fbpx

เปรียบเทียบครบทุกมุมมองที่มี พี่ควรทำธุรกิจในรูปแบบ บุคคล หรือ นิติบุคคล

โพสต์เมื่อ: 09 ก.ค. 2019

ป้ายกำกับ: , ,


หลายครั้งที่ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ ภาษีธุรกิจ การตัดสินใจจดบริษัท การประหยัดภาษี ไปจนถึงเรื่องของการวางแผนภาษีในวิธีต่างๆ แล้วเกิดความสงสัยว่า ทำไมเราไม่รวมมันขึ้นมาแล้วเขียนในบทความเดียวซะเลยฟระ! คนที่เข้ามาอ่านจะได้ไม่เสียเวลาอ่านและทำความเข้าใจ

นั่นคือเหตุผลที่มาของบทความนี้ โดยหลักการเริ่มต้นที่จากการเปรียบเทียบระหว่างเป็น “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล” นั้นมีวิธีคำนวณภาษีเงินได้แตกต่างกันอย่างไร? ไปจนถึงหน้าที่ภาระที่แตกต่างกันในยื่นภาษี และ แนวคิดในการวางแผนภาษีเงินได้จากประสบการณ์ทำงานจริงของผม ที่ไม่ได้พูดถึงหลักการทางทฤษฏีหรือต้องการประหยัดภาษีเพียงอย่างเดียว

บทความนี้จะทยอยเขียนอัพเดทไปเรื่อยๆในช่วงเวลาที่เหมาะสม และทุกครั้งที่มีการอัพเดทแนวคิดหรือทฤษฏีใหม่ๆในการวางแผนภาษีผมจะแชร์บทความนี้ไปที่แฟนเพจ TAXBugnoms และ ทวิตเตอร์ @TAXBugnoms ดังนั้นฝากกดติดตามทั้งสองช่องทางนี้ไว้ด้วยนะครับ

เอาล่ะครับ เกริ่นมาเสียตั้งนาน เรามาเริ่มกันที่หลักการแรกกันก่อน นั่นคือ ความแตกต่างด้านการคำนวณภาษีระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล

ความแตกต่างของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ถ้าใครเคยอ่านบทความเก่าๆที่ผมเขียนลงไว้ในบล็อกนี้ คงจะพอทราบดีว่าทั้งสองประเภทนี้มีวิธีคำนวณภาษีที่ต่างกัน นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้วิธีการคำนวณ 2 วิธีเปรียบเทียบกันแล้วเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า นั่นคือ วิธีเงินได้สุทธิ กับ วิธีเงินได้พึงประเมิน

  • เงินได้สุทธิ = (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
  • เงินได้พึงประเมิน = เงินได้ทุกประเภทรวมกัน (ไม่รวมเงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%

โดยวิธีเงินได้สุทธิจะใช้คำนวณสำหรับการมีเงินได้ทุกกรณี (หลักการคิด = คนหนึ่งคนมีกี่ประเภทเงินได้ก็ต้องเอามาคำนวณภาษี) ส่วนวิธีเงินได้พึงประเมินจะใช้ในกรณีที่มีเงินได้ทุกประเภทที่ไม่ใช่เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) รวมกันแล้วเกิน 1 ล้านบาท เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ลองดูรูปประกอบอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างนี้ได้ครับ

ทีนี้มาฝั่งของ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กันบ้าง โดยหลักการของกฎหมายแล้ว วิธีคำนวณภาษีของนิติบุคคลมีหลายแบบแต่สำหรับนิติบุคคลปกติที่จดทะเบียนในไทย หรือ บริษัท, ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ที่เรารู้จักกันดีนั้น จะใช้วิธีการคำนวณภาษีที่เรียกว่า “กำไรสุทธิ”  หรือพูดง่ายๆว่า มาจาก (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) x อัตราภาษี

แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องระวังไว้ นั่นคือ รายได้ และ ค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นรายได้และค่าใช้จ่ายทางภาษี โดยจะใช้วิธีการปรับปรุงจากกำไรทางบัญชีที่ได้มา แล้วจึงค่อยนำมาคูณอัตราภาษี ตามรูปประกอบด้านล่างนี้เช่นเดียวกันครับ

 

สรุปประเด็นอีกครั้งสั้น ๆ สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นคือ กำไรทางบัญชี ไม่ใช่ กำไรทางภาษี ก่อนที่เราจะคำนวณภาษีออกมาได้นั้น เราต้องปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษีก่อน

นั่นย่อมแปลว่า ถ้าคำนวณแล้วขาดทุนทางภาษี = ไม่เสียภาษี นอกจากนั้น การเป็น SMEs ตามกฎหมาย = ได้สิทธิเสียอัตราต่ำกว่านิติบุคคลทั่วไปที่ต้องเสียในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี

กับดักภาษีตัวที่หนึ่ง : อย่ามองแค่ตัวเลขภาษีที่เสีย

เมื่อมาถึงตรงนี้ การ์ดกับดักภาษีจะทำงานทันทีเมื่อมีคำถามว่า ควรจะเลือกรูปแบบการเสียภาษีแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล นั่นคือ เรามักจะใช้ยอดภาษีที่ต้องเสียเป็นตัวตัดสินใจ แต่ลืมมองถึงกำไรที่เกิดขึ้นจริงของธุรกิจจนบางครั้งทำให้ชีวิตมีปัญหา

ยกตัวอย่างเช่น กรณีบุคคลธรรมดา ถ้ามองเผินๆ ทางที่ง่ายสำหรับคนทำธุรกิจ คือ เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หลังจากนั้นก็คำนวณให้จบแล้วยอมๆเสียภาษีกันไป แต่ไม่ได้เช็คให้ชัดว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจที่ว่ามีกำไรจริงเท่าไรก่อนเสียภาษี

นิติบุคคลก็เช่นเดียวกัน ตัวเลขกำไรทางบัญชี คือ ตัววัดผลว่ากำไรธุรกิจเท่าไร แต่ถ้าหากธุรกิจตั้งใจทำตัวเลข ตกแต่งงบการเงินหรือกำไรเพื่อประหยัดภาษี จนข้อมูลที่นำเสนออยู่นั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง คำถามที่ได้รับก็ไม่ต่างจากบุคคลธรรมดาเช่นเดียวกัน นั่นคือกำไรจริงของธุรกิจมีค่าเท่าไร? และเราประหยัดภาษีได้จริงอย่างที่คิดไหม?

สมมติว่า เรากำลังคิดว่าธุรกิจขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป ของเรานั้น ควรจะเสียภาษีรูปแบบไหนดี ระหว่าง นิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดา โดยมีเงื่อนไขว่า ทั้งสองธุรกิจนี้มีข้อเท็จจริงเหมือนกันทั้งหมด คือ

  • รายได้ได้ทั้งปี คือ 10 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง คือ 8 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามข้อ 1) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีหลักฐานจำนวน 1 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการจำนวน 2 ล้านบาท

ถ้าลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล เปรียบเทียบกัน จะได้ข้อมูลทั้งหมดออกมาดังนี้

จากตารางจะเห็นว่า กรณี บุคคลธรรมดา ถ้าเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% และไม่วางแผนภาษีใดๆเลย จะเสียภาษีทั้งหมด 947,000 บาท ในขณะที่นิติบุคคลจะเสียภาษีจำนวน 805,000 บาท

นี่แหละครับ!! การ์ดกับดักจะเริ่มทำงานตรงนี้ เพราะบางคนจะบอกทันทีว่า อุ้ย แบบนี้เราควรเลือกจดบริษัทดีกว่านะ เพราะว่าเสียภาษีน้อยกว่า คุ้มค่าเหลือเกิน แต่ความเป็นจริงแล้วมันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น ซึ่งมันคือเรื่องของข้อเท็จจริงในการวางแผนจัดการภาษี

อะไรคือสิ่งที่ตารางคำนวณภาษีไม่เคยบอก?

ลองพิจารณาตารางกันอีกที เราจะเห็นว่ามีเขียนบอกไว้แล้วใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1) ค่าลดหย่อน ฝั่งของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ยังไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ซึ่งถ้าประเมินจากกำไรจริง คือ 2 ล้านบาท หากลองแบ่งสัก 1 ล้านมาวางแผนภาษีโดยการใช้สิทธิ์ลดหย่อน ก็จะทำให้ภาษีลดลงเหลือแค่ 647,000 บาท ซึ่งถ้าหากเรามองที่ตัวเลขภาษี คำตอบก็จะเปลี่ยนทันที

2) การตกแต่งข้อมูลงบการเงิน ทีนี้ลองมองโลกในแง่ร้ายกันบ้างว่า ถ้าหากข้อเท็จจริงข้างต้น นิติบุคคลมีการตกแต่งงบการเงินบ้าง หรือทำให้ตัวเลขไม่ตรงตามความเป็นจริง ไปจนถึงการไม่ปรับปรุงกำไรทางภาษีให้ถูกต้อง ตัวเลขที่คำนวณภาษีออกมาได้ย่อมไม่เท่าตามตัวอย่าง และสุดท้ายกลายเป็นว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำไรจริงๆเท่าไร รวมถึงภาษีที่ประหยัดได้จะคุ้มกำไรที่เสียหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ข้อมูลเปรียบเทียบกันไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะโลกแห่งความจริงไม่ได้ง่ายอย่างเหมือนตารางที่เราใช้เป็นตัวอย่าง มันยังมีข้อจำกัดอีกมากมายที่อาจทำให้ข้อมูลที่เราได้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

3) สิทธิประโยชน์ด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง ทางฝั่งนิติบุคคลเองจะมีโอกาสเลือกใช้วิธีการวางแผนและลดหย่อนภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งการจ่ายเงินเดือนของกรรมการเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการลดภาษีลง (แต่อาจจะมีภาระภาษีเพิ่มจากการนำมายื่นรายได้ของกรรมการ) หรือ การใช้แนวทางใช้ค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นที่เห็นชัดกว่าฝั่งของบุคคลธรรมดาที่เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

ดังนั้น จะเห็นว่าในมุมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น  เราอาจจะไม่สามารถนำตัวเลขทั้งหมดมาเปรียบเทียบกันได้เสียด้วยซ้ำ (หากเราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเหมือนตัวอย่าง) หรือแม้แต่เหตุจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษีที่มีส่วนทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนไปเช่นเดียวกันครับ

สำหรับการ์ดกับดักอันแรกนั้น แนวทางที่เราจะแหวกด่านฝ่าไปก็คือ การตัดสินใจว่าจะเลือกแบบไหนยังไงดีนั้น สิ่งที่จำเป็นคือ ข้อมูลและวิธีการคำนวณภาษีที่ถูกต้องก่อน เพื่อให้ข้อมูลสามารถเปรียบเทียบกันได้จริง หลังจากนั้นจึงนำมาใช้คิดเพื่อพิจารณาตัดสินใจอีกหนึ่งครับ

กับดักภาษีตัวที่สอง : เราควรเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล 

คำพูดส่วนใหญ่ที่เราได้ยินกันมาคือ จดบริษัทดีกว่า เพราะว่าบริหารจัดการได้ง่ายกว่า หรือไม่ก็เสียภาษีน้อยกว่า แต่ความเป็นจริงแล้ว การเป็น “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล” เราควรจะรู้ว่า รูปแบบที่เลือกใช้ ส่งผลอะไรกับภาษีบ้าง และเมื่อเราตัดสินใจเลือกรูปแบบไหนแล้ว เรามีหน้าที่อะไรที่ต้องทำบ้าง และจะจัดการมันอย่างไรให้ถูกต้อง

ถ้าเรามองภาพตั้งแต่ การจัดตั้งธุรกิจไปจนถึงสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีทั้งหมดแล้ว เราจะสามารถแยกประเด็นความแตกต่างออกเป็นเป็น 3 ข้อสั้นๆ ดังนี้ครับ

1. จำนวนคนที่แตกต่างกัน จำนวนคนก่อตั้งธุรกิจระหว่างบุคคลธรรมดาจะแตกต่างกับนิติบุคคลตรงที่บุคคลธรรมดาสามารถเริ่มที่ตัวเองก่อน นั่นคือคนเดียวก็ทำได้ ไปจนถึงมีหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมก่อการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคล ในขณะที่นิติบุคคลต้องเริ่มที่ 2 คนขึ้นไปกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และ 3 คนในกรณีที่เริ่มต้นตั้งบริษัท

2. ความสัมพันธ์ด้านภาษี สำหรับภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น จะแตกต่างกันแค่เรื่องของภาษีเงินได้ตามรูปแบบของธุรกิจอย่างที่เคยว่าไป แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กฎหมายไม่ได้สนว่าธุรกิจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สนใจแต่ว่าถ้าทำธุรกิจที่ไม่ยกเว้น VAT แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องจด หรือ ถ้ากฎหมายสั่งให้หักภาษีไว้ก็ต้องหัก ดังนั้นตรงนี้อย่าเข้าใจผิดนะครับผม

ป.ล. สำหรับข้อนี้พูดถึงเฉพาะภาษีในส่วนของสรรพากรหลักๆที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจนะครับ เพราะพรี่หนอมมองว่าครอบคลุมเกือบทั้งหมดแล้ว สำหรับภาษีอื่นๆ อาจจะต้องดูเพิ่มเติมเป็นกรณีไป

3. การจัดทำบัญชีมีเงื่อนไขคนละส่วนกัน ทางฝั่งสรรพากรกำหนดให้คนที่ทำธุรกิจ (เงินได้ประเภทที่ 5-8) ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในกรณีของนิติบุคคลนั้นต้องทำตามพรบ.การบัญชี 2543 อยู่แล้ว

นอกจากความแตกต่างตามที่ว่ามาแล้ว ยังมีเรื่องของหน้าที่ในการยื่นและนำส่งงบการเงินและภาษีบางเรื่องที่เหมือนและแตกต่างกันเช่นเดียวกัน นั่นคือ

1. การนำส่งงบการเงินนั้น เป็นหน้าที่เพิ่มเติมของธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาไม่ต้องทำ

2. หน้าที่การยื่นภาษีรายเดือน หลักๆจะขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี ซึ่งประกอบด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ทีจ่าย ตามหลักเกณฑ์และหลักการที่กฎหมายกำหนด

3. หน้าที่การยื่นภาษีรายปี ต้องยื่นภาษีครึ่งปีและเต็มปีเหมือนกัน โดยบุคคลธรรมดามีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีภายในเดือนกันยายนของทุกปี และยื่นภาษีเต็มปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ในขณะที่นิติบุคคลมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีภายใน 2 เดือนหลังจากวันคร่ึงรอบบัญชี และมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้เต็มปีภายใน 150 วันหลังจากปิดรอบบัญชีนั้น

เช่น รอบบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ต้องยื่นภาษีครึ่งปีภายในสิ้นเดือนสิงหาคม และยื่นภาษีเต็มปีภายใน 30 พฤษภาคมของปีถัดไป (ในกรณีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน)

แต่อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือ คำนวณภาษีได้เท่าไร ให้เอามาหักภาษีครึ่งปี และภาษีที่ถูกหัก ณ ทีจ่ายไว้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นก็ชำระเพิ่มหรือขอคืนตามที่สบายใจ

ส่วนทางด้านของภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนเกิดจากผลต่างระหว่างภาษีขายและภาษีซื้อที่เจ้าของธุรกิจมีหน้าที่นำส่งให้สรรพากร ในขณะที่ภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็อยู่ที่หลักการว่า ถ้ากฎหมายสั่งให้หัก ต้องหักให้เรียบร้อย

ดังนั้นสำหรับกับดักข้อนี้ การตัดสินใจเลือกเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้น มีความสำคัญในแง่ของการบริหารจัดการเป็นหลัก แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาษีอื่นๆนอกจากภาษีเงินได้ที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องใช้ในการตัดสินใจ นั่นคือ ธุรกิจของเรานั้นเหมาะกับรูปแบบไหน และเราเข้าใจหลักการจัดการการเงินและภาษีของธุรกิจในรูปแบบหรือเปล่า เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปครับ

กับดักภาษีตัวที่สาม : ไม่ว่าจะรูปแบบไหน คำถามคือ กำไร จริงป่ะ?

สำหรับกับดักข้อสุดท้ายนี้ เราจะมาว่ากันด้วยกับดักความเข้าใจผิดที่เรียกว่า “กำไร” และหลักการความเข้าใจเพื่อเชื่อมโยงความรู้ภาษีต่อไปครับ โดยขอเริ่มจากสมการแรกก่อน นั่นคือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร/ขาดทุน

โดยสมการนี้ไม่ได้มีไว้ขำๆ แต่มันให้เราตั้งคำถามว่า รายได้ของเรามีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืออะไร เพื่อให้คำตอบต่อไปว่า ธุรกิจของเรานั้นมีกำไรหรือขาดทุน ซึ่งคำว่ากำไรหรือขาดทุนนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า กำไรหรือขาดทุนที่แท้จริงของธุรกิจเราเท่าไร  ตรงนี้พรี่หนอมอยากแนะนำให้คิดให้ชัดเจนก่อนที่จะไปคำนวณภาษี เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต้องรู้เป็นอันดับแรก ถ้าหากคำตอบคือขาดทุน สิ่งที่ต้องทำอาจจะไม่ใช่เรืองภาษีแล้ว แต่กลายเป็นว่าจะแก้ไขหรือเลิกธุรกิจดีไหม?

เมื่อรู้แล้วว่า มีกำไรแน่ เราถึงควรมามองต่อว่าภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราทำอยู่มีอะไรบ้าง แนะนำให้แจกแจงให้ละเอียดจะได้วางแผนภาษีถูกต้อง และตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า เราควรวางแผนประหยัดภาษีไหม มันทำให้กำไรเราลดลงมากเกินไปหรือเปล่า หรือมีต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นที่มีผลกระทบกับกำไรบ้างไหม เพื่อที่จะให้เราได้ กำไรที่สูงสุดจริงๆ ไม่ใช่ การเสียภาษีน้อยลง แต่เสียค่าใช้จ่ายอื่นมากขึ้น

ทีนี้การจะตอบให้แน่ใจว่า ภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับธุรกิจ มันก็อยู่ที่ รายได้ ค่าใช้จ่าย และ กำไรนี่แหละครับผม โดยพรี่หนอมแยกเป้น 3 ประเภทสำคัญ นั่นคือ

1. รายได้ จะเชื่อมโยงไปที่ ภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน โดยเงื่อนไขคือ ต้องจดทะเบียนทันทีเมื่อรายได้ต่อปี >1.8 ล้านบาท ในกรณีที่ธุรกิจเราไม่ได้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังจากนั้นมันจะเชื่อมโยงต่อไปว่า เมื่อจดแล้วต้องออกภาษีขาย และมีรายการภาษีซื้อเวลาซื้อสินค้า เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละเดือนต้องนำส่งสรรพากรเท่าไร และมีรายงานอื่นๆต้องประกอบให้ถูกต้องด้วย

2. อีกฝั่งหนึ่งของรายได้และค่าใช้จ่าย จะเชื่อมโยงไปที่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) พร้อมกับคำถามทีต้องถามให้ดีในแต่ละฝั่ง โดย

  • ถ้าเรามีรายได้ = ใช้สิทธิเครดิตหักยอดภาษี และเก็บเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ครบถ้วน
  • ถ้าเราเป็นคนจ่าย = มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งให้กับกรมสรรพากร พร้อมทำยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้อง

3. สุดท้ายมาจบที่ภาษีเงินได้ ที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ ซึ่งแยกออกเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = วิธีการคำนวณภาษีอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจริง ดังนั้นคำนวณภาษีได้เท่าไร เอาไปหักออกจากกำไรจริงของธุรกิจ
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล = บางทีขาดทุนอยู่ดีๆ ทางภาษีอาจจะกำไรได้จากการปรับปรุงรายการต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่ต้องถามให้ดีคือ เมื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลออกมาแล้ว มันสอดคล้องกับข้อเท็จจริงไหม และมันเหมาะสมใช่หรือเปล่านะ

บทสรุป : กับดักสามข้อที่ว่า มันกำลังบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน

บทความนี้ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อแนะนำมุมมองและกรอบต่างๆในการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ไม่วาจะเลือกรูปแบบไหน นอกจากให้ความเห็นแค่เพียงการประหยัดภาษี ซึ่งอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์กำไรที่แท้จริงของธุรกิจที่ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน

ถ้าหากใครเคยฟังผมบรรยาย ผมมักพูดเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เรามีข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ ไม่ว่าคุณจะทำเรื่องภาษีถูกต้องหรือไม่ คุณต้องมีข้อมูลชุดนี้ ชุดที่คุณมั่นใจว่าถูกต้อง และรู้ข้อมูลกำไรที่แท้จริงของธุรกิจ เพื่อที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ในหลายมุมมอง ทั้งเรื่องการเงิน การบริหาร ไปจนถึงการจัดการภาษี เป็นเพราะตัวผมเองมีความเชื่อว่า

การตัดสินใจจากข้อมูลที่ผิด
ไม่มีทางทำให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างถูกต้องหรอกครับ…

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy