จะเก็บภาษีก็ต้องมีดราม่า… ไขทุกปัญหาเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้
“เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ จะรีดภาษีไปถึงไหน” เชื่อว่าหลายๆคนคงอุทานประโยคนี้ในใจ เมื่อเห็นข่าวกฎหมายใหม่เรื่องการเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ในอัตรา 15% จากที่ไม่เคยมีการเก็บภาษีมาก่อน และจะเริ่มต้นบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
ข้อเท็จจริงสั้นๆ ที่เรารู้จากเรื่องนี้ คือ “ผลของการจัดเก็บภาษีจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากกองทุนน้อยลง” ซึ่งในแง่หนึ่งคงเป็นเหตุผลเพียงพอต่อการก่นด่า แต่พรี่หนอมคิดว่าในฐานะคนให้ความรู้เรื่องภาษี การสรุปแบบนี้ทำให้เราไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติม เลยขอทำหน้าที่ชวนมาคิด วิเคราะห์ และ แยกแยะต่ออีกสักหน่อยว่า ข่าวการเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ที่ว่านี้ มันมีหลักการคิดอย่างไร จะเก็บแบบไหน และมันมีผลกระทบกับใครบ้าง
ขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า บทความนี้เป็นบทความที่ยาวมาก แต่ถ้าอยากเข้าใจเรื่องภาษีกองทุนตราสารหนี้อย่างแท้จริง แนะนำให้อ่านและนั่งนิ่งๆคิดตามสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ครับ
กองทุนรวมกับการเสียภาษี
สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ แรกเริ่มเดิมทีกฎหมายภาษีไทย (ประมวลรัษฎากร) ไม่สามารถเก็บภาษีจากกองทุนรวมได้ เนื่องจาก กองทุนรวมไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
ถึงแม้ว่าเดิมประมวลรัษฎากรจะมีการให้นิยามคำว่ากองทุนรวมไว้ในมาตรา 39 ว่า …
“กองทุนรวม” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งเข้าร่วมในกองทุนซึ่งจัดตั้งและดำเนินการโดยบริษัทจัดการกิจการลงทุน ตามโครงการในการประกอบกิจการจัดการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนก็ตาม
แต่จากข้อเท็จจริงแล้วกองทุนรวมตามมาตรา 39 นั้น ปัจจุบันเหลือเพียง 1 กองทุนเท่านั้น ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 58 และพรี่หนอมก็ไม่รู้ว่ามันคือกองทุนอะไรเหมือนกันครับ (ฮ่า)
ปัจจุบันกองทุนรวมที่เรารู้จักกันดี คือ
กองทุนที่รวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โดยกองทุนรวมที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันและลงทุนกันเป็นส่วนใหญ่นั้น จะเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือเรียกด้วยภาษากฎหมายว่ากองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั่นเองครับ
จากเรื่องทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า กองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้ที่กองทุนรวมได้รับ แต่มีหน้าที่เพียงแค่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งกำไรให้กับนักลงทุนในรูปแบบที่เรียกว่า “เงินปันผล”
โดยเงินปันผลก้อนนี้ กฎหมายถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกใช้สิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบ (Final TAX) หรือ นำมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษีก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาว่าแบบไหนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่า
และ การที่กองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี นี่แหละครับ จึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมด้านภาษีขึ้นมา เมื่อกองทุนรวมเหล่านี้มีการลงทุนในตราสารหนี้
ความไม่เท่าเทียมจากการลงทุนในตราสารหนี้ คืออะไร?
ถ้าเราเปรียบเทียบภาระภาษีระหว่างบุคคลธรรมดา กับ กองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ที่ลงทุนในตราสารหนี้เหมือนกัน จะพบว่ามีข้อแตกต่างที่สำคัญดังนี้ครับ
จากตารางจะเห็นว่า บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในตราสารหนี้ เมื่อได้รับส่วนลดตอนซื้อ (กรณีที่เป็นคนซื้อหรือผู้ถือคนแรก) หรือได้รับดอกเบี้ยจากการลงทุน จะถือว่ารายได้กลุ่มนี้เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือตามมาตรา 40(4)(ก) ส่วนกำไรจากการขายตราสารหนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 40(4)(ช)
เงินได้ในกลุ่มนี้ทั้งหมดกฎหมายจะกำหนดให้ผู้จ่ายหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% ของเงินได้ก้อนนั้น ตามมาตรา 48(3) 50(2)(ข) ในขณะที่ กองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ เมื่อไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ และไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
ถ้าเราตั้งคำถามต่อว่า แล้วคนที่ลงทุนในกองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นใคร คำตอบคือ นักลงทุนรายย่อยทั่วไปอย่างเราๆที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันกับคนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ส่งผลให้นักลงทุนที่ลงทุนเองในตราสารหนี้โดยตรงจะเสียเปรียบด้านภาษีตรงส่วนนี้ถึง 15% เพราะจะถูกหักภาษีไว้ทันทีไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทไหนก็ตาม
แต่ความไม่เท่าเทียมที่ว่ายังไม่ได้จบแค่นั้นครับ…
เพราะว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง
ย่อมถือเป็นหนึ่งในความเหลื่อมล้ำนั้นด้วย
เพราะมันคือ รายได้ประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40(4)(ก)
เหมือนกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้
ถ้าหากเรามองภาพต่อในเรื่องเงินได้ประเภทที่ 40(4)(ก) เราจะเห็นว่าจริงๆแล้วมันไม่ได้จบแค่ตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงดอกเบี้ยอีกหลายประเภทที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายดังนี้
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
และถ้าพูดในบริบทเดียวกันกับตราสารหนี้ที่ว่ามา เราจะเห็นว่ากองทุนรวมกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับภาระภาษีตรงส่วนนี้เช่นเดียวกัน จากหลักการสั้นๆคำเดียวคำเดิม คือ กองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ในขณะที่บุคคลธรรมดาทั้งหลายยังมีภาระต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อยู่เหมือนเดิมเพราะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) อย่างที่ว่ามา
มาถึงตรงนี้… ถ้าเราวิเคราะห์จากแค่กฎหมายภาษี โดยไม่มองที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ เช่น นักลงทุนบุคคลธรรมดาที่สามารถลงทุนตราสารหนี้ได้โดยตรง มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากกว่าหรือมีโอกาสในการลงทุนที่มากกว่า มันทำให้เราพอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมากฎหมายให้สิทธิการลงทุนในกองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ได้รับประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าบุคคลธรรมดา
การขจัดความซ้ำซ้อนที่ง่ายที่สุด
คือ การแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
และนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่อย่าง พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขให้กองทุนรวมกลายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อที่จะได้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดให้คำว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีความหมายรวมถึง กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
พิจารณาจากนิยามของกองทุนรวมที่กฎหมายกำหนดขึ้นมาใหม่จะเห็นว่า ความหมายของกองทุนรวมนั้นถูกตีความให้ครอบคลุมถึงกองทุนรวมทุกประเภท ไม่ว่าจะตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือต่างประเทศ และหมายความรวมถึงกองทุนรวมครบทุกแบบ ตั้งแต่ กองทุนรวมตามมาตรา 39 (เดิม) กองทุนรวมที่จัดขึ้นตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ (หมายความรวมถึง LTF หรือ RMF) ไปจนถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และแม้แต่กองทุนรวมต่างประเทศที่ไม่เคยต้องมายุ่งเกี่ยวกับกฎหมายประเทศไทย ทุกอย่างโดนกำหนดให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด
หมายเหตุแก้ไขเพิ่มเติม : มีทางผุ้ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทราบว่า กองทุนรวมตามมาตรา 39 จะมีกฎหมายออกมาเป็นเรื่องเฉพาะอีกทีหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
กำหนดนิยามใหม่แล้ว
ต้องแก้ไขถอนรากถอนโคนกฎหมายเก่าด้วย
หลังจากการกำหนดนิยามใหม่ของกองทุนรวมให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว จึงต้องมีการแก้ไขนิยามเก่าของกองทุนรวมทั้งหมด โดยลบคำว่ากองทุนรวมออกจากกฎหมายทุกข้อที่มีอยู่ ได้แก่มาตรา 40(4)(ข), มาตรา 42(23) และ (24), มาตรา 48(3) วรรค 2, มาตรา 65 ทวิ (10)
แหม่… อารมณ์เหมือนธานอสดีดนิ้วยังไงอย่างนั้นเลยครับ
ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ มันแปลว่า
กองทุนรวมตามกฎหมายใหม่ต้องเสียภาษีจากรายได้ทั้งหมดเลยสิ!
หากมีการแก้ไขกฎหมายเพียงแค่นี้ มันจะกลายเป็นว่า ถ้ากองทุนรวมมีรายได้ใดๆก็ตาม ย่อมจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็พบว่ากองทุนรวมเองไม่ได้มีรายได้ตามมาตรา 40(4)(ก) เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีรายได้อีกหลายประเภท ทั้งจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ รายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุน ซึ่งถ้าหากกฎหมายบังคับเก็บภาษีจากรายได้ทั้งหมด จะกลายเป็นว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำเดิม กลับสร้างเสริมความเหลื่อมล้ำใหม่ขึ้นมาแทนที่
ดังนั้น พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 จึงต้องกำหนดข้อยกเว้นและวิธีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ขึ้นมาสำหรับกองทุนรวมโดยเฉพาะในส่วนนี้ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้ที่ไม่ใช่ 40(4)(ก) มาคำนวณเป็นรายได้ (มาตรา 65 ทวิ (15)) และให้เสียภาษีเฉพาะรายได้ 40(4)(ก) ในอัตรา 15% ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายเพียงอย่างเดียว (มาตรา 67(3)) จึงทำให้ กองทุนรวมทุกกองทุน ต้องเสียภาษีเหมือนกับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยครับ!
ส่วนเรื่องกำไรของการขายตราสารหนี้ที่เป็นรายได้ตามมาตรา 40(4)(ช) นั้น กฎหมายยังไม่ได้มีกำหนดบทบัญญัติไว้ นั่นย่อมแปลว่ากองทุนรวมยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีส่วนนี้อยู่เหมือนเช่นเคยครับ
แต่ว่ากองทุนรวมไม่ได้มีรายได้จากดอกเบี้ยในไทยเพียงอย่างเดียวนะ
ยังมีการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ต่างประเทศด้วย แบบนี้จะเสียภาษียังไงล่ะ?
สำหรับคนที่กังวลใจว่า ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในต่างประเทศและได้รับดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกับการลงทุนในประเทศไทย จะต้องเสียภาษีไหม? คำตอบคือ ต้องเสียภาษีในอัตรา 15% เช่นเดียวกันครับ เพราะถือว่าเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ต้องนำรายได้ที่เป็นเงินได้ทั้งหมดตามมาตรา 40(4)(ก) ที่ได้รับมาเสียภาษี ไม่ว่ารายได้จะมาจากในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความเป็นธรรมของกฎหมาย พรี่หนอมคาดว่าจะมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องออกมาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ นั่นคือ ให้สิทธิกองทุนนำภาษีที่เสียในต่างประเทศสำหรับกรณีนี้มาเครดิตออกจากภาษีที่ต้องเสียได้ เช่น กองทุน A ไปลงทุนในประเทศ B ได้รับดอกเบี้ยที่โดนหักภาษีไว้ 10% แบบนี้สามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในประเทศไทยครับ

อ้างอิงจากหนังสือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากร เรืองการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ลงวันที่ 2 เมษายน 2561 ตามมติค.ร.ม. วันที่ 28 สิงหาคม 2561
ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก
คือ ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนมากที่สุด
ทีนี้มาดูกันต่อว่า ในส่วนของดอกเบี้ยที่กองทุนรวมได้รับทั้งหมดนั้นนั้น มันจะมีผลกระทบอะไรยังไงแบบไหน ซึ่งผมมองว่านี่แหละคือตัวที่มีผลกระทบต่อนักลงทุนมากที่สุด เนื่องจากรายได้ของกองทุนรวมตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์จะลดลงจากภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
เพื่อความเข้าใจ พรี่หนอมขอยกตัวอย่างให้ดูแบบนี้นะครับ สมมติว่าเราซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ. A ที่มูลค่า 10 บาทจำนวน 1 หน่วยลงทุน และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง กองทุนรวมนี้สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุน (รายได้) ซึ่งส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์โดยรวม (NAV) เพิ่มขึ้นทั้งหมด 2 บาท โดยประกอบด้วย ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ได้รับ (มาตรา 40(4)(ก) จำนวน 1 บาท และ กำไรจากการขาย อีก 1 บาท ความแตกต่างของผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายจะส่งผลตามนี้ครับ
ประเด็นตรงนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผลกระทบจะหนักหรือเบานั้น ขึ้นอยู่กับประเภทเงินได้ที่กองทุนได้รับ นั่นคือ ถ้าหากกองทุนมีการลงทุนที่ได้รับดอกเบี้ย (เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้) ในสัดส่วนที่มากเท่าไร ผลกระทบตรงนี้ก็จะมากขึ้นตามนั้น และกองทุนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด น่าจะเป็นกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ นั่นเองครับ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้!! แบบนี้กองทุนที่ดีและมีประโยชน์
อย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
พวกนี้ก็ต้องเสียภาษีด้วยเหรอ?
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นครับว่า นิยามของคำว่ากองทุนรวมหลังจากการแก้ไขกฎหมายนั้นกลายเป็นนิยามที่ตีความครอบคลุมถึงกองทุนรวมทั้งหมดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งประเทศเราก็มีกองทุนรวมบางประเภทที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีนโยบายสร้างสรรค์การออมเพื่อเกษียณของประชาชน หากโดนภาษีเหมือนกองทุนรวมประเภทอื่นๆ มันก็ดูเหมือนจะทำร้ายกันไปหน่อย
ดังนั้นสิ่งที่คาดว่าจะตามมาคือ กฎหมายลูกหรือพระราชกฤษฎีกาออกมายกเว้นการเสียภาษีในส่วนนี้ให้กับกองทุนรวมบางประเภท ซึ่งจากการคาดการณ์ของพรี่หนอม มองว่ากองทุนรวมที่จะได้รับยกเว้นภาษีในส่วนนี้น่าจะหมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั่นเองครับ
นั่นคือสิ่งที่กฎหมายต้องแก้และเราต้องติดตามกันต่อไปครับ เอาเป็นว่าถ้ามีอะไรอัพเดทเพิ่มเติม พรี่หนอมจะอัพเดทให้ในแฟนเพจ TAXBugnoms อีกทีละกันนะครับ (ขายของอีกแล้ว) ฝากกดติดตามกันด้วยนะครับผม
นอกจากผลตอบแทนที่ลดลงแล้ว คนที่ลงทุนในกองทุนรวม
จะได้รับผลกระทบทางภาษีอะไรบ้าง?
เอาล่ะครับ หลังจากที่พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและกองทุนรวมไป ทีนี้เรามาลองดูในมุมของนักลงทุนอย่างเรากันบ้างดีกว่า ว่าเรื่องทั้งหมดจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง นอกจาก ผลตอบแทนที่ได้รับลดลงจากการจัดเก็บภาษีกองทุนรวม อย่างที่ได้เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มีผลกระทบกับการคำนวณและยื่นภาษีที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเช่นเดียวกันครับ นั่นคือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงประเภทเงินได้ตามกฎหมาย
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลตอบแทนจากกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนได้รับนั้นมีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ผลตอบแทนจากการขาย (กำไรจากการขาย) และ ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ (เงินปันผล) เรามาเริ่มที่ผลตอบแทนจากการขาย หรือกำไรจากการขายกองทุนรวมกันก่อนครับ
ผลตอบแทนจากการขายยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอยู่
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่าคุณเป็นใครและลงทุนในกองทุนประเภทไหน
ถ้าลองดูรายละเอียดเรื่องนี้จะเห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาครับ โดยกำหนดให้ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) โดยยกเลิกส่วนที่เคยให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามมาตรา 42 (23)
หรือ พูดง่ายๆคือ กำหนดให้กำไรจากการขาย (หน่วยลงทุน) กองทุนรวมถือเป็นเงินได้ตามกฎหมายที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี และมีประเภทของเงินได้รองรับไว้อย่างชัดเจน
แต่การกำหนดให้กำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเป็นรายได้นั้น ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่มีกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมจะเสียภาษีทันทีนะครับ เพราะว่าเราต้องมาดูกันต่อว่า กำไรจากการขายกองทุนรวมที่ว่านั้นมีกฎหมายยกเว้นไว้อยู่หรือเปล่า โดยพิจารณาว่าผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมนั้นเป็นใคร บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล และกฎหมายที่ยกเว้นไว้แต่เดิมนั้น มันมีอะไรบ้าง
กรณีของบุคคลธรรมดา ถ้าเราลองดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะพบว่ากองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ยกเว้นไว้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ (32) ข้อ (65) และข้อ (67) ที่ครอบคลุมกองทุนทุกประเภทซึ่งรวมถึง LTF และ RMF ด้วย
ดังนั้นสบายใจได้หายห่วงครับ เพราะถ้าหากเราเป็น นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา (ทั้งคนไทยและต่างประเทศ) กำไรจากการขายของเราจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการที่กฎหมายกำหนดให้กำไรจากการขายกองทุนรวมเป็นเงินได้ เพราะยังมีสิทธิยกเว้นตามกฎหมายอยู่ ในกรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พรี่หนอมย้ำว่า… ตรงนี้ต้องมองให้ชัดๆ ว่ามันเป็นคนละส่วนกับ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากกองทุนรวมต้องเสียภาษีนะครับ ผลตอบแทนลดลงคือเรื่องจริง แต่กำไรจากการขายกองทุนรวมยังมีสิทธิยกเว้นภาษีตามกฎหมายเหมือนเช่นเดิม ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดประเภทเงินได้ไว้ชัดเจนก็ตาม
แต่สำหรับกรณีของนิติบุคคลนั้น ถ้าเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยแล้ว กำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ว่า จะถือเป็นรายได้ตามกฎหมายที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ แต่คาดการณ์ว่าอาจจะมีกฎหมายออกมายกเว้นให้ในกรณีที่เป็นกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 100%
แต่ถ้าหากเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จะถือว่ารายได้ในส่วนนี้ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ตามมาตรา 70 และอาจจะลดลงได้หากมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยครับ
ผลตอบแทนจากเงินปันผลจะต้องถูกหักภาษี 10% หรือไม่
ขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุนรวมที่คุณมีไว้ในพอร์ทการลงทุน
ทีนี้มาดูกันต่อที่ผลตอบแทนตัวที่สองอย่างเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมกันบ้างครับ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีผลต่อประเภทเงินได้ที่ได้รับเช่นเดียวกัน
เนื่องจาก พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากรฉบับที่ 52 ได้กำหนดให้กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น การจ่ายเงินปันผลจากกองทุนรวมจะถือเป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ข) แทนประเภท 40(8) เนื่องจากถือว่ากฎหมายมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เงินปันผลจากนิติบุคคล ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 40(4)(ข) ซึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินปันผล ให้กับบุคคลธรรมดาจะต้องมีการหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ตามมาตรา 50(2)(จ)
แต่ข่าวดีครับ… เท่าที่ทราบมา กำลังจะมีกฎหมายลูกออกมาแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนี้ ในกรณีที่นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากมีการลงทุนในกองทุนรวมที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ 100% กฎหมายจะให้สิทธิยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% เมื่อมีการจ่ายปันผล และยกเว้นเงินได้ส่วนนี้ให้ทั้งจำนวน ซึ่งตรงนี้ต้องคอยติดตามกันอีกเช่นเคย และสามารกดติดตาม TAXBugnoms ไว้ได้เลย (อีกแล้ว)

อ้างอิงจากหนังสือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฏากร เรืองการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ลงวันที่ 2 เมษายน 2561 ตามมติค.ร.ม. วันที่ 28 สิงหาคม 2561
สรุปอีกที กระทบอะไรยังไงแบบไหนนะ?
สำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วไม่เข้าใจหรือกำลังมึน พรี่หนอมสรุปประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่นักลงทุนจะได้รับผลกระทบออกมาเป็นรูป 3 รูปด้านล่างนี้ครับ ลองทบทวนความเข้าใจอีกทีนะครับ
ท้ายที่สุดแล้ว… เรื่องทั้งหมดนี้มีผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง
และเราควรจะปรับตัวอย่างไรหลังจากนี้
จากข่าวทั้งหมดที่บอกว่าเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ถ้าเราวิเคราะห์จริงๆแล้วพบว่า มันคือการเก็บภาษีจากเงินได้ประเภท 40(4)(ก) ที่กองทุนรวมได้รับทั้งหมด ซึ่งหมายความรวมถึงทั้งหมดตั้งแต่ดอกเบี้ยจากเงินฝาก พันธบัตร ไปจนถึงตราสารหนี้ และผลต่างที่ได้รับจากการไถ่ถอน (กำไร) ซึ่งผลกระทบที่ว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับ และส่งผลกระทบกับนักลงทุนอีกต่อหนึ่ง โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป และไม่มีผลย้อนหลังสำหรับการลงทุนในวันก่อนที่กฎหมายจะใช้บังคับ
จากหลักการทั้งหมดที่ว่ามา พรี่หนอมพอสรุปได้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่ปล่อยให้กฎหมายเหลื่อมล้ำมาตั้งนานจนชาชิน มันก็เป็นอีกคำถามหนึ่งว่า แล้วที่ผ่านมาทำไมถึงไม่เก็บภาษีจากส่วนนี้เสียที ซึ่งทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน หรือถึงขึ้นจะมองว่ากฎหมายทั้งหมดนี้ไม่ยุติธรรมก็ไม่ผิดอะไร เพราะความเหลื่อมล้ำที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะมองในมุมไหน และมันมีอีกมากมายในการมองนอกเหนือจากเรื่องของภาษี จริงไหมครับ?
ท้ายที่สุดแล้ว.. สิ่งที่เราทุกคนทำได้ คือ การจัดพอร์ทการลงทุนของตัวเองให้ดี ให้ได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป และมันอาจจะดูเศร้าเสียหน่อยที่บอกว่าเราทุกคนทำได้เพียงเท่านี้
…แต่มันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้จริงๆครับ