ถ้าสรรพากร Digital Transformation สำเร็จขึ้นมา เราจะมีปัญหาอะไรบ้าง?
ช่วง 2-3 วันนี้พรี่หนอมเห็นข่าวแชร์กันรัวๆว่า กรมสรรพากรจะเอาจริงเอาจังกับการเก็บภาษี โดยทางอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ท่าน ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จนมีพาดหัวข่าวออกมามากมาย ตั้งแต่จะเอา AI มาจัดเก็บภาษี หรือ Big DATA มาจัดการคนที่ไม่ยอมเสียภาษีให้ถูกต้อง เรียกว่างานนี้เกิด Digital Transformation กันเลยทีเดียวครับ
ว่าแต่มันจะเป็นไปได้จริงๆไหม หรือมีอะไรที่ผู้เสียภาษีอย่างเราควรจะสนใจบ้าง พรี่หนอมเลยตั้งใจเขียนบทความยาวออกมาเพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ให้ฟังกันครับ โดยนำประเด็น 3 ประเด็นที่สำคัญ อย่าง Digital Transformation ขยายฐานภาษี และ แก้กฎหมาย (เป็นการเร่งด่วน) มาสรุปในมุมมองตัวเองให้ฟังกันครับ
Digital Transformation
ถ้าพูดคำนี้ขึ้นมา ใครๆก็ต้องนึกถึง เรื่องของการใช้เทคโนโลยีในโลกดิจิตอลมาช่วยจัดการด้านการบริหารจัดการภาษี รวมถึงเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆของทางกรมสรรพากร จริงไหมครับ? แต่จริงๆแล้ว ผมมองว่าประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้นั้นมันอยู่ตรงการใช้ ข้อมูลของผู้เสียภาษีที่มีอยู่ในโลกออนไลน์มาวิเคราะห์ ทั้งในแง่ของการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ รวมถึงวิธีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆต่างหากว่าจะดำเนินการแบบไหนยังไงให้สามารถรวบรวมได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสมที่สุดครับ
และประเด็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ สิ่งที่น่าสนใจนั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง “ระบบ” การจัดการอย่างเดียวครับ แต่ต้องดูถึงการ “เชื่อมโยงของข้อมูลของคนที่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ละคน” ไปจนถึงการขจัดปัญหาจากการใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ซึ่งข้อดีที่เห็นแน่ๆ หากสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตนี้สำเร็จแล้วล่ะก็ เราจะลดปัญหาและมุมมองในการทำงานรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ร่วมกับการใช้ฐานข้อมูลต่างๆจะช่วยให้ตามหาคนที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ง่ายขึ้นครับ
อ๊ะๆ ไม่แน่นะครับว่า ต่อไปเราอาจจะมีสัญลักษณ์จ่ายภาษีถูกต้องหรือเครื่องหมาย Verified การจ่ายภาษีของตัวเองในโลกออนไลน์ก็เป็นได้ครับ (แหม่… คิดไปไกลเหลือเกิน)
สำหรับเรื่องนี้ สิ่งที่เราต้องระวังคือ ตัวเราเองนี่แหละครับ ถ้าเราเป็นคนเสียภาษีไม่ถูกต้อง การทิ้งร่องรอยต่างๆในอินเตอร์เน็ต (Digital Footprint) อาจจะส่งผลมาถึงการจ่ายภาษีเพิ่มของเราได้แน่นอนครับ ลองคิดดูสิครับว่า ทั้งข้อมูลทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ข้อมูลที่ทางสรรพากรได้รับจากธนาคาร หอการค้าไทย ที่จะมายำใหญ่ใส่สารพัด แล้วใช้ AI มาเป็นตัวช่วยจับประกอบกันและเชื่อมโยงจนถึงเรานั้น มันจะสนุกสนานขนาดไหน?
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ พรี่หนอมนึกถึงระบบ RBA ที่ใช้ในการตรวจสอบผู้เสียภาษี ที่ทางกรมสรรพากรได้แถลงนโยบายออกมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ พร้อมหรือยัง? กับแนวทางตรวจสอบล่าสุดของสรรพากรในยุค 4.0) และคิดว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเกี่ยวข้องกันในอนาคตกับระบบการชำระเงินอย่าง National E-Payment ที่จะนำระบบภาษีอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ อย่าง E-TAX invoice E-Receipt หรือ E-Witholding TAX มาใช้ประกอบกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ E-Payment การตรวจสอบของสรรพากร และความพร้อมในการเสียภาษีในยุค 4.0) ซึ่งถ้ารวมกัน 3 ระบบที่ว่านี้จริงๆ รับรองว่าได้เห็นอะไรดีๆเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอีกเยอะเลยล่ะครับ
สำหรับเรื่องแรกนี้ สิ่งที่เราต้องระวังจริงๆ คือ วิธีการหลบเลี่ยงภาษีที่เราชอบทำกัน หรือเคยแนะนำต่อๆกันมา มันอาจจะไม่ใช่แนวทางที่สามารถทำได้อีกต่อไป ซึ่งทางกรมสรรพากรมองเรื่องนี้ไว้ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ครับ
สำหรับการจัดการ Digital Transformation พรี่หนอมมองว่าเรามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ การปรับตัวเตรียมเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง หรือ บ่นไปเรื่อยๆ แล้วรอให้ระบบมาจัดการเรา ซึ่งคงไม่ต้องเดานะครับว่า เราควรจะเลือกทางไหน?
ขยายฐานภาษี
เรื่องของการจัดเก็บภาษีนั้น ท่านอธิบดีกรมสรรพากรมองในมุมของการเก็บภาษีคนที่ไม่ได้เสียอย่างถูกต้อง หรือมีช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เช่น การเก็บภาษีธุรกิจ e-Commerce ภาษีออนไลน์ต่างๆทั้งผู้ประกอบการต่างประเทศที่มาทำงานในไทย ไปจนถึงชาวต่างชาติทีมีรายได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมของการเสียภาษีให้เท่าเทียมกันและขยายฐานภาษีให้ทั่วถึงทุกคนในประเทศไทยนี้ครับ
จากแหล่งข่าวที่อ้างอิงด้านล่างบอกไว้ว่า … จำนวนผู้เสียภาษียื่นแบบเสียภาษีมีเพียงแค่ 10 ล้านคนเศษ และใน 10 ล้านคนเศษนี้ มีผู้ที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากรเพียงแค่ 4 ล้านคนเศษจากประชากรประเทศนี้ที่มีมากกว่า 65 ล้านคน ประกอบกับข้อมูลในบทความ รู้ก่อนใคร! นโยบายบริหารการจัดเก็บภาษีกรมสรรพากรปี 2561 ที่บอกว่าในปัจจุบันนี้ มีธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน) ประมาณ 600,000 ราย บุคคลธรรมดาประมาณ 2,000,000 ราย แต่กรมสรรพากรมีเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบนิติบุคคลเพียง 3,900 คน ส่วนฝั่งบุคคลธรรมดานั้นมีเพียงแค่ 1,900 คน เท่านั้น
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าทางกรมสรรพากรเองก็มองว่าจำนวนผู้เสียภาษีนั้นมีจำนวนน้อย เสียภาษีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ร่วมกับจำนวนเจ้าหน้าที่ยังไม่มีจำนวนเพียงพอที่จะตรวจสอบได้อย่างครบถ้วน จึงเป็นที่มาของนโยบายบัญชีชุดเดียวเพื่อกระตุ้นความถูกต้องนี้ ร่วมกับการจัดการสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลมากขึ้นเพื่อมาช่วยเหลือให้เกิดความถูกต้องมากยิ่งขึ้นครับ
ถ้าใครติดตามบทความผมในเพจ TAXBugnoms มาสักระยะ ผมเชื่อว่าจะเห็นภาพคล้ายๆกันกับผมว่า จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นกำลังประกอบรูปร่างออกมาเรื่อยๆ และเมื่อแนวทางที่ 2 นี้มีความชัดเจนแล้ว การใช้เครื่องมือและการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่ 1 ก็จะยิ่งทำงานได้สะดวกขึ้นครับ ดังนั้นกลุ่มผู้ที่กฎหมายบอกว่ายังไม่ต้องเสีย หรือ อยากเสียภาษีนะแต่ไม่รู้จะเสียยังไง แนวทางในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้่นอย่างแน่นอนครับ
แก้กฎหมาย
สำหรับเรื่องสุดท้ายนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำการแก้ไขกฎหมาย อย่างเรื่องของการ ขยายอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ให้เป็น 7% ต่อไป และจัดการกฎหมายเรื่อง E-Business ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่อง VAT นี่เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจว่าอัตราดังกล่าวต้องมีการปรับขยายไปทุกๆปี ตามหลักการของกฎหมาย และมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวจึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนี้ครับ
กับอีกเรื่องคือภาษี E-Business ที่จะเก็บภาษีจาก Facebook และ Google หรือที่เคยออกร่างมาแล้วเจอประชาพิจารณ์ให้ความคิดเห็นกลับไปทบทวนให้ ซึ่งงานนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ้่ต้องมาแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นธรรมมากที่สุดครับ
สรุป นโยบายทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการเชื่อมโยงระบบทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากงานนี้สำเร็จแล้วล่ะก็ถือว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบภาษีบ้านเราเลยล่ะครับ
สุดท้ายนี้พรี่หนอมได้แต่หวังว่า Digital Transformation จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ควบคู่ไปกับสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เสียภาษีที่เป็นผู้รับบริการ เพื่อให้คนที่ตั้งใจจะเสียภาษีให้ถูกต้องนั้นทำธุรกิจและจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นตามที่มันควรจะเป็นนะครับผม
อ้างอิง :
คนไทยสะดุ้งเฮือก!! สรรพากรใช้”เอไอ”ไล่เก็บภาษี
รีดภาษี2ล้านล้าน สรรพากรตั้งเป้าใช้เอไอเพิ่มประสิทธิภาพ
สรรพากรผนึกสมาคมแบงก์ ต่อท่อ “เช็ก” รายได้ผู้เสียภาษี