fbpx

โค้งสุดท้าย เอายังไงดี? ลงทะเบียนบัญชีเดียวดีไหม?

โพสต์เมื่อ: 25 มิ.ย. 2019

ป้ายกำกับ: , , ,


พรี่หนอม เอาไงดี ลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวดีไหม? แล้วถ้าเคยลงไปแล้วตอนปี 2559 แบบนี้ต้องลงอีกรอบหรือเปล่า? นี่คือประโยคคำถามยาวเหยียดที่เข้ามาในช่วงสุดท้ายที่ใครๆต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไงดี กับ พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากรและความรับผิดทางอาญาที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 ทีผ่านมา

ก่อนที่จะตอบคำถาม ผมอยากจะย้ำเรื่องสำคัญก่อนครับ เริ่มจากประเด็นแรก กฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิยกเว้นเฉพาะเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเท่านั้น ถ้าใครลงทะเบียนไปแล้วยังต้องจ่ายภาษีเหมือนเดิม และมีหน้าที่ต้องทำเพิ่มเติมอย่างการยื่น E-Filing ต่อไปอีก 1 ปี

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ กฎหมายตัวใหม่นี้ไม่เกี่ยวกับตัวเก่าที่เคยออกมาในปี 2559 ถ้าใครอยากจะใช้สิทธิยกเว้นตามกฎหมายใหม่ก็ต้องลงทะเบียนใหม่และชำระภาษีให้ถูกต้องต่อไปครับ

แนะนำให้อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ กลับมาอีกครั้งกับมาตรการบัญชีชุดเดียว จ่ายแค่ภาษีไม่มี เบียปรับ-เงินเพิ่ม

แนวทางการตัดสินใจในการลงทะเบียนบัญชีชุดเดียว
ควรตัดสินใจอย่างไรดีเพื่อให้ธุรกิจเราได้ผลประโยชน์สูงสุด

เอาล่ะครับ ทีนี้มาตอบคำถามกันบ้าง โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องมองนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญด้วยกัน นั่นคือ เรามีสิทธิลงทะเบียนตาม พรบ.ชุดนี้ไหม เพราะเราต้องเป็น “นิติบุคคล” หรือบริษัทและห้างหุ้นส่วนขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีเงื่อนไขตามนี้ครับ

1. ต้องมีรายได้จากรอบบัญชี 12 เดือนล่าสุด (วันสุดท้ายของรอบบัญชีทีสิ้นสุดก่อน 30 กันยายน 2561) ไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยนิติบุคคลดังกล่าวต้องยื่นภาษีเงินได้สำหรับรอบบัญชีล่าสุดไว้เรียบร้อยแล้ว

2. ต้องไม่โดนกรมสรรพากรร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน (หรือพูดง่ายๆว่าฟ้องร้อง) ว่าเป็นผู้ออกหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ เราต้องรู้ด้วยว่า เรามีประเด็นความผิดด้านภาษีที่อยากแก้ไขไหม หรืออย่างน้อยธุรกิจเรามีประเด็นความผิดที่เสี่ยงถูกสรรพากรตรวจสอบใน 10 หัวข้อต่อไปนี้หรือเปล่า?

  1. ใช้เงินสดเป็นหลัก กิจการที่ใช้แต่เงินสด โดยไม่มีการใช้บัญชีธนาคารเลย ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงมาก รวมถึงการพยายามหลบเลี่ยงต่างๆผ่านการใช้เงินสดด้วย เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่กรมสรรพากรให้ความสนใจในตอนนี้ครับ
  2. สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขาดหรือสินค้าเกินจากรายงานสินค้าวัตถุดิบก็ตาม ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าตัวสินค้าคงเหลือที่ไม่มีจริง ไม่มีการตรวจนับ พิสูจน์ไม่ได้ หรือการสร้างตัวเลขขึ้นมา ซึ่งสรรพากรจะมองได้ว่าธุรกิจแสดงรายได้ไว้ว่าไม่ถูกต้อง
  3. ไม่มีทรัพย์สินในการประกอบกิจการหรือมีทรัพย์สินมากผิดปกติ กลุ่มนี้มีอยู่ 2 ประเภท ไม่มีทรัพย์สินเพื่อหลบเลี่ยงการมีรายได้ ก็พยายามดึงทรัพย์สินเข้ามาแบบสุดทางแต่ไม่สร้างรายได้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงแรมที่มีทรัพย์สินมากมาย ค่าน้ำ ค่าไฟเพียบ แต่รายได้น้อยนิดกระจ้อยร่อย แบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่าขัดกับความเป็นจริงได้เหมือนกันครับ
  4. เงินกู้ยืมจากกรรมการมากไป (หนี้สิน) ยกตัวอย่างเช่น บริษัทกู้เงินจากกรรมการเป็นจำนวนมากโดยที่กรรมการไม่เคยรู้ตัวมาก่อน และไม่สามารถชี้แจงเส้นทางการเงินได้ว่ามาจากไหนอย่างไร รวมถึงไม่มีหลักฐานการกู้ยืม ถือเป็นเรื่องผิดปกติที่ถือว่าเป็นประเด็นความเสี่ยง หรือบางกิจการมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยไม่มีการคืนเงินกู้นั้นๆ แบบนี้ก็ถือว่าผิดปกติเช่นกัน
  5. ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน บางครั้งเกิดขาดทุนสะสมจนเกินทุน เหมือนคนเล่นไพ่ที่ไม่มีเงินอยู่หน้าตัก ประเด็นนี้จะเป็นคำถามต่อว่าธุรกิจอยู่ได้ไง ยิ่งถ้าเห็นว่ามีเงินให้กรรมการกู้ยืมอยู่ (ลูกหนี้) ข้อมูลตรงนี้จะขัดแย้งกันอย่างผิดปกติ และส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของกิจการในมุมมองของกรมสรรพากร
  6. บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง จงใจหลบรายได้เพื่อหลบเลี่ยงให้เสียภาษีน้อยๆ เจ้าของธุรกิจสามารถลองตั้งคำถามตัวเองดูว่า ทุกวันนี้เราออกใบกำกับภาษีครบทุกใบที่มีการขายหรือเปล่า ถ้าไม่ก็แปลว่าเราบันทึกรายได้ไว้ไม่ถูกต้อง
  7. บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน รายได้อื่นๆนอกเหนือจากการขายได้บันทึกไว้หรือเปล่า เช่น ประโยชน์ที่ได้รับจากการส่งเสริมการขาย ส่วนนี้ต้องถือเป็นรายได้ของบริษัทให้ครบถ้วนด้วย ซึ่งการไม่บันทึกบัญชีตรงนี้ก็เป็นประเด็นเสี่ยงเช่นเดียวกัน
  8. ค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง ถ้ารายได้ลดลง โดยปกติธุรกิจควรจะลดค่าใช้จ่ายตาม แต่มันกลับด้านโดยการที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แบบนี้ก็ถือว่าผิดปกติและมีประเด็นที่ควรจะพิจารณาต่อไป
  9. ค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ กรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลส่วนนี้เปรียบเทียบจากข้อมูลในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงพัฒนาการของข้อมูลที่ผ่านมาจากวิธีการ Data Analytic ตรวจสอบของทางกรมสรรพากรซึ่งแบบนี้ข้อมูลจะบอกทุกอย่างว่ามันผิดปกติหรือไม่ อย่างไรบ้าง?
  10. สร้างค่าใช้จ่ายเท็จ สร้างค่าใช้จ่ายปลอมๆขึ้นมาโดยที่ไม่มีการจ่ายจริง เช่น ค่าแรงต่างๆ แม้ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก็ตาม แต่สรรพากรอาจจะไม่ให้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ เพราะว่ามันต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นค่าใช้จ่ายจริงเสียก่อน ถีงจะยอมให้เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้

 

 

ดังนั้นถ้าหากพิจารณาแล้วว่า ธุรกิจของเรานั้นติดเกณฑ์ความเสี่ยงเหล่านี้ หรือมีประเด็นความผิดด้านภาษีอื่นๆที่เรามองว่าควรจะแก้ไข การลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราควรจะตัดสินใจนำมาพิจารณาครับ เพราะมันเป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ง่ายและตรงจุดที่สุดในเวลานี้

เมื่อตัดสินใจว่าจะลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวแล้ว
เราควรจะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

ถ้าหากเราตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว พรี่หนอมมองว่าสิ่งทีต้องเตรียมพร้อมนั้นมีอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ ครับ ได้แก่

1. เงินสดที่เตรียมไว้จ่ายชำระภาษี (ถ้ามีการชำระ) อันดับแรก ต้องมีเงินจ่ายค่าภาษีก่อนครับ (แฮร่) เพราะว่าการลงทะเบียนบัญชีเดียวนี้ ถ้าหากพบว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมแล้วล่ะก็ ต้องจ่ายครบทั้งจำนวน โดยไม่สามารถที่จะผ่อนชำระภาษีได้ และต้องจ่ายทั้งหมดให้เรียบร้อยภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นี้

2. เตรียมยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่แก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงเตรียมยื่นแก้ไขงบการเงินด้วย (ถ้ามี) ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาดูว่าการปรับปรุงแก้ไขประเด็นข้อผิดพลาดนั้น มีผลกระทบต่อการยื่นภาษีและงบการเงินในมุมไหนบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องที่สุดครับ

3. เตรียมตัวยื่นแบบผ่านระบบ E-Filing ทุกประเภทภาษีหลังจากนี้อีก 1 ปี นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ตรงนี้ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยยื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ตครับ แต่สำหรับคนที่เคยยื่นแล้วก็น่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรครับ

ตัวอย่างการปรับปรุงสุดคลาสสิก
เจ้าหนี้กรรมการที่ไม่มีจริง แก้ไขยังไงดี
?

เพื่อให้เข้าใจชัดเจน ขออนุญาตยกตัวอย่างการปรับปรุงให้เห็นภาพสักตัวอย่างละกันนะครับ สมมติว่า เราพบว่างบการเงินของเรานั้นมีรายการเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการสูงไว้เกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นไปตามประเด็นที่กรมสรรพากรมองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม คือ

1. เจ้าหนี้กรรมการของเรามีตัวตนจริงไหม? คิดดอกเบี้ยหรือไม่?
2. ถ้าคำตอบข้อ 1 คือไม่ใช่รายการจริง รายการนี้เกิดขึ้นจากอะไร? และต้องแก้ไขในรอบบัญชีไหน?

สมมติว่า เราหาคำตอบได้ว่า เจ้าหนี้กรรมการนั้นมีการยกหนี้ให้ในปีปัจจุบันจริงๆ ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงรายการต่อไปนี้ นั่นคือ กลับรายการเจ้าหนี้ออกแล้วบันทึกกลับเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องต่อไป

(ตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากทางสภาวิชาชีพบัญชี)

จะเห็นว่าประเด็นสำคัญที่จะทำให้เราตอบคำถามการปรับปรุงพวกนี้ได้นั้น มันคือ เรามองเห็นหรือไม่ว่า รายการที่ปรากฎในงบการเงินที่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงของสรรพากร จริงๆแล้วมันเป็นรายการอะไร? ถ้าหากตอบคำถามเหล่านี้ได้ การปรับปรุงก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ

คำถามสุดท้าย.. ไม่ลงทะเบียนจะถูกตรวจสอบไหม
ลงทะเบียนจะไม่ถูกตรวจสอบหรือเปล่า
?

มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าประเด็นสำคัญสุดท้ายที่หลายคนตั้งคำถามก็คือ ถ้าไม่ลงทะเบียนจะถูกตรวจสอบภาษีไหม หรือว่าลงทะเบียนแล้วจะไม่ถูกตรวจสอบภาษีใช่หรือเปล่า และเราจะมั่นใจกับเรื่องนี้ได้อย่างไรว่าถ้าทำถูกต้องจะไม่ถูกตรวจสอบ คำถามนี้ผมขออนุญาตตอบจากข้อมูลที่ทราบมาละกันครับ…

เนื่องจากตอนนี้กรมสรรพากรมีนโยบายแบ่งผู้ประกอบการเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งมีผลกระทบต่างกันอยู่ 2 แบบ นั่นคือ กลุ่มที่ลงทะเบียนและมีการแก้ไข (กลุ่มที่ 1-3) จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงน้อยกว่า กลุ่มที่ลงทะเบียนแล้วไม่ได้ยื่นแก้ไข หรือไม่ได้ลงทะเบียนตาม พรบ. ชุดนี้ ที่จะเป็นกลุ่มที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสถูกตรวจสอบ

อย่าลืมนะครับว่า สิ่งทีสำคัญที่สุดคือ ที่ผ่านมาเราทำถูกต้องหรือเปล่า? เพราะถ้าหากเราทำถูกต้องอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องยื่นปรับปรุงแก้ไข (เพราะไม่มีอะไรให้ยื่น) แม้ว่ากรมสรรพากรจะมองว่าธุรกิจเราอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยง เราก็ยังมั่นใจได้ว่า เมื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบตามแนวทางความเสี่ยง 10 ข้อที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญแล้ว มันก็ยังไม่มีผลกระทบต่อเราอยู่ดี เพราะสุดท้ายแล้วมันก็หลุดรอดไปจากการทำถูกต้อง หรือเอาจริงๆ ถ้าเกิดโดนตรวจสอบขึ้นมา ด้วยเอกสารและหลักฐานที่เรามี มันก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า สรรพากรจะไม่สามารถเอาผิดอะไรเราได้อยู่ดีครับ

แต่ถ้าเรายื่นแก้ไขปรับปรุง แม้ว่าเราจะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
แต่ถ้าเรายังติดเกณฑ์ที่ว่าอยู่ นั่นก็แปลว่าเรายังมีโอกาสถูกตรวจสอบเช่นกัน

อย่าลืมนะครับว่า กรมสรรพากรไม่ได้มีเครื่องมือเพียงเท่านี้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ แต่ยังมีเครื่องมืออีกมากที่จะนำมาใช้ตรวจสอบต่อ ดังนั้นในความเห็นของผมแล้วกลุ่มที่ทำไม่ถูกต้องและไม่ลงทะเบียนแก้ไขต่างหากครับ ที่เป็นกลุ่มที่น่ากลัวและมีโอกาสถูกตรวจสอบมากที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าเจ้าของธุรกิจและนักบัญชีทุกคนต้องมองประเด็นสำคัญพวกนี้ของธุรกิจให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ เพราะว่าถ้าธุรกิจเราทำไม่ถูกต้องในวันนี้

ต่อให้ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มไหน เสี่ยงน้อยเท่าไร?
เราก็มีโอกาสถูกตรวจสอบอยู่ดีนั่นแหละครับ

error: เว็บไซต์ป้องกันการ copy