fbpx

9 เรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้ดี ก่อนที่ธนาคารจะส่งข้อมูลบัญชีเราให้สรรพากร

โพสต์เมื่อ: 20 มี.ค. 2019

ป้ายกำกับ: , ,


ในที่สุดก็ถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้ที่สั่งให้ ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีให้สรรพากร เริ่มบังคับใช้แล้วครับ จากเดิมที่เป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) กลายมาเป็น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไปครับ

เมื่อวานนี้ที่พรี่หนอมได้โพสเรื่องนี้แบบอัพเดทสุดๆ ลงเพจ TAXBugnoms ก็พบว่ามีคำถามเข้ามามากมายทั้งกล่องข้อความและคอมเม้นท์ เลยถือโอกาสเขียนตอบคำถามทั้งหมดในบทความนี้อีกครั้ง เพื่อที่จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องครับ โดยสรุปออกมาเป็น 9 ข้อสำคัญที่ควรรู้กรณีที่ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีให้กรมสรรพากร ว่ามันมีประเด็นสำคัญอะไรแบบไหนบ้าง จะได้ไม่เข้าใจผิดกันครับผม

 

 

เอาล่ะครับ ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันที่ข้อแรกกันเลยดีกว่า

1. กฎหมายบังคับใช้ปี 2562 แต่ทำไมกรมสรรพากรเคยบอกว่าเริ่มปี 2563 ล่ะ สำหรับประเด็นนี้ ถ้าเราอ้างอิงตามกฎหมายจะเห็นว่าระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 5 ว่า ให้เริ่มส่งข้อมูลครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ดังนั้นแปลว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ทางธนาคารจะต้องส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับกรมสรรพากรครับ

เพียงแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้โพสข้อมูลลงเพจไว้ว่า กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564 ซึ่งข้อมูลตรงนี้อาจจะขัดแย้งกับกฎหมาย ดังนั้นถ้าหากจะพิจารณาจริงๆ เราคงต้องยึดตามกฎหมายก่อนน่ะครับ (อ่านโพสฉบับเต็มของกรมสรรพากรได้ที่นี่ กรมสรรพากรย้ำกฎหมาย e-Payment ส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมใช้ AI แยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรม)

มุมมองส่วนตัวของพรี่หนอม : ตรงนี้ผมมองว่า เหตุผลที่กรมสรรพากรเคยออกข่าวมาแบบนี้ เพราะต้องการจะสื่อสารว่า จริงๆหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ อาจจะต้องมีการเตรียมระบบการตรวจสอบและข้อมูลต่างๆอีกสักระยะหนึ่ง ประกอบกับตัวกฎหมายออกมาจริงไม่ได้บังคับตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งข้อมูลที่เก็บได้จากปี 2562 ก็คงไม่ใช่ข้อมูลทั้งปีอีกด้วย เนื่องจากเริ่มใช้เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งยังไงก็คงต้องติดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไปครับ

2. ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบ ไม่ใช่ส่งข้อมูลให้เสียภาษี สรรพากรเก็บภาษีจากข้อมูลนี้ทันทีไม่ได้ เพราะต้องตรวจสอบก่อน การส่งข้อมูลบัญชีธนาคารให้สรรพากรนั้น ไม่ได้แปลว่า กรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลนี้ในการประเมินภาษีได้ทันทีนะครับ เนื่องจากการเสียภาษีต้องมีวิธีการคำนวณตามหลักการของกฎหมายก่อน ซึ่งถ้าหากเรายื่นภาษีไว้ถูกต้องแล้ว ตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเลยครับ

โดยข้อมูลที่ธนาคารส่งให้กรมสรรพากรคือ เลขบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล จำนวนครั้ง และจำนวนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้ใช้บังคับให้เสียภาษีไม่ได้แน่ๆครับ มันต้องมีข้อมูลอื่นประกอบอีกเยอะเลยล่ะครับผม

มุมมองส่วนตัวของพรี่หนอม : หลายคนมักจะเข้าใจว่าถ้าธนาคารไม่ส่งข้อมูลให้สรรพากร = ไม่ตรวจสอบภาษี แต่ความเปนจริงมันไม่เกี่ยวกันครับ ไม่ถุกส่งก็ถุกตรวจสอบได้ ถ้าสรรพากรมีข้อมูลอื่นที่เห็นแล้วมั่นใจว่าเราหลีกเลี่ยงภาษี

สำหรับคนขายของออนไลน์ที่กลัวกฎหมายฉบับนี้มาก และอยากเรียนรู้วิธีการยื่นภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในปี 2562 นี้ พรี่หนอมแนะนำให้ลองดูคลิปด้านล่างนี้ครับผม

3. ไม่ได้กระทบแค่คนขายของออนไลน์ แต่กระทบกับคนทุกคน เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ใครหลายคนเข้าใจผิดครับ เพราะคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมาเก็บภาษีคนขายของออนไลน์อย่างเดียว แต่จริงๆแล้วกระทบกับทุกคนทุกอาชีพครับ เพราะกฎหมายไม่ได้เลือกปฎิบัติเฉพาะคนขายของออนไลน์ ถ้าใครเข้าข่ายก็จะโดนทั้งหมดครับ

มุมมองส่วนตัวของพรี่หนอม : ถ้าหากเราลองตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด คำว่า “บุคคล” ที่ว่า อาจจะหมายความรวมถึงนิติบุคคลอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนด้วยก็ได้นะครับ ซึ่งตรงนี้พรี่หนอมไม่ขอฟันธงว่ารวมนิติบุคคลหรือเปล่า เนื่องจากภาพรวมของกฎหมายดูจะเอนเอียงไปทางบุคคลธรรมดามากกว่าครับ แต่ยังไงก็ติดตามต่อไปละกันครับ เผื่อว่าจะมีเซอร์ไพรส์

4.  ธุรกรรมแบบไหนที่ถูกส่งข้อมูล ธุรกรรมที่ว่านี้ กฎหมายให้ชื่อว่า “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ซึ่งกำหนดให้ส่งข้อมูลโดยขึ้นอยู่กับ จำนวนครั้งเฉพาะการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันในหนึ่งธนาคาร  ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1) ตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี
2) ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปต่อปี และ ต้องมียอดรวมจำนวนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปด้วย (เข้าทั้งสองเงื่อนไข เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งไม่ได้)

มุมมองส่วนตัวของพรี่หนอม :  สำหรับวิธีการจำนวนแบบไม่ให้งง พรี่หนอมแชร์วิธีคิดตามนี้ครับ

1. เริ่มจากเช็คก่อนว่าในแต่ละธนาคาร เรามีบัญชีกี่บัญชี เอามาให้หมด
2. นับยอดฝาก รับโอน หรือยอดที่เข้าบัญชีทั้งหมดของแต่ละธนาคาร
3. นับจำนวนครั้งทั้งหมดที่เงินเข้าของธนาคารนั้นๆว่า ถึง 400 ครั้งไหม? (ไม่ถึง = ไม่ถูกส่ง)
4. ถ้าถึง 400 ครั้ง ให้ดูต่อไปว่า จำนวนเงินที่เข้า มียอดรวมถึง 2 ล้านบาทไหม? (ต้องถึงทั้งคู่)
5. สุดท้ายมาเช็คอีกทีว่าจำนวนครั้งทั้งหมดถึง 3,000 ครั้งไหม (เช็คครั้งสุดท้ายว่าโดนไหม)

หรือถ้าใครอ่านแล้วงง ลองดูคลิปด้านล่างนี้แทนครับ

5. ข้อมูลส่งเป็นรายปี นับเป็นรายปี และส่งข้อมูลเป็นรายธนาคาร ไม่ใช่รวมกันทุกธนาคาร ตรงนี้เน้นย้ำอีกที เพราะมีคนถามมามากเลยว่า จำนวนครั้งที่ว่านับเป็นรายเดือนหรือรายปี เน้นอีกทีว่า เป็นรายปีนะครับ ส่วนการส่งกฎหมายก็กำหนดให้ธนาคารส่งปีละครั้ง และยืนยันอีกทีว่า แยกแต่ละธนาคารไม่เชื่อมข้อมูลกัน และก็มักจะถามต่อว่า แบบนี้ก็กระจายบัญชีได้ใช่ไหม คำตอบก็คือได้ครับ เอาที่สบายใจเลย แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ไม่ถูกส่ง ไม่ใช่แปลว่าจะไม่โดนตรวจนะครับ (ย้ำอีกที ฮ่าๆ)

6. การฝากเงินเข้าบัญชีตัวเอง โอนเงินระหว่างบัญชี หรือบัญชีร่วม เรื่องนี้บอกครับว่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คงต้องดูกันต่อไป ซึ่งทางกรมสรรพากรเคยแถลงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น การไม่นับข้อมูลผู้ที่ฝาก โอน หรือถอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมทั้งการเปิดบัญชีครั้งแรก 2 ล้านบาท ก็จะไม่ให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่กรมสรรพากร รวมถึงการเปิดบัญชีร่วมที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนับเป็นของคนไหน  (อ่านโพสฉบับเต็มของกรมสรรพากรได้ที่นี่ กรมสรรพากรย้ำกฎหมาย e-Payment ส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมใช้ AI แยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรม)

7. เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่มีสถาบันการเงินและผู้ให้บริการอีกด้วย ถ้าใครอ่านกฎหมายฉบับเต็ม จะเห็นว่าจริงๆ ไม่ใช่หมายถึงแค่ธนาคารครับ แต่หมายถึงสถาบันการเงินทุกประเภท รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

มุมมองส่วนตัวของพรี่หนอม : ถ้าอ้างอิงเพิ่มเติมตาม พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 เราจะเห็นว่า กลุ่มนี้ หมายถึง การให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ กลุ่มที่มีบริการ E-wallet ทั้งหมดครับ ถ้าให้นึกไวๆก็พวก Truemoney Airpay Mpay หรือเจ้าอื่นๆที่ใช้ระบบเหล่านี้ ก็มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลด้วยเช่นกันครับ

8. คนทุกคนมีรายได้ต้องเสียภาษี อันนี้ก็พูดตรงๆนะครับว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ออกมา รีดภาษี แต่การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็เสียภาษีไปครับ หรือถ้าเราเสียภาษีถูกต้องอยู่แล้ว กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลกระทบใดๆต่อเราเลยครับ

9. สิ่งสำคัญไม่ใช่การทำยังไงไม่ให้ถูกส่ง แต่คือการรู้ข้อมูลของตัวเองต่างหาก สำหรับประเด็นสุดท้ายนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะเน้นย้ำให้ทุกๆคนมีเพื่อลดความกังวล นั่นคือ ข้อมูลของเราครับ ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะมาจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เก็บบันทึกรายการ ไปจนถึงการจัดการบัญชีธนาคารต่างๆให้เป็นระบบระเบียบที่เราเองก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเราทำแบบนี้ได้ มันก็แปลว่าต่อให้ส่งข้อมูลแล้วสรรพากรมาตรวจสอบจริงๆ เราก็สามารถชี้แจงทุกอย่างได้เป็นอย่างดี และยิ่งถ้าเราเสียภาษีถูกต้องอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่า ต่อให้ถูกส่งข้อมูลไปจริงๆ แต่ถ้าหากสรรพากรไม่เจอข้อมูลอื่นที่บอกว่าเราหลบเลี่ยงภาษี เขาก็คงไม่มาตรวจสอบเราให้เสียเวลาหรอก … จริงไหมครับ

ท้ายทีสุดนี้ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆคนเข้าใจเรืองนี้ได้ดียิ่งขึ้น และสบายใจขึ้นว่า จริงๆแล้วเราสามารถรับมือกฎหมายนี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่เรารู้จักทำความเข้าใจกฎหมาย และเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

เพราะคนที่รู้เรื่องภาษีของเราดีที่สุดคือตัวเราเอง จริงไหมครับ?

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy