fbpx

3 คำแนะนำสั้นๆ เรื่องการเงินและภาษีสำหรับคนที่ทำธุรกิจ

โพสต์เมื่อ: 02 ก.ค. 2019

ป้ายกำกับ: ,


บทความในตอนนี้เกิดจากแรงบันดาลที่ผมอยากจะให้เจ้าของธุรกิจจัดการภาษีได้อย่างถุกต้องและไม่มีปัญหาด้านการเงินครับ ซึ่งมันเริ่มต้นจากการที่ผมได้ทวิตลงทวิตเตอร์ @TAXBugnoms ไปว่า

3 คำแนะนำง่ายๆ ที่อยากแนะนำคนที่ทำธุรกิจ

  1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย = รู้กำไร
  2. คิดต้นทุนของตัวเอง = รู้กระแสเงินสด
  3. แยกบัญชีส่วนตัวกับธุรกิจ = รู้รายได้ยื่นภาษี

เรื่องพวกนี้ ถ้าทำเป็นระบบ ชีวิตจะสบายขึ้นครับ
https://twitter.com/TAXBugnoms/status/1143010590794735616

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะมาอธิบายสามข้อสั้นๆที่เคยพูดไว้ในทวิตเตอร์ในตอนนั้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในตอนนี้ครับผม โดยขอเริ่มจากคำว่า ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ก่อนเลยละกันครับ

โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจมักจะเข้าใจผิดว่า แค่เงินในบัญชีธนาคารเพิ่มขึ้นก็พอแล้ว ทำไมต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย แต่ความจริงแล้วประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้น จะทำให้เรารู้กำไรที่แท้จริงของธุรกิจ เพื่อให้ชีวิตไปต่อง่ายขึ้นครับ ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการวางแผนต่างๆเพื่อขยับขยายหรือเลิกธุรกิจในอนาคตครับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี คือ เราจะมีข้อมูลชี้แจงเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบ และ กฎหมายได้กำหนดให้เราทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ด้วยตามประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 161 ดังนั้นการทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นครับ

ทีนี้เมื่อมีบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อคือ การวางแผนเรื่องต้นทุนของตัวเองที่เราควรจ่ายออกจากธุรกิจ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนระหว่าง ธุรกิจ กับ ชีวิตเราครับ หรือพูดง่ายๆ คือ เราควรจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองเท่าไรดี?

ถ้าหากเราเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ การแยกตรงนี้ออกมาจะมีผลดีในแง่ของการบริหารจัดการกระแสเงินสดระหว่างธุรกิจของเรา กับ การเงินส่วนบุคคล ไม่ให้ปะปนกัน และมันทำให้รู้ด้วยว่าธุรกิจเรานั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือเปล่า

สมมติเรารู้ข้อมูลจากบัญชีรายรับรายจ่ายว่า ธุรกิจที่เราทำอยู่มีกำไรเดือนละ 50,000 บาท หากเรามองว่าต้นทุนหรือค่าแรงส่วนที่เราจะเก็บเกี่ยวลงทุนไปคือ 40,000 บาท เราก็ตัดเงินส่วนนี้ให้ตัวเอง แล้วใช้จ่ายเพียงเท่านี้ โดยไม่ยุ่งกับเงินธุรกิจ ส่วนที่เหลือ 10,000 บาทเก็บไว้ลงทุนธุรกิจต่อ แบบนี้จะทำให้เห็นว่าเราควรบริหารจัดการแบบไหน และทำให้กระแสเงินสดทั้งธุรกิจและเราไม่ติดลบเพราะเราได้แบ่งแยกไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หมายเหตุ : ในกรณีของบุคคลธรรมดาการแบ่งเงินตรงนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับภาษีเงินได้เพิ่มเติมนะครับ เพราะว่าเราเสียภาษีจากรายได้ที่ได้รับจากธุรกิจอยู่แล้ว

ตรงนี้จะเห็นว่า การทำบัญชีรายรับรายจ่าย สามารถเชื่อมโยงได้กับการทำธุรกิจและกระแสเงินสดในข้อนี้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นความสัมพันธ์เล็กๆน้อยๆที่จะทำให้เราจัดการบริหารได้ง่ายขึ้นครับ

หรือต่อให้ธุรกิจเราอยู่ในรูปแบบนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน ก็ยังควรทำแบบนี้เช่นเดียวกันครับ เพื่อให้ชัดเจนและแยกจากกันโดยเด็ดขาด โดยฝั่งธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับเรา (เอาไปลดภาษีได้) ส่วนเราก็ได้เงินส่วนแบ่งจากธุรกิจมาใช้จ่าย (อาจจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ซึ่งดีกว่าการถอนเงินมาใช้เรื่องส่วนตัว เพราะจะทำให้มีปัญหาและประเด็นทางภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกู้ยืมเงิน (ต้องคิดดอกเบี้ย) หรือ การที่ไม่สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้

ส่วนข้อสุดท้าย นั้นคือ จิ๊กซอว์ที่จะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ครับ เพราะการแยกบัญชีรายได้ออกจากกัน โดยเฉพาะบัญชีธนาคารมันจะทำให้เห็นเลยว่า รายได้ของธุรกิจเท่าไร และ อะไรคือบัญชีส่วนตัวเราบ้าง ซึ่งตรงนี้จะเห็นเส้นทางเดินของการเงินชัดเจนมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องกลัวเรื่องของธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากรเลย เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไปและมีการแยกบัญชีไว้ชัดเจนแล้ว

เมื่อเราแยกบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และรู้ว่าบัญชีแต่ละบัญชีมีหน้าที่อะไร แบบไหน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องนับหรอกครับว่ารายการจะถึงเกณฑ์ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากรไหม แต่ควรรู้มากกว่าว่ารายการแต่ละรายการคืออะไร เพื่อให้เราวางแผนจัดการทั้งธุรกิจและภาษีได้อย่างถูกต้องครับ

เอาล่ะครับ.. มาถึงตรงนี้ ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่า เรื่องนี้จะกลับไปบรรจบกับเรื่องของการทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้อย่างสมบุรณ์ครับ ซึ่งมันจะทำให้เรานั้นได้ครบทุกอย่าง ทั้งการแยกกระเป๋าเงินในการทำธุรกิจ การแยกหลักฐาน และการลงบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกัน

สุดท้ายนี้ ขอฝากเอาไว้ครับว่า 3 ข้อข้างต้นที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยากครับ แต่คนที่ตั้งใจทำมันโดยไม่สนว่ามันจะยากลำบากแค่ไหนนั่นแหละครับ คือที่คนจะประสบความสำเร็จในเรื่องธุรกิจและไม่มีปัญหาภาษี

และมันคือการบอกว่าเราใส่ใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มากแค่ไหน…

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy