fbpx

มาวางแผนธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์ ตอนที่ 10 | บทสรุป


ผ่านไปแล้วตั้ง 9 ตอน กับบทความชุด “มาวางแผนธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์” แต่ก็ไม่รู้ว่าเพื่อนๆอ่านแล้วจะถูกใจกันบ้างหรือเปล่ายังไงก็ Comment ให้กำลังใจบ้างนะคร้าบบ :)

ในตอนที่ 10 นี้ ผมเลยถือโอกาสสรุปรายละเอียดในแต่ละตอนออกมา เพื่อให้เพื่อนๆทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เราจะข้ามไปพูดคุยในเรืองของ “บัญชี” ในตอนต่อๆไปกันครับ

.
.
.

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มต้นกันเลยดีกว่าครับ ^^

1. ค้นหาสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ

สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ “ปัจจัยภายใน” ซึ่งก็หมายถึง “ตัวเรา” นั่นเองครับ ก่อนอื่นก็ลองถามตัวเองก่อนครับว่า จริงๆแล้วเราต้องการทำธุรกิจแบบไหน เพื่ออะไร และมีจุดมุ่งหมายของธุรกิจในอนาคตเป็นแบบไหน

อย่างที่ผมเคยพูดไปใน ตอนที่ 1 ของบทความชุดนี้แล้วว่า ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะมีเป้าหมายแบบใดก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีทุกอย่างครบแล้ว แต่ธุรกิจของคุณก็อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ ใช่ไหมล่ะครับ (อันนี้ประสบการณ์ตรงของชีวิตผมเลยนะเนี่ย พูดแล้วเศร้า TwT)

อ้อ!! ลืมบอกไปว่า สำหรับตอนนี้ ผมขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กหน่อย ในตอนแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ อย่าลืมที่จะจัดทำ “แผนธุรกิจ” ของตัวเองด้วยนะครับ จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

แผนธุรกิจ คืออะไร ?

แผนธุรกิจ (Business Plan) คือ แผนการดำเนินงานของธุรกิจที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแผนธุรกิจเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ริเริ่มกิจการ โดยแผนธุรกิจนี้เองเป็นผลสรุปหรือผลรวมแห่งกระบวนการคิดพิจารณา และการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความคิดออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจนั่นเองครับ

2. พิจารณารูปแบบของธุรกิจ

เมื่อได้สิ่งสำคัญลำดับแรกแล้ว สิ่งต่อมาก็คือ “เลือก” รูปแบบของการทำธุรกิจครับ ซึ่งมีทั้งรูปแบบของ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆได้ดังรูปด้านล่างนี้ครับ

โดยรูปแบบของธุรกิจแต่ละประเภทนั้น เราก็สามารถพิจารณาว่าธุรกิจของเราควรจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี เพื่อให้เข้าใจง่ายๆผมเลยสรุปออกมาเปรียบเทียบกันให้ชัดเจนดังรุปด้านล่างนี้ซะเลย :)

ในเรื่องของรูปแบบธุรกิจนั้น ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งเลยนะครับว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีรูปแบบธุรกิจแบบไหนที่ดีที่สุด แต่ให้เลือกพิจารณาแต่ละ “สถานการณ์” ของธุรกิจเป็นหลักแทนครับ

อีกเรื่องที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราต้องรู้ก่อนว่า ธุรกิจในแต่ละรูปแบบจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของเราอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เลือกรูปแบบของธุรกิจได้ตรงตามความที่แท้จริงมากที่สุดนั่นเองครับ

3. ต้นทุนเสียโอกาส

ก่อนที่เราจะฟันธง!! หรือ ConFirm!! ประเภทของธุรกิจนั้น อย่าลืมนึกไว้ก่อนอย่างนึงครับว่า การทำธุรกิจใจรูปแบบของนิติบุคคลจะมีต้นทุนเสียโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรืองของค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี และต้นทุนในการจัดการดูแลที่วุ่นวายกว่าบุคคลธรรมดาเช่นกันครับ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังยืนยังที่จะทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดาอยู่ดีครับ

นิติบุคคล

4. ศึกษาเรื่องภาษีและการวางแผนภาษี

มีใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าอยากจะทำธุรกิจ จงอย่ากลัวที่จะต้องเสียภาษี” (แต่ไม่รู้ว่าคนที่กล่าวคำนี้ จะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่านะฮะ ^^)

โดยภาษีหลักๆ จะมีเรื่องของภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อมที่จะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำธุรกิจของเราครับ โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆดังนี้ครับ

ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้
ภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

ทีนี้ หลังจากที่เราประเมินทั้ง 3 ข้อข้างต้นเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือ วิเคราะห์และวางแผนผลกระทบของภาษีที่มีต่อธุรกิจของคุณ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะเรียกได้ว่าเสียภาษีได้ถูกต้องตามกฎหมาย แถมยังประหยัดภาษี และมีผลกระทบต่อกำไรในกระเป๋าคุณมากที่สุดยังไงล่ะครับ (แหมม.. ใครๆก็อยากจะเสียภาษี แต่คงไม่อยากจะเสียแพง ใช่ไหมละฮะ )

.
.
.

โดยภาษีที่เราต้องพิจารณานั่นผมแนะนำให้เราเลือกโดยการพิจารณาจากภาษีทางตรงเป็นหลักก่อนนะครับ เนื่องจากเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการของเราโดยตรงนั่นเองครับ

.
.
.

และนี่ก็เป็นบทสรุปของการวางแผนธุรกิจส่วนตัวที่ง่ายๆในสไตล์ของ “บล็อกภาษีข้างถนน” ภายใน 4 ขั้นตอนง่ายๆที่ใครๆก็สามารถทำได้ และถ้าอ่านตอนนี้จบลงแล้ว ผมหวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจทุกๆคนนะครับ :)

สำหรับตอนหน้านั้น เราก็จะมาพบกันในบทความชุดใหม่ ภายใต้ชื่อของ “มาทำบัญชีธุรกิจส่วนตัวกันนะเธอว์” ซึ่งเป็นบทความภาคต่อจากบทความชุดนี้ครับ ยังไงก็ฝากคอยติดตามให้กำลังใจกันด้วยนะครับ

สำหรับวันนี้คงต้องลากันไปแค่นี้ ยังไงก็ฝาก Like & Share และติดตามตอนต่อๆไปด้วยนะคร้าบบบบ

:D

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy