ครบทุกประเด็น! วิธียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับปี 2562
หนึ่งในหน้าที่ของคนไทย คือ การยื่นภาษีเงินได้ แต่สำหรับบุคคลธรรมดาบางคนมีหนี เอ้ย หน้าที่ที่จะต้องยื่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี อีกด้วยครับ ซึ่งปัจจุบันข้อกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไว้ดังนี้ครับ
1. ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือ บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย ได้แก่ คนทั่วไปอย่างเราๆ กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญ และ คณะบุคคล
2. โดยจะต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก (1 มกราคม – 30 มิถุนายน) เกินกว่า 60,000 บาท (กรณีบุคคลธรรมดามีคู่สมรสนั้นจะเป็น 120,000 บาท) ซึ่งรายได้ที่ว่านั้นคือ เงินได้ประเภทที่ 5 ถึง 8 นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้ครับ
- เงินได้ประเภทที่ 5 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
- เงินได้ประเภทที่ 6 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป(แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
- เงินได้ประเภทที่ 7 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
- เงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7
ดังนั้นจากข้อมูลตรงนี้ พรี่หนอมขอสรุปเงื่อนไขในการยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีของบุคคลธรรมดาให้เข้าใจง่ายๆตามนี้ครับ
1. คนส่วนใหญ่ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือ คนที่มีรายได้จากการทำธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะมีรายได้สูงจนเกินกว่า 60,000 บาทต่อปีอยู่แล้วครับ
2. คำว่า เงินได้ประเภทที่ 8 หมายถึงรวมเงินได้อื่นๆ อย่างเช่น การขาย LTF หรือ RMF ไปจนถึงเงินได้จากการรับให้ (ภาษีจากการรับให้) ซึ่งตรงนี้ต้องเอามายื่นภาษีครึ่งปีด้วยครับ
3. คำว่า เกิน 60,000 บาท ให้ดูจากรายได้ประเภทที่ 5 – 8 ตามกฎหมาย ถ้าหากเงินได้ในกลุ่มนี้รวมกันแล้วเกิน 60,000 บาท คนนั้นก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี แต่ถ้าหากมีแล้วไม่เกินก็ไม่ต้องยื่นครับ หรือในกรณีที่มีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น กรณีมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ (มีรายได้ประเภทที่ 1 และ 8) ก็ให้พิจารณาแต่เงินได้ประเภทที่ 8 เท่านั้น #สบายใจได้นะครับ
4. ถ้าหากมีรายได้ถึงเกณฑ์เมื่อไร เรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีครึ่งปี ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีก็ตามครับ
ถ้าไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2562 จะเจออะไรบ้าง?
ทีนี้คำถามที่ตามมาเสมอๆ คือ ถ้าไม่ยื่นจะผิดไหม และถ้าไม่ยื่นจะโดนอะไรบ้าง? หรือที่ผ่านมาไม่เคยยื่นภาษีเลยก็ไม่เห็นมีอะไร ทำไมถึงต้องยื่นภาษีด้วยล่ะ? ผมขอสรุปประเด็นสั้นๆ ตามความเห็นของผมดังนี้ครับ
สิ่งที่โดนแน่ๆ คือ ค่าปรับไม่ยื่นแบบ 2,000 บาท และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จากภาษีทีต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 เป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ดี มีการลดค่าปรับให้ตามนี้ครับ
- กรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการล่าช้า ไม่เกิน 7 วัน เราจะต้องเสียเบี้ยปรับ 100 บาท
- กรณียื่นแบบล่าช้า เกินกว่า 7 วัน เราจะต้องเสียเบี้ยปรับ 200
แต่ประเด็นสำคัญที่อยากจะเตือนในเรื่องของการยื่นภาษีครึ่งปี นั่นคือ คนที่ทำธุรกิจ เช่น ขายของออนไลน์ หรือมีรายได้จากการทำธุรกิจต่างๆ ในปีนี้สิ่งที่คุณอาจต้องเจอ คือ การส่งข้อมูลบัญชีธนาคารให้กับสรรพากร ซึ่งถ้าหากข้อมูลไม่สอดคล้องกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นประเด็นเชื่อมโยงให้ถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นครับ (ตรงนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ)
โดยสรุปก็คือ ถ้าไม่ลำบากอะไร ก็ยื่นๆไปนี่แหละครับ น่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว ทีนี้เรามาพูดคุยกันต่อในกรณีที่เราตัดสินใจจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี นั่นคือ เรื่องของการคำนวณภาษีเงินได้นั่นเองครับ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
มีวิธีคำนวณอย่างไร?
ก่อนที่จะคำนวณภาษีครึ่งปีนั้น ผมอยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่เราได้เสียไว้นั้น สามารถนำไปหักออกจากภาษีสิ้นปีได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2562 นายบักหนอมมีรายได้จากการขายของออนไลน์ เลยตัดสินใจยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้วจำนวน 15,000 บาท พอสิ้นปีนายบักหนอมมาคำนวณภาษีได้จำนวน 28,000 บาท นายบักหนอมก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 13,000 บาทในตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีนั่นเองครับ
แต่ถ้าหากช่วงครึ่งปีหลังรายได้นายบักหนอมไม่ค่อยจะดีคำนวณภาษีออกมาได้แค่ 10,000 บาท นายบักหนอมสามารถขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินตั้งแต่ครึ่งปีจำนวน 5,000 บาทได้เช่นเดียวกันครับ
ทีนี้มาถึงวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีละครับ โดยหลักการคำนวณนั้น จะใช้หลักการเดียวกันกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีไม่มีผิดเพี้ยนเลยครับ โดยแบ่งวิธีการคำนวณออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีเงินได้สุทธิ และ วิธีเงินได้พึงประเมิน (0.5% x รายได้ – ใช้ในกรณีที่มีรายได้รวมถึนเกิน 1 ล้านบาท) และนำมาเปรียบเทียบกันว่าวิธีไหนได้จำนวนภาษีที่มากกว่า ก็ให้เลือกเสียภาษีตามวิธีนั้นครับ
โดยหลักการสำคัญที่พรี่หนอมอยากจะเน้นสำหรับการคำนวณนั้น ผู้เสียภาษีอย่างเราๆต้องรู้เรื่องต่อไปนี้ครับ
1. รายได้ทั้งหมดที่เรามี จะรวบรวมเอามาแยกตามประเภทของเงินได้ครับ โดยเรามีหน้าที่ต้องรู้ว่า รายได้ของเรานั้นคือเงินได้ประเภทไหน หลังจากนั้นเราค่อยนำมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามแต่ละประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ครับ
2. การหักค่าใช้จ่าย อย่างที่บอกไปว่าการคำนวณภาษีนั้นจะเลือกหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไปตามประเภทของเงินได้ครับ แต่สำหรับรายได้ทุกประเภทที่ยื่นภาษีครึ่งปีนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะหักเหมาหรือหักตามจริง (จำเป็นและสมควร) ดังนั้นตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดีครับว่า จะเลือกหักแบบไหนถึงจะคุ้มค่ากว่า โดยถ้าเลือกค่าใช้จ่ายในวิธีไหนในการยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว ให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีนั้นในกรณียื่นภาษีสิ้นปีด้วยครับ #ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีได้ทีหลังนะครับ
3. ค่าลดหย่อน สามารถหักตามที่กฎหมายกำหนดได้ บางตัวที่เป็นค่าลดหย่อนแบบทั้งจำนวน จะหักได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี เช่น ลดหย่อนส่วนตัวเหลือเพียง 3 หมื่นบาท จาก 6 หมื่นบาท แต่สำหรับตัวที่เป็นการยกเว้นจากเงินได้นั้นสามารถลดได้เต็มจำนวนครับ
อย่างที่ทราบกันดีว่า ค่าลดหย่อน คือ ตัวที่นำมาคำนวณเพื่อใช้ในการลดภาษี ตามหลักการคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้สุทธิ แต่จากตารางข้างบนนี้ จะเห็นว่า ค่าลดหย่อนบางตัวจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ ส่วนบางตัวจะดูเป็นเลขแปลกๆ เช่น ประกันชีวิต ลดหย่อนได้ 95,000 บาท แทนที่จะเป็น 100,000 บาท โดยสาเหตุนั้นเนื่องจากประเภทของค่าลดหย่อนในการใช้ลดหย่อนภาษี จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ค่าลดหย่อนจริง ๆ กับ ค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้
ค่าลดหย่อนจริง ๆ คือ ค่าลดหย่อนที่เราสามารถนำมาหักได้ทั้งจำนวนโดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว หรือค่าลดหย่อนคู่สมรส หักได้ 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรหรือบิดามารดาคนละ 30,000 บาท หรือ บุตรคนที่สองหักได้เป็น 60,000 บาท ดังนั้นค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้ เมื่อเอามาใช้คำนวณภาษีครึ่งปี จะลดลงเหลือครึ่งนึงทันที โดยที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรให้ซับซ้อน
ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ค่าลดหย่อนที่ยกเว้นจากเงินได้ คือ ค่าลดหย่อนที่กำหนดให้ยกเว้นเพื่อหักออกจากเงินได้ ตัวอย่างเช่น LTF ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท หรือ RMF ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ฯลฯ ซึ่งค่าลดหย่อนส่วนนี้เราจะเห็นได้ว่า ถ้าเรามีรายได้น้อย เราจะหักได้แค่รายได้ที่เรามีเท่านั้น สำหรับกลุ่มนี้เวลาใช้คำนวณภาษีครึ่งปี ก็จะไม่ต้องหารสองให้สับสน เพราะมันคิดจากรายได้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องไปคิดเยอะ หักได้เต็มๆกันไปเลย
ทีนี้ปัญหาคือ ค่าลดหย่อนบางตัวที่เรารู้จักกัน มันเป็นค่าลดหย่อนที่มีทั้ง 2 ประเภทนี้ปนกันอยู่ เช่น ประกันชีวิต หรือ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งเราจะเข้าใจว่าค่าลดหย่อนของกลุ่มนี้ คือ 100,000 บาท แต่จริงๆ การลดหย่อนของประกันชีวิตหรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืม มันประกอบด้วยสองส่วน นั่นคือ ส่วนที่หักเป็นค่าลดหย่อนได้จริง 10,000 บาท และส่วนที่หักจากเงินได้อีก 90,000 บาทดังนั้นเวลาเอามาคำนวณภาษีครึ่งปี ค่าลดหย่อนกลุ่มนีจะถูกหารครึ่งในส่วนของค่าลดหย่อนจาก 10,000 บาท เหลือเพียง 5,000 บาทเท่านั้น แต่ส่วนที่หักจากเงินได้ยังได้สิทธิ 90,000 บาทเท่าเดิม นั่นเลยเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงเหลือ 95,000 บาทนั่นเองครับ
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างกันบ้าง สำหรับคนที่อยากจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ผมมีตัวอย่างง่ายๆ มาให้คำนวณกันเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นครับ
นายบักหนอม เป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และยังเป็นฟรีแลนซ์รับวาดภาพโดยมีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 200,000 บาท นอกจากนั้นนายบักหนอมยังมีรายได้จากการขายของออนไลน์อีกจำนวน 1,200,000 บาท โดยตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา นายบักหนอมไม่เคยวางแผนลดหย่อนภาษีใดๆเลย
จากตรงนี้เราจะได้ข้อสรุปสั้นๆ ก่อนว่า นายบักหนอมจะยื่นเพียงรายได้จากการขายของออนไลน์เท่านั้น เนื่องจากถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมายที่เข้าเงื่อนไขในการยื่นภาษีครึ่งปี (เงินเดือน = ประเภทที่ 1 ส่วนฟรีแลนซ์ = ประเภทที่ 2)
ทีนี้เรามาตั้งคำถามต่อว่า แล้วนายบักหนอมจะหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไรจากการขายของออนไลน์ ซึ่งจากข้อมูลเพิ่มเติมพบว่านายบักหนอมทำขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป และมีการเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมดจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายของทั้งหมด
จากข้อมูลที่เพิ่มเติมทำให้เรารู้ว่า นายบักหนอมสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ แบบเหมากับแบบจริง ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ดีและประหยัดภาษีที่สุด เราจะลองคำนวณภาษีจากวิธีการหักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 วิธีเลย ซึ่งจะออกมาเป็นดังนี้
โดยจำนวนภาษีที่เปรียบเทียบกันในบรรทัดสุดท้าย จะมาจากวิธีคำนวณตามนี้ครับ
1. วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ จะมาจาก รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน โดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจะเลือกในอัตรา 60% ของรายได้ ส่วนค่าใช้จ่ายจริง คือ 1,000,000 บาท ในส่วนของค่าลดหย่อนจำนวน 30,000 บาท คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวครับ (เนื่องจากไม่มีค่าลดหย่อนอื่น) ซึ่งเงินได้สุทธิ จากทั้งสองวิธีจะได้ออกมาเป็น 450,000 บาทและ 170,000 บาทตามลำดับ ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีออกมาได้จะตัวเลข 22,500 บาท และ 1,000 บาท
2. วิธีคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน จะมาจาก เงินได้ x 0.5% โดยคำนวณออกมาได้ 1,200,000 x 0.5% = 6,000 บาท
3. จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี ในกรณีเลือกค่าใช้จ่ายเหมา จะเสียในจำนวน 22,500 บาท (วิธีแรกคำนวณได้มากกว่า) ส่วนค่าใช้จ่ายจริงจะเสีย 6,000 บาท (วิธีหลังคำนวณได้มากกว่า) ซึ่งจะทำให้ตัวเลขแตกต่างกันอยู่ระดับนึงครับ (หากใครสนใจ อ่านบทความ วิธีหักค่าใชจ่ายจริงเพิ่มเติมได้นะครับ)
ดังนั้นข้อสรุปตรงนี้ คือ ถ้าหากต้องการเสียภาษีน้อยลง (กรณีหักค่าใช้จ่ายเหมา) อาจจะต้องมีการวางแผนภาษีโดยการเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆเข้ามาเพื่อให้คำนวณออกมาแล้วจำนวนเงินภาษีลดลงแทนครับ และที่สำคัญอย่าลืมประเด็นเรืองการเลือกใช้ค่าใช้จ่ายด้วยครับว่าถ้าเราเลือกแบบไหน (เหมา หรือ จริง) เราต้องใช้แบบนั้นไปตลอดครับ
คลิปสอนการคำนวณภาษีเงินได้
และวิธียื่นภาษีครึ่งปีผ่านอินเตอร์เน็ต
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าอาจจะมีหลายคนงง หรือ ไม่เข้าใจ หรือคิดว่ายาวไปไม่อยากอ่าน ผมแนะนำให้ลองดูคลิปสอนคำนวณและวิธีการยื่นภาษีครึ่งปีทั้งหมดด้านล่างนี้เพิ่มเติม น่าจะช่วยให้จัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นครับ โดยทั้งหมดมี 3 คลิป 3 เรื่องสำคัญให้เลือกดูได้เลยครับผม
คลิปแรกเป็นการอธิบายว่า ภาษีครึ่งปี คืออะไร
คำนวณแบบไหน แบบ ภ.ง.ด. 94 คืออะไร ปี 2562 ใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีบ้าง
รวมถึงหลักการคำนวณต่างๆที่ต้องรู้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
คลิปที่สองจะอธิบายขั้นตอนการยื่นภาษีครึ่งปีผ่านอินเตอร์เน็ต
ตั้งแต่กรอกข้อมูลเงินได้ที่ต้องเสียภาษี วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการยื่นรายได้ภาษีครึงปี
ไปจนถึงค่าลดหย่อนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 ครับ
คลิปที่สามเป็นคลิปสอนคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
สำหรับคนที่ขายของออนไลน์แล้วอยากจะยื่นภาษีให้ถูกต้อง
สามารถลองเรียนรู้คำนวณและทำความเข้าใจได้จากคลิปนี้เลยครับ
บทสรุปสุดท้าย
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือ การเตรียมตัวที่ดีครับ ซึ่งการเตรียมตัวที่ว่านี้จะมีประโยชน์ทั้งในแง่ของการยื่นภาษีที่ถูกต้อง (ไม่มีปัญหากับพี่ๆสรรพากร) ไปจนถึงการคำนวณภาษีล่วงหน้า รวมถึงประมาณการรายได้ต่างๆในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ตัวเราสามารถวางแผนภาษีและจัดการการเงินสำหรับปี 2562 ได้ดีขึ้นด้วยเช่นกันครับ ดังนั้นอย่ามองว่าการยื่นภาษีครึ่งปีไม่มีประโยชน์เลยนะครับ
เพราะถ้าเรามองหาประโยชน์จากมันได้ บางทีมันก็คุ้มค่าที่จะลงมือทำนะครับผม