลุ่มนี้เป็นการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของคนในกลุ่ม Q5 ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด
ส่วนกลุ่มที่สอง คือ การลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิต ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และการบริจาค โดยสำหรับรายจ่ายภาษีในกลุ่มที่สอง คนรายได้ระดับกลางมีส่วนแบ่งรายจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
(ป.ล.) ถ้าหากใครสนใจเรื่องนี้แบบจริงจัง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ 5 มุมมองใหม่จากข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือบทความ ‘ปฏิรูประบบภาษีไทย’ กับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ ได้ครับ
ถ้ารัฐเก็บภาษีได้น้อยลง แต่ไม้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
นโยบายการลดหย่อนภาษีนั้นๆ มันควรยกเลิกไหม?
“งานศึกษามันบอกอะไรบ้างล่ะ มันก็เหมือนเดิม เรายังเห็นว่าคนที่มีรายได้สูง ควรได้รับสิทธิประโยชน์อยู่ดี ทำไมต้องมาเก็บรายได้คนกลุ่มนี้ล่ะ ไม่แฟร์เลย” เจ้าเพื่อนตัวดียังคงยืนยันความคิดเดิมอยู่ หลังจากเห็นผมยกตัวอย่างงานวิจัยมาประกอบ เพื่อที่จะบอกว่าคนที่มีรายได้สูงได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย
“งานวิจัยกำลังบอกว่า รัฐสูญเสียต้นทุนให้คนกลุ่มนี้ไปมาก ถ้าหากรัฐอยากจะได้เงินคืนกลับมา การยกเลิกสิทธิประโยชน์ต่างๆพวกนี้จะทำให้ได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นยังไงล่ะ” นี่คือสิ่งที่ผมตอบเขาไปโดยไม่มีดราม่า และชวนข้ามผ่านเรื่องของตัวเรา มาที่มุมของรัฐกันบ้าง
ถ้าหากเรามองในมุมของภาครัฐทีต้องการจัดเก็บภาษีให้มากและมีประสิทธิภาพที่สุด ทางรัฐเองต้องตอบคำถามว่า สิ่งที่รัฐสนับสนุนอยู่ทุกวันนี้ มันตอบโจทย์สิ่งที่ได้หรือเปล่า ตามหลักการที่ได้รับกับประโยชน์ที่เสียไป
เช่น ถ้ารัฐต้องการให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น เพราะห่วงว่าจะเกษียณแล้วไม่มีเงิน มองว่าสังคมผู้สูงอายุกำลังมา รัฐสวัสดิการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ การออกนโยบายลดหย่อนภาษีในกลุ่มนี้ ควรช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐลงในการดูแลคนกลุ่มนี้ โดยเมื่อแลกกับเงินภาษีที่เสียโอกาสจัดเก็บไปแล้วยังคุ้มค่าอยู่
แต่ถ้าหากรัฐมองว่า นโยบายนี้มันไม่คุ้มค่าแล้ว เพราะว่า มันเป็นสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเฉพาะคนบางกลุ่ม (ที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย) และเงินภาษีที่ควรจะเก็บได้นั้น หากเก็บมาแล้วนำไปพัฒนาด้านอื่นอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า รัฐก็มีสิทธิที่จะยกเลิกสิทธิประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน
“ถ้าหากเรื่องเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่บังคับออกมาเป็นกฎหมาย เราก็ทำได้แค่แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการ หรือรวมพลังต่อต้านในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เพื่อเรียกร้องให้เขารับฟังเสียงของประชาชน ถ้าทำได้นะ ฮ่ะๆๆๆ”
“เราว่า.. การไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ หรือนโยบายใดๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราก็ไม่ควรบอกว่าคนที่เห็นด้วยกับนโยบายนั้นผิดเช่นเดียวกัน เพราะทุกคนสามารถมีความคิดเห็นของตัวเองได้ นี่เลยเป็นสาเหตุที่เราบอกว่าเราเฉยๆ กับเรื่องนี้”
ผมสรุปเรื่องราวทั้งหมดบอกเพื่อนไปด้วยประโยคนี้
“แต่เรื่องนี้มันยังไม่ได้เป็นกฎหมายเลยนี่ มันเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคกำลังเสนอเฉยๆนะ” เขาตอบผมแบบหน้าตาย ไม่รู้ว่ารำคาญหรือเสียดายเวลาที่เราสองคนต้องมาเถียงกันตั้งนาน
“ก็ใช่ไง ถ้านายไม่ชอบนโยบายเขา นายก็แค่ไม่เลือกเขามาบริหารประเทศแค่นั้น มันยังเป็นนโยบายอยู่เลยเพื่อน และคนเรามีสิทธิคิดแตกต่างกันไปอยู่แล้ว ไม่งั้นจะเรียกว่าประชาธิปไตยเหรอ” ผมตอบเขาไปด้วยรอยยิ้มแสนสดใส
ก่อนที่จะแอบคิดในใจว่า…
“แล้วมันมีพรรคไหนที่นายชอบเขาทุกนโยบายหรอวะ”