สรุปครบ วิธียื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 2562 เพื่อไม่ให้มีปัญหากับสรรพากร
ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ใครหลายคนต้องวุ่นวายกับเรื่องภาษี โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของนิติบุคคลอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน เพราะมีเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีที่ต้องจัดการนั่นเองครับ (รวมถึงนักบัญชีด้วยนะ อันนี้วุ่นตลอด ฮ่าๆ)
บทความในวันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังเรื่อง วิธียื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 2562 พร้อมกับแนวทางการจัดการไม่ให้มีปัญหาภาษีย้อนหลังกับทางกรมสรรพากรในเรื่องของเงินเพิ่ม โดยทั้งหมดนี้เราสามารถคำนวณได้อย่างถูกต้องด้วยตัวเองครับ
ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า บทความในตอนนี้จะไม่ได้ลงลึกหลักการของกฎหมายแบบวิชาการ แต่จะให้เข้าใจในกรอบของวิธีการคำนวณและหลักการที่ถูกต้องก่อน ดังนั้นอาจจะมีบางประเด็นที่พรี่หนอมตัดทิ้งหรือไม่พูดถึงไปเพื่อให้เข้าใจในแก่นสำคัญได้ง่ายขึ้นครับ
ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ…
ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีคืออะไร
หลักการของภาษีเงินได้ครึ่งปี คือ ภาษีเงินได้ที่คำนวณจากยอดเงินได้ครึ่งปี เพื่อชำระไว้ล่วงหน้า และเรามีสิทธิเอามาหักออกจากภาษีปลายปีที่คำนวณได้ โดยภาษีที่ชำระครึ่งปีมีประโยชน์ตรงที่ช่วยบรรเทาภาระการจ่ายภาษี (ไม่ให้ต้องจ่ายทีละเยอะๆ) กับรัฐเองก็ได้รายได้สม่ำเสมอเข้าคลัง (เพราะเป็นการจ่ายล่วงหน้า) ซึ่งตรงนี้จะใช้หลักการเดียวกันกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายครับ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเราได้จ่ายภาษีครึ่งปีไปแล้ว 50,000 บาท พอสิ้นปีคำนวณภาษีได้ 80,000 บาท ก็จ่ายภาษีเพิ่มแค่ 30,000 บาทเท่านั้น (80,000 – 50,000) และถ้าบริษัทเรามีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้ก็เอามาหักจากยอดภาษีได้อีกเช่นเดียวกันครับ เช่น ถ้าหากบริษัทเรามีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ตลอดทั้งปีจำนวน 20,000 บาท ทัายที่สุดแล้วบริษัทเราก็จะจ่ายภาษีเพิ่มแค่ 10,000 บาทเท่านั้นครับ
ใครมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีบ้าง?
ถ้าพูดแบบภาษากฎหมาย คงต้องบอกว่า คนที่มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก“ฐานกำไรสุทธิ” ที่มีรอบบัญชีครบ 12 เดือน แต่ถ้าให้พูดในสไตล์ TAXBugnoms ก็คงบอกว่า อย่าลืม ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ถ้าหากบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนของเรา เข้าเงื่อนไข 2 ข้อนี้ คือ
- จัดตั้งและจดทะเบียนในประเทศไทย
- ปีนี้มีรอบบัญชีครบ 12 เดือน และยังดำเนินกิจการอยู่
โดยกฎหมายกำหนดให้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีภายใน 2 เดือนหลังจากครบรอบบัญชีครึ่งปีครับ
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บักหนอม มี รอบบัญชีปกติคือวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2562 บริษัท บักหนอม จะต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีภายใน 31 สิงหาคม (ถ้ายื่นผ่านอินเตอร์เน็ต จะได้ระยะเวลาเพิ่มอีก 8 วัน) ด้วยแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51
แต่สำหรับปี 2562 วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ตรงกับวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการพอดี ดังนั้นบริษัท บักหนอม จำกัด จะสามารถยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีได้ถึงวันที่ 2 กันยายน 2562 แทนครับ ส่วนยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตปกติคือ 8 กันยายน 2562 แต่เนื่องจากตรงกับวันอาทิตย์ก็สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 9 กันยายน 2562 นั่นเองครับผม
(ตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด. 51 ปี 2562)
วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี
ด้วยวิธีประมาณการกำไรสุทธิ
โดยปกติแล้ววิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจะมีอยู่ 2 วิธีครับ นั่นคือ วิธีประมาณการกำไรสุทธิ กับ วิธีกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหลักกฎหมายกำหนดให้ธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่บริษัทที่จดทะเบียน (ในตลาด) ธนาคาร หรือหลักทรัพย์ต่างๆ คำนวณจากวิธีที่เรียกว่า ประมาณการกำไรสุทธิ เป็นหลักครับ
วิธีการสั้นๆ คือ คิดออกมาว่าปีนี้น่าจะมีกำไรเท่าไร
แล้วหารสองเป็นกำไรครึ่งปี คูณอัตราภาษี แค่นี้จบเลยจ้า
แต่ประเด็นปัญหาคือ วิธีประมาณการกำไรสุทธินั้น จะมีเรื่องของการประมาณการกำไรขาดเกิน ในกรณีที่พบว่ากำไรที่ประมาณไว้ขาดเกินไปกว่า 25% ของกำไรจริงที่เกิดขึ้นตอนปลายปี จะมีภาระเรื่องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปด้วยครับ
ประทานโทษ…
พรี่หนอมขออนุญาตอธิบายวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีเป็นขั้นตอนดังนี้ครับ
- ประมาณการกำไรทั้งปีให้ได้ก่อน อาจจะใช้วิธีประมาณจากตัวเลขรายได้ และ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก แล้วบวกด้วยประมาณการส่วนที่เหลือในคร่ึงปีหลัง เมือนำรายได้และค่าใช้จ่ายมาลบกันก็จะได้กำไรประมาณการสำหรับปีนั้นๆ
- หักออกด้วย ขาดทุนสุทธิที่มีสิทธิหักตามกฎหมาย หรือ รายได้ที่ยกเว้นภาษี (ถ้ามี)
- หารสอง เพื่อให้รู้ว่า กำไรครึ่งปีเป็นเท่าไร แล้วนำไปคูณอัตราภาษี โดยปกติ คือ 20% แต่ถ้าเป็น SMEs ตามกฎหมาย คือ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทจะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีลงไป
เอาล่ะครับ เรามาลองดูตัวอย่างกันชัดๆตามนี้ครับ
บริษัท บักหนอม จำกัด มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 1 ล้านบาท ประมาณการรายได้ทั้งปีไว้จำนวน 10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายจำนวน 8 ล้านบาท โดยมีขาดทุนทางภาษียกมาจากปีที่แล้วจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณก็จะได้ตามตารางด้านล่างนี้ครับ
เมื่อคำนวณเสร็จแล้ว จะเห็นว่า บริษัท บักหนอม จำกัด เข้าเงื่อนไขของการเป็น SMEs ที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี (ทุนจดทะเบียนที่ชำระไม่เกิน 5 ล้าน และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วจะได้ตามนี้ครับ
สรุปว่า บริษัท บักหนอม จำกัด จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30,000 บาท นั่นเองครับ
ปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี
คือ การประมาณการกำไรขาดเกินกว่า 25% ของกำไรจริง
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีนั้นไม่ใช่เรื่องยากใช่ไหมครับ แต่หนึ่งในปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีที่ชวนให้ปวดหัว นั่นคือ เรื่องการประมาณกำไรไว้น้อยกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า 25% โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้กิจการของเราต้องเสียเงินเพิ่มอีก 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปทันทีครับ
ถ้าย้อนกลับไปดูตัวอย่างที่ยกมา พบว่า บริษัท บักหนอม จำกัด ประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีไว้ 1,000,000 บาท ปรากฎว่าตอนสิ้นปี มีกำไรเกิดขึ้นจริงจำนวน 3,000,000 บาท แบบนี้จะเห็นว่ากำไรที่ประมาณการไว้น้อยกว่ากำไรจริงถึง 2,000,000 บาท หรือคิดเป็น 66.67% ซึ่งมากกว่า 25%
ตรงนี้จะมีผลทำให้บริษัทบักหนอมต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปทันที รวมเป็นเงินทั้งหมด 30,000 บาท ถ้าหากไม่มีเหตุอันสมควรมาชี้แจงกับสรรพากรให้ชัดเจน เพราะดูเหมือนจงใจประมาณการต่ำๆไว้เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีครึ่งปี กฎหมายมาตรา 67 ตรีตามประมวลรัษฎากรเลยเขียนบทลงโทษไว้ซะเลย
หลายคนเลยแย้งขึ้นมาว่า แบบนี้ก็ดูเหมือนว่ามันไม่ยุติธรรมสักเท่าไรนี่นา เพราะบางทีธุรกิจก็ไม่ได้ตั้งใจจริงๆนี่หว่า ไม่ได้อยากจะหลบเลี่ยงภาษีสักหน่อย อย่ามากล่าวหากันได้ปะ!!
เหตุอันสมควร คือ ทางออกของเรื่องนี้
เมื่อเป็นแบบนี้ กรมสรรพากรเลยให้ช่องทางในการพิจารณาผ่อนปรนเรื่องนี้มาเป็นแนวทางในการปฎิบัติหน้าที่ โดยเรียกว่าเหตุอันสมควรไว้ 2 กรณี ตามนี้ครับ
- กรณีที่คำนวณออกมาแล้วพบว่า ภาษีครึ่งปีที่คำนวณได้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ของปีที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ภาษีปี 2561 คำนวณได้ 1,000,000 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 2562 ก็ต้องคำนวณได้ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
- กรณีที่นิติบุคคลได้รับสิทธิลดอัตราภาษีในปีนี้ หากมีการประมาณการกำไรสุทธิของปีนี้ไว้ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิปีที่แล้ว ก็จะถือว่าเป็นเหตุอันสมควรเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กำไรสุทธิจริงในปี 2561 คำนวณได้จำนวน 5,000.000 บาท หากปี 2562 บริษัท บักหนอมได้สิทธิลดอัตราภาษี ก็ต้องประมาณการกำไรในปี 2562 ไว้ไม่น้อย 5,000,000 บาท (แล้วค่อยนำมาคำนวณตามวิธีการประมาณการกำไรสุทธิอีกทีหนึ่งครับ)
สำหรับกรณีนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ป.50/2537 และ ป. 152/2558 นะครับ แต่พรี่หนอมอยากจะแนะนำเพิ่มเติม คือ ลองประมาณการกำไรปีนี้ออกมาก่อน แล้วลองคำนวณภาษีดู ถ้าพบว่าภาษีที่คำนวณได้เกินครึ่งหนึ่งของภาษีสิ้นของปีที่แล้วที่คำนวณได้ แบบนี้ก็สบายใจได้เลยจ้า
เห็นไหมครับว่า จริงๆแล้ว หลักการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ไม่ได้ยากอย่างทีคิดครับ เพียงแต่เราต้องเข้าใจเทคนิคและวิธีการในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีที่ชัดเจนเสียก่อน หลังจากนั้นก็คำนวณตามหลักการที่ถูกต้อง แค่นี้ก็อยู่รอดปลอดภัยไม่เจอพี่สรรพากรแล้วล่ะครับ
ถ้าหากใครยังสงสัยเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีแบบละเอียด ผมมีบทความแนะนำเพิ่มเติมอีกสักบทความหนึ่งครับ กับบทความชื่อว่า คำนวณภาษีครึ่งปีแบบนี้ รับรองไม่มีวันเสียเงินเพิ่มแน่นอน! หรือจะลองดูคลิปวีดีโอที่ผมทำใน Youtube Channel TAXBugnoms ตอนล่าสุดก็ได้ครับผม
คลิปที่ 1 : สรุปวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี สำหรับปี 2562 จากวิธีประมาณการกำไรสุทธิ คำนวณยังไงแบบไหน ติดตามคลิปนี้ได้เลยจ้า
คลิปที่ 2 : พูดคุยเรื่องการประมาณกำไรไว้น้อยกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า 25% โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเมื่อไร มันจะส่งผลให้กิจการของเราต้องเสียเงินเพิ่มอีก 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปทันที
คลิปที่ 3 : วิธียื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยแบบ ภ.ง.ด. 51 มีประเด็นอะไรบ้างต้องรู้ และต้องดูอะไรยังไงเพื่อไม่ให้การคำนวณภาษีเงินไ้ด้ครึ่งปีนั้นผิดพลาด ลองหาคำตอบได้จากคลิปนีเลยครับ
สุดท้ายแล้ว ผมหวังว่าบทความเรื่อง สรุปครบ วิธียื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 2562 เพื่อไม่ให้มีปัญหากับสรรพากร จะช่วยให้ทุกคนสามารถประมาณการเพื่อยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหากับสรรพากรนะครับผม